SCB WEALTH ชี้กนง.ปรับลดดอกเบี้ย มุมมองเศรษฐกิจเริ่มสอดคล้องเอกชน พร้อมเปิดขาย 4 กองทุน Thai ESGX IPO 2-8 พ.ค.นี้ หนุนตลาดหุ้นไทยกลับมาคึกคัก
SCB WEALTH จัดงานเสวนาออนไลน์ ผ่านทาง SCB WEALTH Line official ในหัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจ ดอกเบี้ย ค่าเงิน และตลาดหุ้นไทย หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน” โดยการผนึกกำลังกันของหน่วยงาน SCB EIC, SCB Finance Market, SCB CIO และ บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ ให้แก่ลูกค้า SCB WEALTH และนักลงทุนทั่วไป เพื่อวิเคราะห์ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้ลูกค้าได้รับทราบอย่างทันท่วงทีภายหลังการประกาศผลการประชุมลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 1.75%ต่อปี พร้อมให้คำแนะนำการลงทุนเพื่อให้ลูกค้าได้ปรับกลยุทธ์การลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย SCB EIC มอง กนง. ปรับลดดอกเบี้ยสะท้อนมุมมองเศรษฐกิจเริ่มสอดคล้องภาคเอกชน คาดว่ายังมีโอกาสลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ ด้าน SCB Finance Market ประเมินเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในระยะสั้น และกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงปลายปีที่ 32.50-33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วน Moody’s ปรับลดมุมมองที่มีต่อไทย แต่ยังไม่ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ แม้หากถูกปรับลดในอนาคต ก็ยังอยู่ในระดับ Investment Grade ด้าน InnovestX มองตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้น จากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของกนง. แต่อาจเป็นเพียงระยะสั้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ไม่ดีเท่ากับภูมิภาค ขณะที่ กองทุนThai EGSX จะช่วยชะลอแรงขายหุ้นไทยได้ ส่วน SCB CIO เผย ธนาคารไทยพาณิชย์พร้อมสนับสนุนการขาย 4 กองทุนของบลจ.ไทยพาณิชย์ IPO 2 – 8 พ.ค. นี้ หลังจากนั้นจะเปิดขายพร้อมรับสับเปลี่ยน LTF หลังจัดตั้งกองทุนเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.- 30 มิ.ย. 2568
ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค SCB EIC เปิดเผยว่า จากผลการประชุม กนง. วันที่ 30 เม.ย. 2568 ที่มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.00% ต่อปี เป็น 1.75% ต่อปี สะท้อนว่า กนง. เริ่มมีมุมมองเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับภาคเอกชนมากขึ้น โดยเริ่มมองเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวลดลงจากมุมมองเดิมหลังสหรัฐฯ ประกาศนโยบายภาษีนำเข้า และ กนง. ได้ประเมินมุมมองเศรษฐกิจไทยออกมาเป็นฉากทัศน์อ้างอิง (Reference Scenario) คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.0% ในปีนี้ และ 1.8% ในปี 2569 และฉากทัศน์ทางเลือก (Alternative Scenario) ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเหลือ 1.3% ในปีนี้ และ 1.0% ในปี 2569 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยไม่เพียงแต่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่ยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงปี 2569 ด้วย นอกจากนี้ กนง. ยังกล่าวถึงภาวะการเงินที่ยังคงตึงตัว ดูจากสินเชื่อที่หดตัวและ NPL ที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ มุมมองต่อเศรษฐกิจของ SCB EIC และ กนง. ไปในทิศทางเดียวกัน โดยมุมมองล่าสุด SCB EIC ณ เดือน เม.ย. มองว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวเหลือ 1.5% ในกรณีฐาน บนสมมติฐานที่ว่า ไทยจะต่อรองลดภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) จากสหรัฐฯ ได้แค่ครึ่งเดียว ถึงแม้สหรัฐฯ จะชะลอการจัดเก็บภาษีตอบโต้ออกไปชั่วคราว 90 วัน ผลกดดันต่อการส่งออกไทยจะเริ่มเห็นในช่วงครึ่งหลัง แต่สำหรับความเชื่อมั่นในการลงทุนของธุรกิจไทยน่าจะถูกกระทบตั้งแต่ไตรมาส 2 นี้แล้ว ผลจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ ทำให้มองว่าการลงทุนเอกชนปีนี้จะยังไม่ฟื้นจากที่เคยหดตัวในปีที่แล้ว ภาคการท่องเที่ยวเองก็อาจจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไม่มากอย่างที่เคยคาดไว้ หากดูทิศทางเศรษฐกิจรายไตรมาสจะเห็นว่า ในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจไทยจะโตต่ำลงเรื่อยๆ จากไตรมาสแรกที่จะยังเห็นเติบโตได้ 3% ไตรมาส 2 จะขยายตัวลดลงเหลือ 2.2% และลดลงเหลือเพียง 0.7% ในไตรมาสที่ 3 และ 0.3% ในไตรมาสที่ 4
SCB EIC จึงยังคงมุมมองต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยตามเดิม โดยมองว่า จะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอีก 2 ครั้งในปีนี้ ในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 อย่างละ 1 ครั้ง เนื่องจากมีแนวโน้มค่อนข้างสูงที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตต่ำไม่ถึง 2% ต่อเนื่องไปปีหน้า และความไม่แน่นอนยังสูงมาก หลังจากนี้คงต้องอยู่ที่ภาครัฐว่าจะเจรจาต่อรองลดภาษีสหรัฐฯ ได้แค่ไหน ภาคธุรกิจและประชาชนจะเตรียมปรับตัวจากสถานการณ์ข้างหน้าที่มองเห็นแบบนี้อย่างไร ซึ่งอัตราดอกเบี้ยก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยผ่อนคลายความตึงตัวของภาระทางการเงินลูกหนี้และช่วยดูแลเศรษฐกิจได้ ส่วนภาครัฐอาจอยู่ระหว่างเตรียมมาตรการอื่นเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจอีกทาง
นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส SCB Financial Markets ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ผลการประชุม กนง. ที่ออกมาถือว่าเป็นไปตามที่ตลาดคาด ทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย 2 ปี และ 10 ปี ทรงตัว ส่วนประเด็นที่ Moody’s ปรับลดมุมมองที่มีต่อไทยนั้น เนื่องจากเป็นเพียงการปรับมุมมอง แต่ยังไม่ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือ และอันดับความน่าเชื่อถือของไทยยังอยู่ในระดับสูงกว่าอันดับเครดิตขั้นต่ำของระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade) ดังนั้น แม้จะถูกปรับลดลงในอนาคต ก็ยังอยู่ในระดับ Investment Grade จึงยังไม่เห็นความเสี่ยงของการเทขายพันธบัตรรัฐบาลไทยออกมา
ทั้งนี้ เราประเมินว่า ในระยะสั้น ไตรมาสที่ 2 ค่าเงินบาทมีโอกาสกลับไปอ่อนค่าได้ โดยอยู่ในกรอบ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากความเสี่ยงเรื่องสงครามการค้า ที่สหรัฐฯ อาจกลับมาขึ้นภาษีตอบโต้บางส่วน หลังผ่านช่วงเวลา 90 วัน ที่ชะลอการเก็บภาษีชั่วคราว ซึ่งจะทำให้เงินเอเชีย รวมถึงเงินบาทอาจอ่อนค่า โดยที่ธนาคารกลางต่างๆ อาจยอมให้ค่าเงินอ่อนค่าเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้า ขณะที่ ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐ อาจกลับมาแข็งค่าบ้าง นอกจากนี้ยังมาจาก เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง กนง. มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อในปีนี้ รวมทั้งเป็นผลจากในช่วงไตรมาส 2 เป็นช่วงที่บริษัทข้ามชาติจะส่งเงินกลับไปยังบริษัทแม่ในต่างประเทศ (Dividend payout) รวมถึงฤดูกาลท่องเที่ยวที่หมดลง
สำหรับระยะยาว คาดว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นได้ โดยมอบกรอบการเคลื่อนไหวที่ 32.50-33.50 บาท ในช่วงสิ้นปี 2568 เป็นผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากการที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์สหรัฐฯ ลดลง มีการนำเงินออกจากสินทรัพย์สหรัฐฯ ไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ขณะที่สกุลเงินหลักอื่น เช่น เงินยูโร เยน และสวิสฟรังก์ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินยูโร มีแนวโน้มแข็งค่า จากเงินทุนไหลกลับเข้ายุโรป ส่วนเงินเยน อาจแข็งค่าขึ้นต่อตามการขึ้นดอกเบี้ยและกลุ่มประกันที่นำเงินกลับเข้าญี่ปุ่น
นายสิทธิชัย ดวงรัตนฉายา หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวว่า โดยปกติตลาดหุ้นไทยจะตอบสนองได้ดีกับการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเราคาดว่า อัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงไป 0.25% จะให้ประโยชน์ 1.3% ของกำไรต่อหุ้น (EPS) ทั้งหมด หรือคิดเป็นประมาณ 20-25 จุดของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในภาวะตลาดหมี ดังนั้น จึงอาจปรับขึ้นได้ในช่วงสั้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีอัตราการเติบโตที่ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับในภูมิภาค ในส่วนของกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ได้แก่ กลุ่มอาหาร ท่องเที่ยว โรงไฟฟ้า ค้าปลีก และขนส่ง
ส่วนกรณีการปรับลดมุมมองเครดิตของไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ และคาดว่าจะไม่มีผลกระทบระยะยาว โดยในปี 2565 ไทยก็เคยถูกปรับลดเครดิตของกลุ่มธนาคารมาแล้ว เพียงแต่ในครั้งนี้เป็นการปรับลดมุมมองเครดิตทั้งหมด สะท้อนถึงมุมมองการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคตที่ชะลอตัวลง อัตราส่วนหนี้รัฐบาลต่อ GDP และอัตราส่วนหนี้รัฐบาลต่อรายได้ ปรับเพิ่มขึ้นเกินกว่าระดับที่เคยมีอยู่ ขณะที่ ตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยเรื่องการเปิดให้ลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ (Thai EGSX) ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. นี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นไทย ช่วยชะลอแรงขายหุ้นไทยได้
นายสรรค์ชัย สกุลสุรเอกพงศ์ ผู้จัดการ Investment Product Selection and Partnership, SCB CIO ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า SCB WEALTH พร้อมส่งเสริมการลงทุนในกองทุนรวม Thai ESGX ตามนโยบายภาครัฐที่ต้องการกระตุ้นตลาดทุนไทย โดยธนาคารไทยพาณิชย์ พร้อมสนับสนุนการจำหน่ายกองทุน Thai ESGX ที่จัดตั้งโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด ที่มีหลากหลายสไตล์การลงทุนให้เลือก จำนวน 4 กองทุน โดยจะเสนอขายครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 2-8 พฤษภาคม 2568 เงินลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท หน่วยลงทุนละ 10 บาท ผ่านสาขาธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EASY ประกอบด้วย
1) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ผสม 70/30 ไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ (SCBT70X) มีความเสี่ยงระดับ 5 มีนโยบายการลงทุนในหุ้นไทยยั่งยืน พื้นฐานดี ไม่เกิน 70% และตราสารหนี้ที่เด่น ESG 2) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นแอคทีฟ พลัส ไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ (SCBTAPX) มีความเสี่ยงระดับ 6 มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นไทยยั่งยืน พร้อมกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสการลงทุนในหุ้นต่างประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตสูงไม่เกิน 20% 3) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นแอคทีฟไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ (SCBTAX) มีความเสี่ยงระดับ 6 มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นไทยยั่งยืนไม่น้อยกว่า 80% และใช้กลยุทธ์คัดเลือกหลักทรัพย์ลงทุน เพื่อเป้าหมายการสร้างผลตอบแทนเหนือตลาด และ 4) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ดัชนี SET100FF ไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ (SCBTS100X) มีความเสี่ยงระดับ 6 มีนโยบายการลงทุนในหุ้นไทยพื้นฐานดี 100 บริษัทที่คำนวณอยู่ในดัชนี SET100FF ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนความเคลื่อนไหวของราคากลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นไทย
ทั้งนี้ การลงทุนในกองทุนรวม Thai ESGX จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นเงินลงทุนใหม่ โดยสามารถลงทุนได้ในช่วง IPO และหลังจัดตั้งกองทุนเรียบร้อยจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2568 ส่วนนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท และไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน โดยจะต้องถือครองหน่วยลงทุน 5 ปี นับจากวันที่ซื้อหน่วยลงทุน
ส่วนที่สอง สำหรับผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่มีหน่วยลงทุนอยู่ ณ วันที่ 11 มี.ค. 2568 ที่ ครม. มีมติให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกองทุน Thai ESGX และไม่ได้ดำเนินการสับเปลี่ยนหรือขายหน่วยลงทุนที่ถือไว้ นับตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 2568 เป็นต้นมา ส่วนนี้สามารถดำเนินการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF ที่มีอยู่ทุกหน่วยลงทุน จากทุก บลจ. มายังกองทุน Thai ESGX ได้ นับตั้งแต่วันที่จัดตั้งกองทุนเรียบร้อยแล้ว โดยในส่วนของกองทุน Thai ESGX ทั้ง 4 กองทุนของ บลจ.ไทยพาณิชย์ จะเริ่มรองรับการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนกองทุน LTF ได้ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.- 30 มิ.ย. 2568 โดยจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้สูงสุด 500,000 บาท แบ่งเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับปี 2568 สูงสุด 300,000 บาท และเงินส่วนที่เหลือใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในสัดส่วนเท่าๆ กัน ระหว่างปี 2569-2572 สูงสุดไม่เกินปีละ 50,000 บาท
สำหรับ การสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนกองทุน LTF มายัง Thai EGSX จะช่วยให้นักลงทุนได้ต่อยอดสิทธิลดหย่อนภาษี โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนใหม่ ทำให้ไม่ต้องรีบขายขาดทุนหน่วยลงทุน LTF ที่ขาดทุนอยู่ ขณะที่ การลงทุนในตลาดหุ้นไทยควรเน้นคัดเลือกหุ้นมากขึ้น ซึ่งการลงทุนใน Thai ESGX เป็นโอกาสดีที่จะได้ลงทุนในหุ้นยั่งยืน เป็นการลงทุนในบริษัทไทยที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) ด้วย
เมื่อนับรวมวงเงินสำหรับการลงทุนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในปีนี้ หากใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุนครบทุกรูปแบบ จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีรวมสูงสุดที่ 1,400,000 บาท แบ่งเป็น กองทุนรวม Thai ESGX ส่วนเงินลงทุนใหม่ สูงสุดไม่เกิน 300,0000 บาท ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน, Thai ESGX ส่วนที่สับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF สูงสุด 300,000 บาท, กองทุนรวม Thai ESG สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน และ การลงทุนเพื่อการเกษียณรวมสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และเบี้ยประกันบำนาญ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขการลงทุนและการลดหย่อนภาษีตามกฎหมายและประกาศที่กรมสรรพากรกำหนด