บล.ทรีนีตี้:
INTER PHARMA – อินเตอร์ ฟาร์มา (IP)
กำไร 64 ทำ New High คาดปี 65-66 เติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง
- กำไรปี’64 ทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 105 ลบ. เพิ่มขึ้น 62.3% ตามคาด
- บริษัทเปิดแผน 5 ปี ตั้งเป้ารายได้แตะ 5 พันล้าน ในปี’69 นำโดยร้านขายยาหนุน
- คาดกําไรปี ’65-66 เติบโตต่อเนื่อง CAGR ราว 53.3% ต่อปี โดยมีการปรับประมาณการรายได้ รวมถึงสมมติฐานให้สะท้อนการรวมธุรกิจร้านขายยา
- คงคำแนะนำ ซื้อ ราคาเป้าหมายใหม่ 29.43 บาท อิงวิธี DCF
ผลการดำเนินงาน 4Q64 ทําจุดสูงสุดใหม่
- กำไรสุทธิ 4Q64 เท่ากับ 36 ล้านบาท (+39.1%QoQ, +693.5%YoY) ทำจุดสูงสุดใหม่ ใกล้เคียงกับที่เราคาดไว้ก่อนหน้าที่ราว 33 ล้านบาท มีรายได้จำนวน 293 ล้านบาท (+22.1%QoQ, +116.8%YoY) ปัจจัยหนุนหลักจากรายได้จากโรงงานผลิตยาทั้ง 2 แห่ง คือ โมเดิร์น ฟาร์มา และโรงงานอินเตอร์ฟาร์มา อยุธยา (เดิมชื่อ โรงงานเทวา)
- อัตรากำไรขั้นต้น 41.5% (54.3% ใน 4Q63) ลดลงเนื่องจากสัดส่วนรายได้ Product mix ที่มีงานรับจ้างผลิตยาและอาหารเสริมเพิ่มขึ้น
- SG&A ต่อยอดขายที่ 26.8% (47.5% ใน 4Q63) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากในช่วง 4Q63 มีค่าใช้จ่ายเพื่อโฆษณาสินค้า PreBo เป็นจำนวนมาก ขณะที่ไม่มีค่าใช้จ่ายดังกล่าวในปีนี้ และมีการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี ทำให้ถึงแม้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ยังน้อยกว่าอัตราการเติบโตของรายได้ที่เติบโตสูง
สรุปผลการดำเนินงานปี 2564
- กำไรทั้งปี 2564 เท่ากับ 105 ล้านบาท (+62.3%YoY) ใกล้เคียงกับที่เราคาดไว้ที่ราว 102 ล้านบาท โดยมีรายได้ 909 ล้านบาท (+105.5%YoY) ปัจจัยหนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ผลิตภัณฑ์สำหรับคนและสัตว์ และการรับรู้รายได้จากโรงงานผลิตยาโมเดิร์นฟาร์มาเข้ามาเต็มปี ประกอบกับการซื้อโรงงานเทวา เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 ทำให้สามารถรับรู้รายได้เข้ามาในช่วงปลายปี
- อัตรากำไรขั้นต้น 44.1% (59.0% ในปี 2563) ลดลงเนื่องจากสัดส่วนรายได้ Product mix ที่มีงานรับจ้างผลิตยาและอาหารเสริมเพิ่มขึ้น ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นที่น้อยกว่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริม
- SG&A ต่อยอดขาย 29.4% (42.3% ในปี 2563) ลดลงอย่างมีนัยฯ เนื่องจากอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้มีอัตราเร่งสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
แผนการดำเนินธุรกิจระยะ 5 ปี
บริษัทมีแผนการดำเนินธุรกิจในช่วง 5 ปี (2565-2569) โดยตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตแตะระดับ 5 พันล้านบาทในปี 2569 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย CAGR จากปี 2564 ราว 40.9% ต่อปี ปัจจัยหนุนหลักจากธุรกิจร้านขายยา Lab Pharmacy ที่เพิ่งปิดดีลไป คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ใน 2Q65 และตั้งเป้าขยายสาขาในเชิงรุกจากปัจจุบันมี 22 สาขา จะเพิ่มเป็น 40 สาขาในปี 2565 และตั้งเป้าที่ 100 สาขาภายใน 3 ปี โดยกิจการร้านขายยาจะช่วยให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นทันที คาดรายได้จากธุรกิจร้านขายยาในปี 2565 ราว 500 ล้านบาท (รับรู้รายได้ 9 เดือน) และคาดว่าจะโตสูงเป็นราว 2,000 ล้านบาทในปี 2569 ซึ่งจะกลายเป็นสัดส่วนรายได้หลักของบริษัท
ปรับประมาณการ รวมธุรกิจร้านขายยาเข้ามาในประมาณการ
บริษัทได้ปิดดีลการซื้อ Lab Pharmacy แล้วเสร็จใน 1Q65 ฝ่ายวิเคราะห์จึงมีการปรับประมาณการและสมมติฐาน เพื่อให้สะท้อนการเข้ามาของธุรกิจร้านขายยา
ปรับประมาณการรายได้ปี 2565 และ 2566 ขึ้นมาอยู่ที่ 1,796 ล้านบาท และ 2,452 ล้านบาท จากเดิมที่ 1,310 ล้านบาท และ 1,678 ล้านบาท ตามลำดับ จากคาดการณ์ว่าจะมีการรับรู้รายได้ร้านขายยาเข้ามาในช่วง 2Q65 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นสูง แต่มองว่าอัตรากำไรขั้นต้นของร้านขายยาจะต่ำกว่าการขายผลิตภัณฑ์เดิมของบริษัท ทำให้มีการพิจารณาปรับสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นปี 2565 และ 2566 ลดลงมาอยู่ที่ 41.5% และ 42.0% จากเดิม 52.0% และ 53.0% ตามลำดับ
จากการปรับประมาณการกระทบต่อประมาณการกำไรสุทธิปี 2565-2566 ลดลงมาอยู่ที่ 170 ล้านบาท (+62.3%) และ 247 ล้านบาท (44.8%YoY) คิดเป็น EPS 0.57 และ 0.78 บาทต่อหุ้น โดยกระทบต่อราคาเป้าหมายปี 2565 ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 29.43 บาทต่อหุ้น (จากเดิม 29.70 บาทต่อหุ้น)
คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายใหม่ 29.43 บาทต่อหุ้น
คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายใหม่ 29.43 บาทต่อหุ้น อ้างอิงวิธี DCF สมมติฐาน WACC 7% Terminal growth 3% ณ ราคาปัจจุบัน ซื้อขายบน Forward P/E ราว 34 เท่า และคาดว่าจะลดลงเหลือ 25 เท่าในปี 2566 โดยเรามองว่า IP เป็นบริษัท Growth Stock ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง ระดับ PEG ยังอยู่ที่เพียง 0.6 คาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ CAGR ปี 64-66 ราว 53.3% ต่อปี โดยยังไม่รวม Upside จากการแผนธุรกิจในอนาคตหลังจากนี้ เช่น อาหารเสริมกลุ่มสมุนไพร กัญชง เป็นต้น
ความเสี่ยง: การแข่งขันในตลาดสุขภาพและความงามรุนแรง, พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง