MAX VENTURES แหล่งสร้างรายได้และจัดหาโซลูชันใหม่ๆ ให้กับบริษัทในเครือ PTG พร้อมเดินหน้าเฟ้นหาพันธมิตรสตาร์ทอัพสุดยอดไอเดียและสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ ทั้งในและต่างประเทศ หวังปั้นธุรกิจร่วมกับคู่ค้าให้เป็นแกนกลางสำคัญในการสร้างนวัตกรรม ความแข็งแกร่ง และต่อยอดธุรกิจในเครือ PTG เพื่อความอยู่ดีมีสุขของคนไทย
นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจีเอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เปิดเผยว่าบริษัท แมกซ์ เวนเจอร์ส จำกัด (MAX VENTURES) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ PTG ก่อตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการเป็น Corporate Venture Capital และเข้าลงทุนเชิงกลยุทธ์ในบริษัทสตาร์ทอัพ (Startup) ที่มีศักยภาพสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับคู่ค้าในรูปแบบต่างๆ และเป็นแกนกลางสำคัญในการสร้างนวัตกรรม หรือ ธุรกิจ New S-Curve รวมถึงการสร้างความแข็งแกร่งและต่อยอดธุรกิจในเครือข่ายของ PTG เพื่อความอยู่ดีมีสุขของคนไทย
ทั้งนี้ MAX Ventures จะทำหน้าที่ในการสร้างรายได้และจัดหาโซลูชันใหม่ ๆ ให้กับบริษัทในเครือ PTG ประกอบด้วย 3 วิธีการ ได้แก่ 1. Incubation เริ่มต้นสร้างธุรกิจใหม่ ตั้งแต่การสรรหาไอเดียใหม่ๆ ที่มีโอกาสในการพัฒนาเพื่อริเริ่มทดสอบไอเดียกับกลุ่มลูกค้าตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นสินค้าและบริการจริง นับเป็นการสร้างธุรกิจใหม่ที่เป็นช่องทางรายได้ใหม่ให้กับบริษัท 2.Investment ลงทุนในธุรกิจที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทรวมไปถึงธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงและช่วยสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับคนไทย และ 3.Co-Creation เป็นการร่วมสร้างธุรกิจ หรือสินค้าและบริการร่วมกับพันธมิตร (Partner) โดยเปิดรับองค์กรทุกรูปแบบสำหรับการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างรายได้ให้กับบริษัทและความอยู่ดีมีสุขของคนไทยไปด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปี MAX Ventures จะมีการจัดโครงการ Incubation Program ในการบ่มเพาะธุรกิจภายนอกองค์กรให้ร่วม Synergy สร้างโซลูชันใหม่ร่วมกับบริษัทในเครือ PTG ซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ โดยทาง MAX Ventures จะเข้าไปร่วมมือในการออกแบบกิจกรรมของมหาวิทยาลัยให้มีการเตรียมความพร้อมธุรกิจหรือผู้ประกอบการภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยให้สมัครเข้าร่วมโครงการโดยปัจจุบันมีหน่วยงานในมหาวิทยาลัยจำนวน 5 แห่งที่ร่วม MOU กับ MAX Ventures ประกอบด้วยสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล, อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, และสำนักเคเอกซ์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
สำหรับแนวธุรกิจ MAX Ventures ได้ให้ความสำคัญในการร่วมลงทุนมีด้วยกัน 4 กลุ่มหลัก โดยเกิดจากแนวคิดในการพัฒนาธุรกิจที่เน้นการเชื่อมโยงและการทำงานร่วมกันทั้งจากภายในองค์กรและภายนอกองค์กรได้แก่ 1.Connection เป็นศูนย์กลางสร้างความเชื่อมโยงธุรกิจที่สามารถ Connect ประชากรคนไทยทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ไหนให้ได้เข้ามาอยู่ในเครือข่ายของ PTG ทำให้สามารถส่งต่อพัฒนาต่อยอดประสบการณ์ที่ดีให้กับคนไทยได้อย่างกว้างขวาง 2.Wellnessand Wellbeing สร้างศูนย์กลางใหม่ๆเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คนพัฒนาความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทย 3. Developing Opportunities เป็นศูนย์กลางในการสร้างโอกาสให้คนตัวเล็กในการขับเคลื่อนธุรกิจใหม่บนความร่วมมือกับกลุ่มบริษัท PTG ในการลดต้นทุนในการดำเนินชีวิต หรือเป็นแหล่งเงินทุนให้กับธุรกิจรายย่อยที่ขาดเงินทุนในการพัฒนาสินค้าและบริการ แต่มีโมเดลธุรกิจที่มีโอกาสในการสร้างการเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน โดยธุรกิจที่สนใจในการลงทุน ได้แก่ ธุรกิจ Startup ในรูปแบบแพลตฟอร์มเช่นการท่องเที่ยวการขนส่งเป็นต้นและ 4.Unmatched Conveniences (Valueadded Experience) ธุรกิจที่สามารถมอบประสบการณ์ที่สะดวกสบายและมีคุณค่ากว่าใครให้ลูกค้ารวมถึงธุรกิจที่สามารถพัฒนารูปแบบการใช้ชีวิตของลูกค้า และส่งเสริมสินค้าหรือบริการใหม่ๆของบริษัทในเครือ PTG เพื่อตอบสนองความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดจนการเข้าไปอยู่ในชีวิตความเป็นอยู่ของลูกค้าอย่างยั่งยืน
นอกเหนือจากการลงทุนในทางตรง ด้วยการสนับสนุนด้านการเงินให้แก่สตาร์ทอัพ และทำงานร่วมกันที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว MAX Ventures ยังสนับสนุนด้านองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มธุรกิจ ตลอดจนทรัพยากรอื่นๆ เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพเติบโตได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน รวมถึงความตั้งใจในการเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศของสตาร์ทอัพในประเทศไทย
“ตัวอย่างบริษัทที่ MAX Ventures ร่วมลงทุน (Investment Portfolio) คือ 360 TRUCK แพลตฟอร์มจองรถบรรทุกขนส่งที่เล็งเห็นโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมการขนส่งซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนทุกธุรกิจในประเทศ และมีมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี โดย 360 TRUCK เป็นแพลตฟอร์มจองรถบรรทุกขนส่งที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหา “รถบรรทุกเที่ยวเปล่า” หรือการตีรถเปล่ากลับเมื่อส่งสินค้าที่ปลายทางเสร็จโดยการใช้ระบบจับคู่งานขนส่งอัจฉริยะหรือ Smart Algorithm ที่ช่วยจับคู่รถเที่ยวเปล่ากับงานขนส่งซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้แล้วยังช่วยให้ผู้ขนส่งสามารถเข้าถึงงานขนส่งที่น่าเชื่อถือทั่วประเทศได้ง่ายๆ ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว ซึ่งปัจจุบันแพลตฟอร์ม 360 TRUCK ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากผู้ขนส่งรถบรรทุกรวมถึงเจ้าของสินค้าที่มีการใช้รถขนส่งสินค้าเป็นประจำ และมีรถขนส่งเข้าร่วมรับงานอยู่ในระบบแล้วกว่า 58,000 คัน” นายพิทักษ์ กล่าว