บล.พาย:
CPALL: บมจ.ซีพี ออลล์ “2Q22 กำไรสุทธิโต 37%YoY”
เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” เช่นเดิม ด้วยปัจจัยบวกจากการรวมงบการเงินของโลตัสเข้ามา เห็นได้จากผลประกอบการงวด 2Q22 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 37%YoY มาอยู่ที่ 3,004 ลบ. โดยมีรายได้อยู่ที่ 208,210 ลบ. มียอด SSSG ที่ขยายตัว 14% ขณะที่สาขาใหม่ยังมีเปิดอีก 180 สาขา ทำให้ปัจจุบันมีสาขารวมแล้วถึง 13,433 สาขา ขณะที่แนวโน้มในช่วง 2H22 คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผลจากการเปิดประเทศที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะปรับตัวเพิ่มขึ้น และกำลังซื้อของผู้บริโภคหลังรัฐบาลเตรียมปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้น
2Q22 รายได้โตดี แต่ดอกเบี้ยเพิ่มทำกำไรโตต่ำกว่า
- CPALL มีกำไรสุทธิงวด 2Q22 ที่ 3,004 ลบ. +37%YoY ส่วนหนึ่งเกิดจากการรวมโลตัสเข้ามา ซึ่งทำให้รายได้เพิ่มขึ้นถึง 57%YoY มาอยู่ที่ 208,210 ลบ. แต่หากเทียบกับ 1Q22 จะลดลง 13%QoQ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้น (ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าใช้จ่ายที่ค้างมาจากช่วง 1Q22) แม้ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้น 7%QoQ ก็ตาม ทั้งนี้ถ้าไม่รวมผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนกำไรปกติอยู่ที่ 3,063 ลบ. (+22%YoY,-13%QoQ)
- ยอดขายต่อสาขาเดิม (Same Store Sale Growth:SSSG) 14.2% ได้รับผลดีจากฐานที่ต่ำในปีก่อน และการปรับราคาตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวที่ทำให้จำนวนผู้เข้าสาขาเฉลี่ยเพิ่มเป็น 918 คน/สาขา/วัน (823 คน ใน 2Q21 และ 871 คน ใน 1Q22)
- กำไรขั้นต้นอยู่ที่ 21% ลดลงจาก 21.3% ใน 2Q21 เพราะมีสัดส่วนธุรกิจอาหารลดลงหลังยอดขายกลุ่ม Health care เพิ่มขึ้น และ 21.5% ใน 1Q22 เนื่องจากกำไรขั้นต้นของ MAKRO ลดลง
- ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 40,804 ลบ. (+49%YoY,+7%QoQ) โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากนอกเหนือจากการรวมงบโลตัส คือ ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคที่ขึ้นตามจำนวนสาขา และค่า Ft ส่วนค่าการตลาดยังรักษาระดับที่ 10% ลดลงจาก 14% ใน 2Q21
ปรับกำไรลง จะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 38%
- กำไรในช่วง 1H22 อยู่ที่ 6,459 ลบ. คิดเป็นสัดส่วนเพียง 38% ของทั้งปี ที่เราคาดไว้ที่ 17,248 ลบ. (+30%YoY) ทำให้เราปรับกำไรสุทธิลงจากเดิม 23% มาอยู่ที่ 13,197 ลบ. (+2%YoY) ส่วนปี 23 ยังคงไว้ที่ 18,545 ลบ. (+41%YoY) เท่าเดิม
การเปิดสาขายังคงแข็งแกร่ง เป้าทั้งปียังเหมือนเดิม
ในช่วง 1H22 CPALL เปิดสาขาไปทั้งสิ้น 299 สาขา ขณะที่เป้าทั้งปี CPALL ยังคงเป้าไว้ที่ 700 สาขาเช่นเดิม ส่วนการขยายสาขาในต่างประเทศยังมีต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสาขาที่กัมพูชาทั้งสิ้น 18 สาขา และคาดว่าจะเปิดที่ลาวได้ในปี 23 เป็นต้นไป
ธุรกิจร้านสะดวกซื้อรายได้ยังเติบโตดี
สำหรับธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่เป็นส่วนหลักของ CPALL ยังเห็นการเติบโตได้ดี ไม่ว่าจะเป็นยอดขายต่อสาขาเดิมหรือจำนวนคนเข้าสาขา แต่สิ่งที่ยังไม่ดีนักคือกำไรขั้นต้นที่ลดลงเล็กน้อยจาก 2Q21 มาอยู่ที่ 26.1% จาก 26.5% ในปีก่อน เนื่องจากมีการเน้นสินค้ากลุ่มอาหารอิ่มคุ้มเพิ่มขึ้น กดดันให้กำไรขั้นต้นในกลุ่มอาหารลดลงเหลือ 26% จาก 26.5% ใน 2Q21 รวมกับสินค้าในกลุ่ม Non-Foods มีการขายแบบแพ็คใหญ่ที่มีกำไรขั้นต้นต่ำกว่าปกติ ทำให้ กำไรขั้นต้นของกลุ่ม Non-Foods ลดลงเหลือ 26.4% จาก 26.7% ใน 2Q21
3Q22 คาดฟื้นแรงจากปีก่อน แต่ด้วย 1H22 ไม่ดีนัก ทำให้ปรับกำไรทั้งปีลง
- แนวโน้มในช่วง 3Q22 คาดว่ารายได้จะเห็นการฟื้นตัวได้ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปีก่อนเพราะ 1.รวมงบโลตัสเข้ามา 2. ไม่มีล็อคดาวน์ ส่วนการเทียบกับ 2Q22 อาจจะออกมาแค่ทรงตัวเนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน
- แม้เราจะมองว่าผลประกอบการงวด 3Q22 จะฟื้นตัวจากปีก่อน แต่ด้วยกำไรสุทธิในช่วง 1H22 ที่มีเพียง 6,459 ลบ. คิดเป็นสัดส่วน 38% ของกำไรทั้งปีที่เราประเมินไว้ 17,248 ลบ. เราจึงมีการปรับประมาณการลงจากเดิม 23% มาอยู่ที่ 13,197 ลบ. โดยปรับลดกำไรขั้นต้นลงเหลือ 21.2% จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 21.5% ส่วนปี 23 เรามองว่าด้วยการปรับปรุงในปี 22 ของโลตัส และความร่วมมือกันในกลุ่มจะทำให้กำไรสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เป็น 18,545 ลบ. (+41%YoY)
Revenue breakdown
โครงสร้างรายได้ของ CPALL แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ 1.ร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ 7-11 และ 2.กลุ่มร้านค้าส่งภายใต้แบรนด์ MAKRO และ 3.ร้านค้าปลีกภายใต้แบรนด์โลตัส โดยกลุ่มที่ 3 จะรับรู้รายได้ผ่านการถือหุ้นใน MAKRO ที่ CPALL ถือหุ้น MAKRO สัดส่วน 60%