รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน
กลยุทธ์การลงทุน
Vaccine มาน้อย SET Index อาจปรับเยอะ
Top Pick เลือก BDMS, MCS และ SAPPE
ความเห็นของ IMF เรื่องแนวนโยบายการเงินของ Fed ที่จะลดระดับการผ่อนคลาย รวมถึงเงินบาทที่อ่อนค่า น่าจะทำให้ Fund Flow จากต่างชาติอาจอาจไหลออก ส่วนในประเทศเรื่องหลักอยู่ที่ Vaccine หลักอย่าง AstraZeneca ที่จะเข้ามา 50- 60% ของแผนเดิม (ก.ค.-พ.ย. 10 ล้านโดส/เดือน) ส่วน Vaccine ทางเลือกอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเข้ามาหลัง ต.ค.2564 ภาวะดังกล่าวเชื่อว่าจะส่งผลทำให้แผนการฉีด Vaccine และนำไปสู่การเปิดประเทศต้องล่าช้าออกไป โดยอาจจะเห็นการฉีด Vaccine เกิน 50% ในเดือน พ.ย. และหากให้ถึง 70% อาจต้องยืดเวลาไปถึงต้นปี 2565 เท่ากับว่าเป็นการเปิด Downsideให้กับประมาณการ GDP Growth และกำไรบริษัทจดทะเบียน
คาด SET Index มีโอกาสปรับลงต่อ พอร์ตจำลองให้Cut Loss หุ้น BJC แล้วนำเงิน 5% ซื้อ SAPPE ที่เหลือสำรองถือเป็นเงินสด หรือ กองทุน Money Market เพิ่มเป็น 25% หุ้น Top Pick เลือก BDMS, MCS และ SAPPE
ตัวเลขแรงงานสหรัฐ เดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น และ IMF ล่าสุด ตอกย้ำว่า Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยในปี 2022 เร็วกว่าที่ Fed คาดจะเกิดปี 2023
ความคาดหวังธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวยังมีต่อเนื่องเรื่อยๆ เนื่องจากความแข็งแกร่งของปัจจัยพื้นฐานของสหรัฐ: เริ่มจากการฉีดวัคซีนในสหรัฐเดินหน้าต่อเนื่อง ล่าสุด 55% ประชากร และพิจารณาดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐต่างๆยังแข็งแกร่ง ทั้ง PMI ที่ยืนเหนือ 50 จุด, ตลาดแรงงานแข็งแกร่ง วันศุกร์ที่ผ่านมายอดการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm payrolls) เดือน มิ.ย. 2564 เพิ่มขึ้น 8.5 แสนราย มากกว่าตลาดคาด 7 แสนราย ส่วนอัตราการว่างงาน ในเดือนเดียวกัน เพิ่มอยู่ที่ 5.9% จากเดือนก่อนที่ 5.8% แต่ถือว่ายังแข็งแกร่งมากเพราะลงมาจากจุด Peak
ในปี 2563 อยู่ที่ 14.8%
อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นตลาดหุ้นโลก ASPS คาดจะผันผวน จากประเด็น Fed จะเริ่มปรับดอกเบี้ยเร็วขึ้นกว่าเดิม? หรือ จะเริ่มลดระดับการเข้าซื้อพันธบัตร (QE Tapering) เมื่อใด?
▪ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย: ล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงความเห็นผ่านการรายงานของ Bloomberg เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ก.ค. 2564 ว่า Fed อาจจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 0-0.25% ภายในปลายปี 2565 (เร็วกว่าที่ Fed คาดใน Dotplot ที่ประเมินจะขึ้นในปี 2566)
▪ การลดระดับการเข้าซื้อพันธบัตร (QE Tapering) : IMF คาด Fed จะเริ่มในช่วง 1H65 ใกล้เคียงกับผลสำรวจของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ของ CNBC ถือว่าสอดคล้องกับ ASPS ที่นำเสนอแนวคิด ในบทวิเคราะห์ Invest+ ของเดือน ก.ค. 2564 คาด อิงจากรูปแบบ (Pattern) การส่งสัญญาณ QE Tapering ในรอบก่อน (ปี 2556-2558) พบว่า นับตั้งแต่ Fed เริ่มส่งสัญญาณ QE Tapering ครั้งแรก จนถึงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะใช้ระยะเวลาประมาณ 20 เดือน และถ้ากำหนดให้ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจริงในช่วงปลายปี 2566 (ตามที่ส่งสัญญาณ) เมื่อนำมาคำนวณย้อนกลับ พบว่า Fed ควรจะส่งสัญญาณ QE Tapering ในรอบนี้ประมาณช่วงเดือน ก.ค.–ส.ค. 2564
โดยรวมดังที่ ASPS นำเสนอใน Market talk เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว เชื่อว่าประเด็น Fed ส่งสัญญาณปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินตึงตัว จะสร้างความผันผวนต่อตลาดหุ้นโลกและหุ้นไทยตลอดช่วง 3Q64 และแนวโน้มเงินบาทยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่าบริเวน 32 บาท ดีต่อหุ้นส่งออก แต่อีกฝั่งนึงเป็นปัจจัยกดดันชะลอ Flow ไหลเข้า และคาดหวังเพียงเม็ดเงินในประเทศ เป็นปัจจัยหนุน SET Index เป็นหลัก
หากวัคซีนล่าช้า จะเปิด Downside เศรษฐกิจเพิ่ม
นอกเหนือไปจากการระบาดของ COVID-19 ที่สร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทย ASPS เริ่มเล็งเห็นว่าอีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถเป็นได้ทั้งแรงหนุน หรือแรงกดดันเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยคือ ความคืบหน้าการฉีดวัคซีน เนื่องจากพิจารณาการฉีดวัคซีนยังค่อนข้างล่าช้า โดยข้อมูลล่าสุดระบุว่าไทยมีจำนวนผู้ฉีดวัคซีนรายใหม่ 9.86 หมื่นราย/วัน (โดสแรก 8.1 หมื่น และ 1.76 หมื่นราย) ยิ่งไปกว่านั้น เริ่มมีกระแสความกังวลว่าวัคซีนอาจส่งมอบได้ไม่ตามเป้า โดยในเดือน กค. – ก.ย. 2564 อาจส่งมอบได้เพียง 5-6 ล้านโดส ซึ่งต่ำกว่าแผนที่กำหนดไว้เดือนละ 10 ล้านโดส
ความเสี่ยงการส่งมอบวัคซีนล่าช้าข้างต้น ASPS คาดจะส่งผลให้การฉีดวัคซีนล่าช้าตาม ซึ่งจะส่งผลให้ระยะเวลาที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้รับวัคซีนล่าช้าออกไปอีก ASPS จึงทำการวิเคราะห์โดยสมมุติให้ไทยฉีดวัคซีนได้วันละ 2 แสนโดสทุกวัน (หรือ 6 ล้านโดส/เดือน และทุกโดสฉีดให้เฉพาะผู้รับวัคซีนรายใหม่เพียงอย่างเดียว จะพบว่าประชากรราว 50% จะได้รับวัคซีนในประมาณช่วงกลางเดือน พ.ย. 2564, 70% ในช่วงปลายเดือน ม.ค. 2565 และ 100% ในช่วงต้น พ.ค. 2565(ดังตาราง)ซึ่งช้ากว่าที่ ASPS เคยประเมินไว้ก่อนหน้า (ดูเพิ่มในบทวิเคราะห์ฉบับวันที่ 9 มิ.ย. 2564) ว่า 50% ของประชากรจะได้วัคซีนช่วงต้น ก.ย. 2564) 70% จะได้รับวัคซีนราวกลาง ต.ค. 2564 เพราะตอนนี้กำหนดสมมุติฐานให้ฉีดวันละ 3.5 แสนโดส/วัน
การที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีความเสี่ยงได้รับวัคซีนล่าช้า จะส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีโอกาสฟื้นตัวล่าช้าตาม ซึ่งจะเป็นการเปิด Downside GDP ต่อประมาณการ GDP ที่ปัจจุบัน Consensus คาดในช่วง 1.3-2.3% ได้
สอดคล้องกับมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เคยประเมินว่าการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า จะเปิด Downside ของ GDP ได้อีก โดยจาก 3% (ประมาณเดิมเมื่อเดือน มี.ค. 2564 ของ ธปท.) อาจจะเหลือราว 1%
ดอกเบี้ย โควิด บาทอ่อน 3 เป็นสิ่งที่กดดันหุ้นไทย แนะ BDMS SAPPE MCS
ตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงเกิน 50 จุด หรือเกิน -3% ถือว่าตลาดหุ้นเอเชียที่ลดลง -1.8% และ Underperform ฉีกจากตลาดหุ้นพัฒนาแล้วที่ปรับตัวขึ้นได้ดีราว 0.9% โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐ Nasdaq +3.3%, S&P500 +2.3%
ขณะเดียวกัน Fund Flow ยังไหลออกจากตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง โดยวันศุกร์ที่ผ่านมาต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยสูงถึง 4.1 พันล้านบาท (สูงสุดในรอบ 2 เดือน) และมีการขายสุทธิสะสมในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา กว่า 2.1 หมื่นล้านบาท
ซึ่งประเด็นสำคัญที่กดดันตลาดหุ้นไทยและ Fund Flow สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ
1. ความกังวล Fed มีโอกาสลดระดับผ่อนคลายนโยบายการเงินเร็วขึ้น กดดันเงินไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยง และมีโอกาสไหลกลับสหรัฐมากขึ้น
2. อุปสรรคและความแตกต่างในการป้องกันการระบาดของ COVID-19 มี 2 ส่วน
2.1 อัตราการฉีดในไทยและเอเชียยังอยู่ในระดับต่ำ ตรงข้ามกับในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ฉีดเกิน 50% ของประชากร โดยไทยเองล่าสุดมีอัตราส่วนการกระจายวัคซีนอยู่ที่ 11% และมีโอกาสที่การจะจายวัคซีนอาจช้ากว่าที่คาด (ตามหัวช้อก่อนหน้า)
2.2 ประเภทวัคซีนที่ฉีดให้ประชากร ในฝั่งเอเชียและไทยส่วนใหญ่ไม่ใช่ชนิด mRNA ซึ่งป้องกันการแพร่ระบาดสายพันธ์เดลต้าได้น้อย เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ใช้ชนิดนี้ อาทิ วัคซีน Pfizer, Moderna เป็นต้น
3. ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ 32.14 บาท/ดอลลาร์ เป็นอีกตัวแปรที่กดดันให้นักลงทุนต่างชาติมีโอกาสขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
ทั้ง 3 ปัจจัยล้วนกดดันให้ Fund Flow ต่างชาติ ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยได้ยากในช่วงนี้ กลยุทธ์การลงทุนในยามที่ตลาดหุ้นผันผวน แนะนำหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่งที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว คาดว่าจะได้แรงหนุนจากเงินทุนในประเทศเป็นหลัก อย่าง SAPPE, MCS, BDMS เป็น Toppick ในวันนี้
MCS (FV @ 21.90) เงินบาทอ่อนค่า ส่งผลดีต่อ MCS โดยจากการประเมิน Sensitivity Analysis ภายใต้สมมติฐานปัจจุบัน พบว่า การอ่อนค่าของเงินบาททุกๆ 1 บาท/100 เยน จะทำให้กำไรสุทธิปี 2564 เพิ่มขึ้น 3.5% จากประมาณการปัจจุบัน โดยเบื้องต้นประเมินกำไรสุทธิ 2Q64 จะอยู่ในช่วง 250-300 ล้านบาท เติบโตไม่ต่ำกว่า 15%YoY จากงานส่งมอบเป็นงานที่ให้ margin สูง อย่างโครงการ Toranomon และ Azabudai ซึ่งมีราคาขายเฉลี่ยเริ่มต้น 2.9 แสนเยน/ตัน
SAPPE (FV @ 35.00) SAPPE จับมือกับ ไทยเฮมพ์ฯ ร่วมปลูกกัญชงในเชียงรายคลอดผลผลิตล็อตแรก ก.ย.นี้สร้าง Sentiment เชิงบวกต่อราคาหุ้นในอนาคต อีกทั้งแนวโน้ม 2Q64 ดีขึ้น QoQ หนุนจากตลาดส่งออก (สัดส่วน 60%) หลังสถานการณ์ตู้คอนเทนเนอร์เริ่มผ่อนคลายขึ้น รวมถึงการใช้กำลังผลิตสูงขึ้นเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิด Economies of scale ด้านราคาหุ้นผ่านการปรับฐานจนมี PER ซื้อขาย 16 เท่า ต่ำกว่ากลุ่มฯ พร้อมคาด Div Yield 5% ต่อปี
BDMS (FV @ 24.00) ได้ Sentiment เชิงบวกจากประเด็นนำเข้าวัคซีนทางเลือก “Moderna” ที่จองกันอย่างล้นหลามในหลายโรงพยาบาล อีกทั้งผลประกอบการนับจาก 2Q64 ต่อเนื่องปี 2565 จะฟื้นตัวต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกทม. อีกทั้ง 2H64 จากความคืบหน้าวัคซีน อาจหนุนผู้ป่วยไทยฟื้นตัวดีกว่าคาด ขณะที่ผู้ป่วยFly-in คาดหวังทยอยฟื้นตัวบางส่วน คงคาดกำไรปกติปี 2564 โต 43%YoY