IRPC ตั้ง “Crisis War Room” พร้อมรับมือเศรษฐกิจโลก เดินหน้ากลยุทธ์เสริมแกร่งธุรกิจหลัก ต่อยอดลงทุนเมกะเทรนด์ หนุนผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษบุกตลาดอาเซียน
นายเทอดเกียรติ พร้อมมูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า ท่ามกลางสถานการณ์การค้าโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน บริษัทฯ ได้จัดตั้ง “Crisis War Room” เพื่อติดตามสถานการณ์ เศรษฐกิจและตลาดอย่างใกล้ชิด ช่วงเศรษฐกิจมีความผันผวนสูง สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว IRPC ได้วางแนวทางเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ โดยเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีระบบ พร้อมบริหารความเสี่ยงทางการเงินอย่างรอบด้าน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการลงทุนในอนาคต ผ่าน 2 กลยุทธ์หลัก คือ 1. Core Up Lift และ 2. Step Up & Beyond
1. กลยุทธ์ที่ Core Up Lift การยกระดับประสิทธิภาพการผลิต เสริมความแข็งแกร่งธุรกิจหลักด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมี โดยมีแนวทางดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่
- ความเป็นเลิศทางการค้า (Commercial Excellence) ธุรกิจปิโตรเลียม เพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายน้ำมันดีเซลในประเทศ รวมถึงขยายตลาดผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง เช่น น้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ (Low Sulfur Diesel) และ Jet A-1 เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น
- มุ่งขยายการผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty Portfolio) ธุรกิจปิโตรเคมี ให้ความสำคัญกับการขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty Products) เช่น PP Phthalate free สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และบรรจุภัณฑ์อาหาร เพื่อตอบโจทย์ของผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ต้องการความปลอดภัย รวมทั้ง UHMWPE พลาสติกวิศวกรรม ที่มีความทนทานต่อการสึกหรอ ทนแรงกระแทกและเสียดสีสูง นำไปผลิตเป็น Battery Separator สายพานลำเลียง เฟือง อะไหล่และชิ้นส่วนของลิฟท์ เป็นต้น พร้อมเดินหน้าขยายตลาดสู่ประเทศที่มีศักยภาพในอาเซียน เช่น เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
- เพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน (Optimization & Competitiveness) ด้วยการบริหารต้นทุนในกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีทั้งในด้านราคาและความต้องการของตลาด มองหาโอกาสใหม่ โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจคิดค้นพัฒนาเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษและผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค
- บริหารจัดการสินทรัพย์ (Asset Management) บริหารจัดการที่ดิน รวมถึงแผนพัฒนาพื้นที่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมและท่าเรือไออาร์พีซี จ.ระยอง เพื่อรองรับการลงทุนและเสริมศักยภาพโลจิสติกส์ในอนาคต
- การบริหารจัดการบริษัทในเครือ (Subsidiaries Management) ยกระดับการบริหารจัดการบริษัทในเครือ พร้อมมองหาโอกาสร่วมทุนกับพันธมิตร เพื่อเพิ่มมูลค่าหรือสร้างรายได้เพิ่ม
2. กลยุทธ์ Step Up & Beyond การขยายธุรกิจใหม่ ด้วยการต่อยอดความเชี่ยวชาญจากห่วงโซ่อุตสาหกรรมเดิม ร่วมลงทุนกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเน้นใน 5 กลุ่มธุรกิจเมกะเทรนด์ระดับโลก อาทิ ธุรกิจสีและสารเคลือบ ธุรกิจโรงพยาบาล และธุรกิจรีไซเคิล เป็นต้น
จากสถานการณ์ความผันผวนของราคาพลังงาน มาตรการทางภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงอุปทานที่ลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน ในไตรมาส 1/2568 เปรียบเทียบกับไตรมาส 4/2567 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 62,224 ล้านบาท ลดลง 813 ล้านบาท หรือร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากปริมาณขายลดลงร้อยละ 4 ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น สำหรับธุรกิจปิโตรเลียมมีกำไรขั้นต้นจากการกลั่นตามราคาตลาด (Market Gross Refining Margin: Market GRM) ที่ลดลงจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบ ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงจากความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจ และผลกระทบจากนโยบายทางการค้าของประเทศสหรัฐอเมริกาต่อประเทศคู่ค้า
นอกจากนี้ ธุรกิจปิโตรเคมี มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาดของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี (Market Product to Feed: Market PTF) ที่ลดลง โดยหลักจากปริมาณการขายในกลุ่มโอเลฟินส์ที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวในขณะที่ กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภค มีกำไรขั้นต้นค่อนข้างคงที่จากการขายไฟฟ้าและไอน้ำ ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 3,886 ล้านบาท หรือ 6.34 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 31 จากไตรมาส 4/2567
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำมันดิบในไตรมาส 1/2568 มีความผันผวนจากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศแถบตะวันออกกลาง และจากสภาวะเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ประกอบกับการยกเลิกการลดปริมาณการผลิตโดยสมัครใจของโอเปกและพันธมิตร รวมถึงมาตรการทางภาษีของประเทศสหรัฐฯ ต่อประเทศคู่ค้า ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ทำให้บริษัทฯ มี Net Inventory Gain รวม 632 ล้านบาท หรือ 1.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) จำนวน 4,518 ล้านบาท หรือ 7.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2567 ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 1,596 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2567
นอกจากนี้ บริษัทฯ บันทึกค่าเสื่อมราคา 2,328 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีต้นทุนทางการเงินสุทธิจำนวน 591 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากมีการชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น และเงินกู้ยืมระยะยาวในช่วงไตรมาส 1/2568 ขณะที่ บริษัทฯ บันทึกขาดทุนจากการลงทุน 657 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 4/2567 ที่มีผลกำไรจาก การลงทุน 223 ล้านบาท จากปัจจัยที่กล่าวข้างต้น ส่งผลให้ในไตรมาส 1/2568 บริษัทฯ บันทึกผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 1,206 ล้านบาท มากกว่าไตรมาส 4/2567 ที่ร้อยละ 7
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ตลาดน้ำมันดิบและตลาดปิโตรเคมี ปี 2568 ยังคงเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ต่อประเทศคู่ค้า ซึ่งอาจจำกัดความต้องการใช้น้ำมัน ประกอบกับช่วงไตรมาส 2 ของปี ซึ่งเป็นฤดูกาลซ่อมบำรุงโรงกลั่น ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันดิบชะลอตัวชั่วคราว ด้านอุปทานการปรับเพิ่ม การผลิตของกลุ่มโอเปกพลัสจากส่วน Voluntary Cut ถือเป็นความท้าทายสำคัญ แม้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะช่วยจำกัดอุปทานส่วนเกินได้บ้าง
ส่วนต่างราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวดีขี้น จากอุปทานที่ลดลง ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี แนวโน้มยังทรงตัวถึงอ่อนตัว จากความกังวลเศรษฐกิจโลกและมาตรการกีดกันทางการค้า อย่างไรก็ตาม ความต้องการท่อ HDPE คาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นฤดูการก่อสร้างในภูมิภาคเอเชีย โดยยังต้องติดตามความไม่แน่นอนจากตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนและการเพิ่มกำลังผลิตในประเทศจีนอย่างใกล้ชิด
บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ร่วมกับพันธมิตรธุรกิจ ได้แก่ บริษัท ลีลาโพลี จำกัด และ บริษัท สหจิตต์วัฒนา อุตสาหกรรมพลาสติก จำกัด ส่งมอบผ้าพลาสติกสานเคลือบสารกันน้ำ ผ่านกองทัพไทย และมอบถุงใส่ขยะติดเชื้อให้กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้ในภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งได้นำ วิศวกรและช่างจิตอาสาไออาร์พีซี ร่วมกับกลุ่ม ปตท. และการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ประเมินความเสียหายเบื้องต้นของโครงสร้างอาคารภายนอกและระบบไฟฟ้า ภายในนิคมบ้านพักรถไฟ กม.11