Daily Focus Selective Buy on Earnings and Low PER/PBV
ตลาดหุ้นวานนี้:
SET Index ปรับตัวลงต่อเนื่องอีก 4.23 จุด อย่างไรก็ตาม ยังสามารถปิดสัปดาห์เหนือระดับ 1,650 จุดได้ ทำให้ทางเทคนิคยังไม่เป็นลบนัก สถาบันในประเทศพลิกมาขายสุทธิในตลาดหุ้นอีกครั้ง 1.1 พันลบ. ขณะที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1.3 พันลบ. (สถานะใน SET50 Index Futures ยังคงไม่มีนัยยะนัก)
แนวโน้มตลาดวันนี้:
เราคาด SET Index จะปรับตัวลงหากรอบ 1,642-1,645 จุดอีกครั้ง จากบรรยากาศการลงทุนที่ยังเป็นลบและเม็ดเงินที่ยังคงไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นเติบโตและกลุ่มเทคโนโลยี ปัจจัยกดดันยังคงเป็นเรื่องของเงินเฟ้อทั่วโลกที่เร่งตัว โดยเฉพาะฝั่งสหรัฐฯทำให้คาด FED จะดำเนินนโยบายการเงินที่ดึงตัวมากขึ้น และเริ่มมีกระแสคาดการณ์ว่าอาจเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 4 ครั้งในปีนี้ และเริ่มลดขนาดงบดุลใน 2H22 ซึ่งสัปดาห์นี้ต้องติดตามการประชุม FED ว่าจะส่งสัญญาณเพิ่มเติมอย่างไร ส่วนปัจจัยในประเทศหลักๆ ยังอยู่ที่การทยอยประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนฝั่ง Real Sector หลังกลุ่มธนาคารประกาศออกมาครบแล้วดีกว่าที่ตลาดคาด ภาพรวมยังไม่เปลี่ยนจากที่เราประเมิน ในเชิงกลยุทธ์ยังเน้นลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว แนวโน้มกำไร 4Q21 แข็งแกร่ง และมี PER / PBV ไม่สูง คาดว่าจะเผชิญแรงขายที่จำกัด และ Outperform ตลาดได้ในระยะนี้
กลยุทธ์: เลือกลงทุนโดยเน้นหุ้น PER / PBV ต่ำ และหุ้นที่คาดกำไร 4Q21 แข็งแกร่ง
หุ้นเด่นเดือน ม.ค. : CK, EA, HMPRO, KBANK, ORI
หุ้นเด่นวันนี้: GFPT
- แนะนำ“ ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 16 บาท
- การฟื้นตัวเร็วกว่าคาด โดย 4Q21 คาดสามารถพลิกมีกำไรได้เล็กน้อยจากเดิมที่คาดยังขาดทุน หนุนจากการส่งออกและราคาไก่ในประเทศที่ฟื้นตัว และมีสายการผลิตไก่ปรุงสุกครบ 5 สายอีกครั้ง นับตั้งแต่ไฟไหม้ปี 2019
- ล่าสุดราคาไก่หน้าฟาร์มอยู่ที่ 39-40 บาทต่อกิโล สูงสุดรอบ 5 ปี ถือเป็นระดับที่ดีแม้จะถูกตรึงราคาขายปลีก เราจึงปรับเพิ่มกำไรปี 2022 ขึ้นเป็น 1.3 พันลบ. + 715% Y Y จากฐานต่ำปีก่อน
- แนวรับ 13.20-13 บาท แนวต้าน 13.50 // 14-14.20 บาท
Fund Flow:
เมื่อวันศุกร์กระแสเงินทุนยังคงไหลออกจากภูมิภาค และเร่งตัวขึ้นเป็น US$ 1,880 ล้าน นำโดยไต้หวันและเกาหลีใต้ US$ 1,480 ล้าน และ US$ 454 ล้าน ตามลำดับ ส่วนอาเซียนไหลยังค่อนไปในทางไหลเข้า นำโดยอินโดนีเซียและไทย US$ 68 ล้าน และ US$ 39 ล้าน แนวโน้มของกระแสเงินทุนวันนี้คาดว่ายังอยู่ในทิศทางไหลออก โดยยังมีแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงต่อเนื่อง จากความกังวลนโยบายการเงิน FED ที่จะตึงตัวเร็วเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ประเด็นสำคัญวันนี้
(+) ส่งออกไทยปี 2021 โตดีกว่าเป้า โดยเดือน ธ.ค. 21 ออกมาที่ US$ 2.5 หมื่นล้าน +24% Y-Y หนุนทั้งปี 2021 จบที่ US$ 2.7 แสนล้าน +17% Y-Y โดยกลุ่มสินค้าที่โตโดเด่น ได้แก่ ชิ้นส่วนานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรินิกส์ ผลิตภัณฑ์ยางพารา อาหารสัตว์ เป็นต้น และเป็นการขยายตัวได้ดีทุกตลาดหลัก ทั้งเอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ พาณิชย์คาดส่งออกปี 2022 โต 3-4% Y-Y จากฐานสูง และสอดคล้องประมาณการของ ธปท. หุ้นในกลุ่มส่งออกที่ยัง Valuation ไม่แพง ได้แก่ SAT AH STANLY TU GFPT
(+) สรุปกำไร 4Q21 กลุ่มธนาคาร 7 แห่ง ภายใต้ Coverage +2% Q-Q, +27% Y Y ดีกว่าคาด 13% โดยธนาคารที่กำไรดีกว่าคาด ได้แก่ KBANK KKP TISCO TTB SCB แย่แกว่าคาดคือ BBL ส่วน KTB ใกล้เคียงคาด ส่งผลให้กำไรปี 2021 ของกลุ่ม +30% Y-Y ฟื้นตัวแรงจากฐานปีก่อน แนวโน้มกำไรปี 2022 คาดฟื้นตัวตามเศรษฐกิจในประเทศ โดยคาดกำไรโตราว +10% Y-Y ยังคงน้ำหนักการลงทุน Overweight จาก Valuation ที่ยังต่ำเทียบกับช่วงก่อน COVID-19 เลือก Top Pick เป็น TTB และ SCB
(+) TU คาดกำไร 4Q21 -2% Q-Q, +31% Y-Y ดีกว่าที่เคยคาด หนุนจากการทยอยปรับขึ้นราคาสินค้า OEM เพื่อสะท้อนต้นทุนที่สูงขึ้น แม้ 1Q22 จะเผชิญต้นทุนบรรจุภัณฑ์และราคาปลาทูน่าสูงขึ้น แต่คาดเจรจาปรับราคาสินค้ากลุ่ม Branded แล้วเสร็จในเดือน ก.พ. ขณะที่แนวโน้ม Demand สินค้ากลุ่ม Frozen, Pet Care รวมถึง Ambient ยังแข็งแกร่ง ส่วนโอมิครอนยังกระทบจำกัดต่อธุรกิจหลักของบริษัท ยกเว้น Red Lobster ภาพโดยรวมยังสอดคล้องกับประมาณการของเราที่คาดกำไรปกติปี 2021-2022 +13% Y-Y และ +3% Y-Y ยังคงราคาเป้าหมาย 30 บาท แนะนำ “ซื้อ”
(-) ตลาดดาวโจนส์ ลดลง 450.02 จุด หรือ 1.30% ปิดที่ 34,265.37 จุด จากแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีหลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับขึ้น และการเปิดเผยผลประกอบการที่อ่อนแอของ Netflix
(-) ตลาดหุ้นยุโรป ปิดลบจากความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆในปีนี้ และการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค GfK ของอังกฤษที่ปรับลงเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนก.พ. 2021
(-) ตลาดหุ้นเอเชีย ปรับลงตามทิศทางตลาดดาวโจนส์ และนักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนการประชุมเฟดในวันที่ 25-26 ม.ค. นี้
(-) ค่าเงินบาท อ่อนค่าลง ล่าสุดอยู่ที่บริเวณ 33.03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
(-) ราคาน้ำมันดิบ NYMEX ลดลง 41 เซนต์หรือ 0.5% ปิดที่ 85.14 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากการเปิดเผยข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด
(-) ราคาทองคำ COMEX ลดลง 10.8 ดอลลาร์หรือ 0.59% ปิดที่ 1,831.8 ดอลลาร์/ออนซ์ จากแรงขายทำกำไร หลังจากปรับขึ้นมากในช่วงก่อนหน้า
SPDR Gold Trust ถือครองทองคำ 1,008.45 / +27.59