บล.พาย:
JWD: บมจ. เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ “คาดประโยชน์ร่วมจากการควบกับธุรกิจโลจิสติกส์ของ SCC”
มองบวกต่อดีลควบรวมระหว่าง JWD และบริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SCGL) หน่วยธุรกิจโลจิสติกส์ภายใต้ SCC (“ซื้อ” เป้าหมาย 445 บาท) บริษัทใหม่ “SCGJWD” จะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ นำมาซึ่งประโยชน์ร่วมในแง่ของขนาดกิจการและต้นทุน ทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในตลาดย่อยภายในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ทั้งในไทยและเอเชียได้อีกด้วย เมื่อรวมกำไรจากประมาณการปี 2022 ของทั้งสองเข้าด้วยกัน คาดว่าราคาเป้าหมาย SCGJWD จะอยู่ในกรอบ 19-21 บาท/หุ้น อิง 30.0xPE’23 หรือที่ค่าเฉลี่ย 4 ปีของ JWD ก่อน ประกาศดีล แต่ยังไม่รวมประโยชน์ร่วมและโอกาสทางธุรกิจดังกล่าวหลังควบรวม ฉะนั้นจึงคาดว่า PE ของบริษัทจะถูกปรับขึ้นใหม่อยู่ในกรอบ 35-40 เท่า และคิดมาเป็นราคาเป้าหมายที่ 24-27 บาท โดยคาดว่าดีลจะแล้วเสร็จช่วงปลายไตรมาส 1/23
มองบวดต่อดีลควบรวมกิจการ
- JWD จะจัดสรรหุ้นสามัญออกใหม่ไม่เกิน 791.02 ล้านหุ้น ราคาพาร์ที่หุ้นละ 0.50 บาท ให้กับบริษัทย่อยของ SCC ได้แก่ SCG CBM (68% ของหุ้นใหม่), SCG Distribution (30%) และ Yamoto Holdings (2%) ผ่านการเสนอขายหุ้นแก่บุคคลในวงจำกัด (PP) ที่ราคาหุ้นละ 24.02 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมที่ไม่เกิน 1.90 หมื่นล้านบาท โดย JWD จะรับการโอนสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดจาก SCGL (SCC ถือ 98.2% ก่อนควบรวม)
- หลังจากควบรวมสำเร็จ SCC Group จะถือ 42.9% ใน SCGJWD ส่วนที่เหลือจะเป็นของผู้ถือหุ้นเดิมของ JWD และ Yamato Holdings
- ธุรกิจหลักของ SCGL ประกอบด้วยบริการขนส่งและคลังสินค้า (84% ของ รายได้รวมในครึ่งแรกปี 2022) บริการขนส่งดำเนินการผ่านเครือข่ายยานพาหนะขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยรถพ่วงและรถบรรทุกมากกว่า 10,000 คัน กิจการของ SCGL ครอบคลุมบริการบริหารคลังสินค้าครบวงจรที่รวมถึงสินค้าทั่วไปและห้องเย็น ทั้งยังให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (ทางทะเลเป็นหลัก) และบริการขนส่งทางเรือด้วยกองเรือมากกว่า 240 ลำและ 7 ท่าในไทย
- กิจการอื่นรวมถึงธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ และบริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เมียนมา กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และจีน
มองบวกต่อดีล
Upside จากดีลที่คาดถึงคือการรวมต้นทุน ทรัพยากร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มาไว้ศูนย์การ และแบ่งปันกันระหว่างหน่วยงาน เพื่อกระตุ้นประสิทธิภาพ และความประหยัดต่อขนาด (economies of scale) เพื่อการขยายกิจการในอาเซียน สร้างกระแสรายได้ที่มั่นคงยิ่งขึ้นจาก SCC Group (65% ของรายได้ SCGL ก่อนควบรวม) รวมถึงช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองโดยเฉพาะกับคู่ค้า และลดต้นทุนทางการเงินลง คาดว่าจะเห็นประโยชน์ร่วมอย่างรวดเร็วหลังดีลสำเร็จ เพราะต่างมีองค์ความรู้ในการดำเนินกิจการที่คล้ายกัน ขณะที่มีสินทรัพย์ที่ทับซ้อนกันไม่มาก เพราะตลาดโลจิสติกส์ถือว่ามีลักษณะกระจัดกระจายอยู่มาก ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการทบทวนประมาณการ JWD และรอรายละเอียดมากกว่านี้ก่อน แต่เชื่อว่าราคาหุ้น JWD ที่พุ่งขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ส่วนหนึ่งสะท้อนข่าวเชิงบวกเกี่ยวกับดีลนี้ไปพอสมควรแล้ว จึงคาด upside เพียง 10%-20% จากราคาปิดวันที่ 26 ต.ค. 2022 ที่ 21.60 บาท คาดว่าดีลจะเป็นบวกต่อทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะ JWD เพราะจะได้รับสินทรัพย์จาก SCGL ด้วยมูลค่าที่คุ้มกว่าที่ 25.3xPE’22E เทียบกับของ JWD ที่ 34.5xPE’22E
พรีวิวผลประกอบการ
• กำไรสุทธิไตรมาส 3/22 อยู่ที่ 158 ล้านบาท (+14%YoY +3%QoQ) การเติบโต YoY และ QoQ หนุนจากรายได้ที่สูงเป็นประวัติการณ์ที่ 1.6 พันล้านบาท (15%YoY +14%QoQ) สืบเนื่องจากอัตราการเช่าลานพักยานยนต์ สินค้าทั่วไป และห้องเย็นที่สูงขึ้น ส่วนธุรกิจขนส่งและกิจการต่างประเทศคาดว่าเป็นอีกแรงหนุนต่อรายได้
• คาดอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ลดลง YoY และ QoQ เหลือ 22.0% เพราะส่วนแบ่งรายได้ธุรกิจอาหารที่เพิ่มขึ้น 21% ของประมาณการรายได้รวมไตรมาส 3/22) และต้นทุนเบื้องต้นจากการเริ่มดำเนินงานห้องเย็นใหม่ในสระบุรี
• ประเมินอัตราส่วนค่าใช้จ่ายการขายและบริหาร (SG&A) ต่อยอดขายจะลดลง QoQ เหลือ 14.7% จาก economies of scale
• คาดส่วนแบ่งกำไรที่ 115 ล้านบาท ลดลง 7% QoQ จากการขาดหายไปของกำไรพิเศษ 60 ล้านบาท จาก Alpha ที่รับรู้ไปเมื่อไตรมาส 2/22 หากไม่รวมรายการพิเศษ คาดว่าส่วนแบ่งกำไรจะโตราว 70% จากผลงานที่ยอดเยี่ยมของ TMS (ถือ 23.4%) PPSP และ ESCO
Revenue breakdown
- รายได้หลักของ JWD มาจากบริการจัดการคลังสินค้า คิดเป็น 45% ของรายได้ทั้งหมด สามารถแบ่งออกเป็นธุรกิจห้องเย็น 16% ลานพักสินค้าอันตราย 11% และการบริหารสินค้าประเภทรถยนต์ 9% และสินค้าทั่วไป 8%
- ทั้งยังให้บริการขนส่งกับลูกค้า ครอบคลุมทั้งพื้นที่ในประเทศและข้ามพรมแดนไปยังลาว กัมพูชา และเมียนมา โดยกลุ่มนี้จะรวมถึงหน่วยธุรกิจใหม่ เช่น การบริหารท่าเทียบเรือสินค้าชายฝั่งและสินค้าทางราง (barge & rail) ศูนย์บริหารจัดการคลังสินค้า (fulfillment center) และบริการส่งสินค้าด่วนแบบควบคุมความเย็น (cold chain express) โดยหน่วยธุรกิจขนส่งนี้คิดเป็น 19% ของรายได้ทั้งหมด
- ยิ่งกว่านั้นบริษัทก็ประกอบธุรกิจบริการอาหารที่รวมถึงการจัดหาวัตถุดิบและบริการโลจิสติกส์ ซึ่งคิดเป็น 25% ของรายได้ทั้งหมด
- บริการขนย้ายสิ่งของคิดเป็น 4% ของยอดขายทั้งหมด ซึ่งจะครอบคลุมงานขนย้ายสิ่งของในครัวเรือน เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องจักร อุตสาหกรรม และสินค้ามูลค่าสูง
- ส่วนธุรกิจอื่นๆ 7% ของยอดขายทั้งหมด) จะรวมถึงบริการจัดเก็บเอกสาร สำนักงานและคลังสินค้าให้เช่า และบริการด้าน IT ในส่วนงานจัดการห่วงโซ่อุปทาน