บล.พาย:

TRUE: ดีลควบบริษัทยังเดินหน้า แต่คาดขาดทุนก้อนใหญ่ใน 2022

การประชุมเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ให้น้ำหนักเชิงลบต่อภาพรวมกำไรปี 2022 คงคำแนะนำ “ซื้อ” มูลค่าพื้นฐาน 5.09 บาท อิงราคาเสนอซื้อในข้อเสนอการควบบริษัทที่สะท้อนถึงโอกาสในการประหยัดต้นทุนร่วมกันจากดีลนี้ แต่อาจปรับคำแนะนำเป็นขายด้วยมูลค่าพื้นฐาน 3.16 บาท อิงวิธีคิดลดเงินสด (DCF) ในกรณีที่ดีลล่ม

  • ผู้บริหารคาดว่าจะไม่มีความล่าช้าในแง่ของการอนุมัติจากผู้ปล่อยกู้ ขณะที่เราก็เชื่อว่าบริษัทใหม่จะได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล แต่จะมาพร้อมกับกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่คอยคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งอาจกระทบต่อศักยภาพของบริษัทใหม่ได้
  • ปรับลดประมาณการกำไรปี 2022 ลงเป็นขาดทุน 2.9 พันล้านบาท จากเดิมที่ขาดทุน 736 ล้านบาท เพื่อสะท้อนค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่ายที่สูงขึ้น ขณะที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย (ARPU) ที่ลดลงจากการแข่งขันที่ดุเดือดในปี 2022
  • ผู้บริหารยังคงเป้าหมายปี 2022 ด้วยการเติบโตของรายได้บริการหลักในระดับหลักหน่วยในกรอบกลาง และการพลิกฟื้นเป็นกำไร แต่ก็บอกเป็นนัยว่าเป็นเป้าหมายที่ค่อนข้างท้าทาย ขณะที่เราคาดว่ารายได้บริการหลักจะโต 3%YoY ด้วยผลขาดทุนที่ 2.9 พันล้านบาท

ดีลควบบริษัทดำเนินไปตามแผนการ ขณะที่รายได้ปี 2022 อาจโตจำกัด

เชื่อว่าเป้าหมายเดิมสำหรับปี 2022 ที่ให้ไว้ใน 4Q21 ไม่น่าจะเกิดขึ้นจริงแล้ว ผู้บริหารยังคงเป้าหมายปี 2022 ตามเดิม แต่ยอมรับว่ามีความยากมากขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงใน 1Q22 ขณะที่เราประเมินว่าบริษัทจะมีผลขาดทุน 2.9 พันล้านบาทในปี 2022

การรออนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลยังเป็นอุปสรรคใหญ่สุดต่อความคืบหน้าของดีล บริษัทยังรอการอนุมัติจากผู้ปล่อยกู้ แต่ผู้บริหารยืนยันว่าประเด็นนี้จะดำเนินไปอย่างราบรื่น ทั้งนี้ ยังไม่แน่ชัดว่า กสทช. มีอำนาจในการขวางดีลนี้หรือไม่ ซึ่งระหว่างการทำประชาพิจารณ์ในวันที่ 9 พ.ค. ทาง ADVANC ระบุว่าทางหน่วยงานมีอำนาจที่จะห้ามได้ ซึ่งทาง TRUE และ DTAC ปฏิเสธต่อข้ออ้างดังกล่าว ทั้งนี้เราเชื่อว่าท้ายสุดแล้วดีลนี้จะเกิดขึ้น แต่จะมาพร้อมกับกฎเกณฑ์จำนวนมาก แต่ในกรณีที่ดีลไม่เกิดขึ้นก็คาดว่า ADVANC จะยิ่งทิ้งห่างทั้ง 2 บริษัท อย่างไรก็ตาม ถ้าดีลเกิดขึ้นจริงก็คาดว่าทาง กสทช. จะออกกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครอง และจะเกิดการเติบโตในด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่องจากดีลนี้

ยังคงคาดว่าดีลควบบริษัทจะแล้วเสร็จใน 3Q21-4Q23 บริษัทยังเชื่อว่ากระบวนการควบบริษัทจะแล้วเสร็จในช่วง 2Q22-3Q22 (จากการอนุมัติของหน่วยงานกำกับดูแล จนถึงการจดทะเบียนบริษัทใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ) แต่เรามองว่าเป้าหมายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หากพิจารณาจากการที่คณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่เพิ่งดำรงตำแหน่งในปลายเดือน เม.ย. 2022 และยังไม่ได้เปิดเผยแผนพัฒนา 5G และโทรคมนาคมในอนาคตที่ชัดเจนออกมา ซึ่งความล่าช้าของดีลนี้อาจก่อให้เกิดความผันผวนด้านราคาจนนำไปสู่ upside ที่อาจเกิดขึ้นได้

การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่อ่อนแอกดดัน ARPU ขณะที่ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายยังอยู่ในระดับสูง

ปรับลดประมาณการกำไรปี 2022 ลงเป็นขาดทุน 2.9 พันล้านบาทจากเดิมที่ขาดทุน 736 ล้านบาท ประมาณการกำไรชุดใหม่สำหรับปี 2022 สะท้อนถึงการเติบโตของรายได้ปี 2022 ที่ลดลงเป็น 4.8% จากเดิมที่ 7.7% ซึ่งเป็นผลจาก ARPU ที่ลดลงผนวกกับค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายที่สูงขึ้น

ก่อนหน้านี้คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคขึ้น และทำให้ ARPU ฟื้นตัวจากการยกระดับแพ็คเกจ 5G (+10% ถึง 15% จากแพ็คเกจ 4G) แม้จำนวนลูกค้า 5G เพิ่มขึ้น 6.0 แสนรายใน 1Q22 (อัตราการเข้าถึงลูกค้า 5G ที่ 8%) แต่ ARPU โดยรวมของบริการมือถือกลับปรับลดลงเป็น 194 บาท (-9% YoY, -5% QoQ) แสดงให้เห็นว่าแพ็คเกจ 3G และ 4G เผชิญกับแรงกดดันด้านราคาอย่างหนักหน่วง ทั้งนี้ แม้คาดว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวเป็นลำดับ จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี 2022 แต่ไม่น่าจะเพียงพอต่อการชดเชยค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่ายที่สูงขึ้นได้ (สัดส่วนค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายต่อยอดขายอยู่ที่ 35.1% ใน 1Q22 34.3% ใน 4Q21 และ 29.9% ใน 1Q21)

ปรับลดประมาณการกำไรปี 2023 เป็นขาดทุน 800 ล้านบาท จากเดิมที่กำไร 1.5 พันล้านบาท อิงจากสมมติฐานค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายที่รัดกุม โดยเชื่อว่าความพยายามของบริษัทในการเข้าครอบครองใบอนุญาตและการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ 5G จะฉุดทิศทางการฟื้นตัวของ ARPU ลง

สรุปผลประกอบการ 1Q22

  • บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิก้อนใหญ่ใน 1Q22 จำนวน 1.6 พันล้านบาท ปรับลดลง YoY เพราะ GPM ที่ลดลงอย่างมาก ในด้านกำไรปกติก็แย่ลง QoQ จากปัจจัยที่ไม่เกี่ยวกับการดำเนินงาน ได้แก่ รายได้อื่นและส่วนแบ่งกำไรที่ลดลง รวมถึงภาษีเงินได้ที่สูงขึ้น
  • รายได้อยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท (ทรงตัว YoY, -15% QoQ) ที่ยังทรงตัว YoY เป็นเพราะจำนวนลูกค้าบริการมือถือที่สูงขึ้นนั้นถูกหักลบโดยรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย (ARPU) ที่ลดลง ส่วนที่ลดลง QoQ เป็นผลจากปัจจัยตามฤดูกาล
  • จำนวนลูกค้าบริการมือถือทั้งหมดอยู่ที่ 32.6 ราย (+1.354 แสนราย YoY, +3.15 แสนราย QoQ) ขณะที่ ARPU โดยรวมของบริการมือถือลดลงเหลือ 194 บาท (-9% YoY, -5% QoQ) ส่วนเศรษฐกิจไทยที่พื้นตัวช้าคือสาเหตุที่สงครามราคาดำเนินมาต่อเนื่องตั้งแต่ 1Q21
  • GPM ใน 1Q22 อยู่ที่ 23.5% (-4.7ppts YoY, +1.3ppts QoQ) ที่ลดลง YoY เป็นผลจากค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายที่สูงขึ้น (+13% YoY) กอปรกับรายได้ที่ทรงตัว ส่วนที่โตขึ้น QoQ เป็นผลจากปัจจัยตามฤดูกาล

ภาพรวม 2022

คาดถึงผลขาดทุนในปี 2022 ที่ 2.9 พันล้านบาท สืบเนื่องจากการเติบโตของรายได้ที่อ่อนแอ ขณะที่มีค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายที่สูงขึ้น แต่ก็เพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐาน 5G ของบริษัท

Revenue breakdown

แหล่งรายได้หลัก 3 ช่องทางของบริษัท

(1) TrueMove H (77% ของรายได้รวม) ให้บริการเครือข่ายมือถือประเภทเติมเงินและรายเดือน ด้วยพอร์ตคลื่นความถี่ชั้นดีที่รองรับทุกกลุ่มตลาด ยอดผู้ใช้บริการทั้งหมดอยู่ที่ 32.2 ล้านราย (เติมเงิน 66% และรายเดือน 34%) รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายโดยรวม (ARPU) อยู่ที่ 212 บาท/เดือนในปี 2021 (จาก 208 บาทในปี 2018)

(2) TrueOnline (18% ของรายได้รวม) ให้บริการเน็ตบ้าน บริการข้อมูลทางธุรกิจ WiFi เกตเวย์ด้านข้อมูล และบริการมูลค่าเพิ่มต่างๆ ผ่านเทคโนโลเคเบิ้ลที่ล้ำสมัย จำนวนผู้ใช้บริการอยู่ที่ 4.6 ล้านราย (ARPU ที่ 507 บาท)

(3) TrueVisions (5% ของรายได้รวม) ให้บริการกระจายภาพและเสียงที่รวมถึง Pay TV, HDTV, 4K และโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล (DTTV) ด้วยคอนเทนต์คุณภาพดีจากในและต่างประเทศ พร้อมกับธุรกิจการผลิตคอนเทนต์ จำนวนผู้ลูกค้าทั้งหมดอยู่ที่ 3.5 ล้านราย (ARPU ที่ 263 บาท)

- Advertisement -