AAV ประกาศผลประกอบการทางการเงิน ไตรมาส 1/2568

  • กำไรจากการดำเนินงานหลัก 1,299 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หนุนจากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนน้ำมันที่ลดลง โดยรายได้จากการขายและให้บริการลดลงร้อยละ 4
  • กำไรสุทธิ 1,387 ล้านบาท อัตรากำไร EBITDA 3,353 ล้านบาท
  • อัตราขนส่งผู้โดยสารร้อยละ 87 โดยมีส่วนแบ่งการตลาดภายในประเทศ ร้อยละ 42 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ตลาดระหว่างประเทศยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว
  • ขยายฝูงบินเพิ่มเป็น 61 ลำ ณ สิ้นสุดไตรมาส คงเป้าหมาย ฝูงบิน 66 ลำ ณ สิ้นปี

บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ผู้ถือหุ้นทั้งหมดในสายการบินไทยแอร์เอเชีย (TAA) รายงานผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 มีกำไรจากการดำเนินงานหลัก (ไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) รวม 1,299 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้จากการขายและการให้บริการอยู่ที่ 13,225 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากปริมาณการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง

ทั้งนี้ บริษัทมีต้นทุนต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (CASK) อยู่ที่ 1.73 บาท ลดลงร้อยละ 12 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ CASK ที่ไม่รวมค่าน้ำมัน อยู่ที่ 1.13 บาท ลดลงร้อยละ 3 โดยรายได้ต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (RASK) อยู่ที่ 1.97 บาท ลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ในไตรมาส 1 ปี 2568 TAA ขนส่งผู้โดยสารจำนวน 5.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีอัตราขนส่งผู้โดยสารที่ร้อยละ 87 และมีปริมาณที่นั่ง (Capacity) ให้บริการอยู่ที่ 6.4 ล้านที่นั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ทั้งนี้ TAA ได้ขยายฝูงบินด้วยการรับมอบเครื่องบินแอร์บัส A321neo เพิ่ม 1 ลำในไตรมาสนี้ รวมเป็น 61 ลำ (ปฏิบัติการจริง 55 ลำ) พร้อมรับเพิ่มอีก 1 ลำ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา และกำหนดรับเพิ่มอีก 4 ลำในครึ่งปีหลัง จนครบ 66 ลำตามแผนที่วางไว้

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AAV และ TAA กล่าวว่า “ผลการดำเนินงานของไทยแอร์เอเชียในไตรมาส 1 ปี 2568 สะท้อนความสามารถในการปรับตัวของบริษัท เพื่อความยั่งยืนทางการเงินในระยะยาว เป็นความภาคภูมิใจที่ TAA ครองส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 42 ในสิ้นเดือนมีนาคม ความสำเร็จนี้ ส่วนหลักเกิดจากกลยุทธ์การให้บริการ 2 สนามบินของเรา ทั้งดอนเมือง (DMK) และสุวรรณภูมิ (BKK) ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน ตอกย้ำความเป็นผู้นำอย่างดี”

เส้นทางตลาดในประเทศของ TAA ยังเเข็งแกร่ง โดยไตรมาสนี้ TAA ให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศรวม 3.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นสัดส่วนร้อยละ 67 ของจำนวนผู้โดยสารทั้งหมดในไตรมาสนี้ มีอัตราขนส่งผู้โดยสารสูงถึงร้อยละ 91 โดย TAA ขยายเครือข่ายเส้นทางบินจากฐานปฏิบัติการบินสุวรรณภูมิ (BKK) ให้บริการเส้นทางใน 2 เส้นทางใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ ได้แก่ สุวรรณภูมิ สู่ ขอนแก่นและอุดรธานี และยังเปิดสำรองที่นั่ง 3 เส้นทางใหม่ ได้แก่ สุวรรณภูมิ สู่สุราษฎร์ธานี บุรีรัมย์ และนราธิวาส ซึ่งเริ่มให้บริการตั้งแต่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป

“เส้นทางระหว่างประเทศยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว ตลาดในเอเชียตะวันออก เช่น จีน ฮ่องกง และมาเก๊า ยังโตช้ากว่าที่คาดการณ์ ในขณะที่ตลาดเอเชียใต้ และเส้นทาง Fifth Freedom ใหม่ๆ เช่น เชียงใหม่–ไทเป–ซัปโปโร สามารถสร้างโอกาสได้ดี ทั้งนี้เราพร้อมสนับสนุนภาครัฐเเละการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการร่วมสร้างความเชื่อมั่นและจัดเเคมเปญต่างๆ ในตลาดจีน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นทางเลือกแรกของนักท่องเที่ยวจีนในการเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง”

TAA มั่นใจในพื้นฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง และการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยบริษัทยังคงติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ เพื่อเตรียมความพร้อมปรับตัวอย่างทันท่วงที

“บริษัทคาดการณ์ขนส่งผู้โดยสารตลอดปี 23-24 ล้านคน ด้วยอัตราขนส่งผู้โดยสารใกล้เคียงร้อยละ 90 และขยายฝูงบินเป็น 66 ลำภายในสิ้นปี ซึ่งจะช่วยวางรากฐานที่มั่นคง พร้อมคว้าโอกาสสำหรับฤดูท่องเที่ยวต่อไป” นายสันติสุข กล่าว

ทั้งนี้ TAA ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการดำเนินงานอย่างยั่งยืนในไตรมาส 1 ปี 2025 ผ่านโครงการสำคัญหลายประการ รวมถึงการจัดเวิร์กช็อปประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนแบบองค์รวมครั้งแรก ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อปรับกระบวนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล นอกจากนี้ สายการบินยังได้ขยายโครงการ Journey D เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในจังหวัดลำปาง โดยได้รับการสนับสนุนจากเส้นทางบินตรงใหม่จากกรุงเทพฯ ความพยายามเหล่านี้ทำให้ไทยแอร์เอเชียได้รับรางวัล “Leading ESG – Social Product Award” จากเวที Future Trends Awards 2025 และยังมีส่วนช่วยให้กลุ่มแอร์เอเชียได้รับคะแนนสูงสุดในการประเมินสิ่งแวดล้อมด้านการบินระดับโลกโดย 42kft.com ซึ่งประเมินสายการบิน 142 แห่งทั่วโลกจากตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน เช่น การปรับปรุงฝูงบินให้ทันสมัย ประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิง และความโปร่งใสด้าน ESG

- Advertisement -