KS Daily View 19.05.2025 >>> กำไร บมจ. 1Q68 ออกมาดีกว่าคาด จับตาเจรจาการค้าไทย-สหรัฐฯ มองกรอบ SET วันนี้ 1,180–1,210 จุด แนะนำ PR9 GPSC BTG และ CK

Theme การลงทุนสัปดาห์นี้: คาดตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้แกว่งตัวในกรอบ 1,160-1,210 จุด แนวโน้มหลักของดัชนีคือภาพของการฟื้นตัว แต่มองการฟื้นตัวเริ่มมีความเสี่ยงหลังเห็นแรงขายเข้ามาอย่างต่อเนื่องเมื่อดัชนีปรับตัวเหนือระดับ 1,200 จุดขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็นได้จากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา SET index ปรับตัวขึ้นไปแตะระดับสูงสุดของสัปดาห์ที่ราว 1,230 จุด ทะลุแนวต้านสำคัญที่ 1,215 จุด ได้เพียงชั่วคราวก่อนที่จะเผชิญแรงขายจนปิดสัปดาห์หลุดระดับ 1,200 จุดลงมาอีกครั้ง โดยการปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นครั้งแรกหลังปรับตัวเพิ่มขึ้นมา 5 สัปดาห์ติดต่อกัน ทำให้เรามองภาพการฟื้นตัวของตลาดเริ่มเปราะบาง ทิศทางไม่ชัดเจนและมีความเสี่ยงที่อาจต้องระมัดระวังมากขึ้นว่าเทรนด์หลักของตลาดอาจพลิกเป็นการปรับตัวลงได้ นอกจากนี้ในระยะสั้นตลาดดูรับรู้และเก็งกำไรในประเด็นบวกจากการเจรจาการค้าไปแล้ว สะท้อนจากดัชนีหุ้นไม่ใช่เพียงแค่ในไทยแต่ทั่วโลกที่ปรับตัวขึ้นแรงมากหากพิจารณานับตั้งแต่จุดต่ำสุดในวันที่สหรัฐฯ ประกาศมาตรการภาษีนำเข้าแบบตอบโต้ในช่วงต้นเดือน เม.ย. ขณะที่มีความเสี่ยงเชิงลบหากสุดท้ายข้อเสนอการเจรจาการค้าของไทยที่เสนอให้กับสหรัฐฯ ถูกปัดตก ตลาดอาจพร้อมที่จะตอบสนองเชิงลบ

แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศวันนี้: ตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,195.77 จุด หลังจากตลาดรอปัจจัยเชิงบวกใหม่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เราประเมินว่าตลาดวันนี้มีแนวโน้มแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 1,180–1,210 จุดหลังจากหมดปัจจัยบวกระยะสั้นจากภาพเชิงบวกของต่างประเทศแม้ว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนออกมาดีกว่าที่เราและตลาดคาด แต่คิดเป็นเพียง 26% ของประมาณการกำไรทั้งปี 2025 ในขณะเดียวกันคาดว่าตลาดยังจับตาดูผลการเจรจาการค้าของไทยที่เสนอให้กับสหรัฐฯ สำหรับหุ้นเด่นในสัปดาห์นี้ เราแนะนำ PR9, GPSC, BTG, และ CK

ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:

  1. จีนและสหภาพยุโรปประกาศระงับการนำเข้าเนื้อไก่จากบราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ที่สุดของโลก หลังพบการระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรง (HPAI) ในฟาร์มแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของประเทศ โดยที่จีนประกาศระงับการนำเข้าเป็นระยะเวลา 60 วัน มองเป็นบวกเล็กน้อยกับ GFPT
  2. หลังจากการเจรจาครั้งแรกในรอบ 3 ปีระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กรุงอิสตันบูลล้มเหลว เนื่องจากเงื่อนไขจากรัสเซียไม่เป็นที่ยอมรับของยูเครน ท่ามกลางแรงกดดันจากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ให้ยุติความขัดแย้ง ด้าน EU และฝรั่งเศสได้กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าอาจออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่ ครอบคลุมภาคการเงินและพลังงาน หากรัสเซียไม่ยอมรับข้อเสนอหยุดยิง 30 วัน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาพลังงานปรับขึ้น เป็นบวกต่อPTTEP
  3. เมื่อวันที่ 16 พ.ค. นาย Chris Gordon ประธาน Wynn Development จากสหรัฐฯ เข้าพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความสนใจลงทุนในโครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ในไทย โดยเสนอแนวทางบริหารรีสอร์ตแบบมีมาตรการป้องกันปัญหาสังคม รัฐบาลไทยตอบรับและเห็นว่าเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ บริษัทระดับโลกอย่าง Galaxy, MGM, และ Genting จะหารือกับรัฐบาลไทยในวันที่ 19 พ.ค. ซึ่งถือเป็นจิตวิทยาเชิงบวกเล็กน้อยต่อหุ้นกลุ่มสายการบิน เช่น AAV และ BA.
  4. รัฐบาลประกาศพับแผนแจกเงิน 10,000 บาท ในโครงการ Digital Wallet เฟส 3 สำหรับคนอายุ 16–20 ปี จำนวน 2.7 ล้านคน ถูกยกเลิก โดยที่งบฯ 27,000 ล้านบาทของโครงการนี้จะถูกนำไปใช้ในมาตรการอื่นที่เหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่าเนื่องด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกผันผวนและผลกระทบจากสงครามการค้า-ภาษีของสหรัฐฯ ด้วยการยกเลิกมาตรการดังกล่าวอาจส่ง sentiment  เชิงลบกับกลุ่ม Commerce ขณะที่ QTD SSSG ของกลุ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมาประกอบกับ Private consumption คาดการณ์ว่าจะชะลอตัวลงใน 2H25
  5. บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ (Moody’s) ได้ปรับลดอันดับเครดิตของสหรัฐอเมริกาจากระดับสูงสุด “Aaa” ลงมาอยู่ที่ “Aa1” เนื่องจากความกังวลเรื่องหนี้สาธารณะที่พุ่งทะลุ 36 ล้านล้านดอลลาร์ และการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มองว่าการปรับลง Credit rating อาจส่งผลเชิงลบทางจิตวิทยากับ Bond yield ให้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นลบกับกลุ่ม Financials

Daily pick

GPSC: ราคาพื้นฐาน 41.50 บาท

เรามีมุมมองเชิงบวกกับ GPSC หลังรายงานกำไรจากผลประกอบการหลัก 1Q25 ที่ 1.20 พันลบ. เพิ่มขึ้น 39% YoY และ 63% QoQ มาจากอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้นและส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้แนวโน้มกำไรใน 2Q25 ยังคงแข็งแกร่ง โดยผู้บริหารได้ให้แนวทางว่าอุปสงค์จากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับต้นทุนพลังงานจะลดลง โดยราคาก๊าซธรรมชาติน่าจะลดลงประมาณ 5% และราคาถ่านหินลดลงประมาณ 10% ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบจากการปรับลดค่า Ft ประมาณ 0.1/kWh ประกอบกับแนวทางของ สนพ. มีการนำเสนอโครงการปรับโครงสร้างราคาก๊าซรวม (Pool Gas) ซึ่งอาจช่วยลดต้นทุนก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคการผลิตไฟฟ้าลงได้ประมาณ 30–50 บาท/mmBTU ที่จะหนุนให้ภาพของกำไร GPSC ปรับตัวดีขึ้น

PR9: ราคาพื้นฐานที่ 26.80 บาท

เรามีมุมมองเชิงบวกต่อ PR9 จากผลประกอบการใน 1Q25 ที่เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง โดยรายงานกำไรจากผลประกอบการหลักใน 1Q25 อยู่ที่ 200 ล้านบาท ดีกว่าที่เราคาด 5% และดีกว่าตลาด 4% เนื่องจากรายได้และอัตรากำไรที่ดีกว่าคาด โดยรายได้เติบโตราว 16% YoY จากคนไข้ต่างชาติที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ระดับ 88% YoY จากคนไข้อาหรับเพิ่มขึ้นราว 2 เท่าจาก 4Q24 และคนไข้ไทยที่เติบโตระดับ 3% นอกจากนี้ อัตรากำไรขั้นต้นทำสถิติสูงสุดที่ 36.7% ใน 1Q25 ซึ่งน่าจะเป็นผลจากความซับซ้อนของโรคที่เพิ่มขึ้น และการประหยัดต่อขนาด สัดส่วนรายได้ IPD อยู่ที่ 46% ใน 1Q25 เทียบกับ 40-43% ใน 8 ไตรมาสที่ผ่านมาอีกทั้งค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้รวมยังควบคุมได้ดี ประกอบกับมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งสัดส่วนเงินสดคิดเป็น 43% ของสินทรัพย์ทั้งหมดหรือประมาณ 2.8 พันล้านบาท

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ

วันวันจันทร์ ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจของจีน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial  production) เดือน เม.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ 5.7% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 7.7%YoY ต่อด้วย ดัชนียอดค้าปลีก (Retail sales) เดือน เม.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ 5.9% YoY ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ในส่วนของประเทศไทยมีการรายงาน TH 1Q25 GDP ตลาดคาดการณ์ที่ 2.9% YoY ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 3.2% YoY และปิดท้ายด้วย การายงานเงินเฟ้อครั้งสุดท้ายของฝั่งยุโรป (EU CPI ) เดือน เม.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ 2.2% YoY ทรงตัวจากครั้งก่อนหน้า

วันอังคาร ติดตาม Loan prime rate ของธนาคารกลางจีนระยะเวลา 1 ปีตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 3.00% ปรับลด 10bps จากครั้งก่อนหน้า และ Loan prime rate อายุ 5 ปีตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 3.50% ปรับลด 10 bps จากครั้งก่อนหน้า

วันพุธ ติดตามรายงานตัวเลขส่งออกจากกระทรวงพาณิชย์ (TH MOC Export) เดือน เม.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ 9.6%YoY ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 17.8% YoY และตัวเลขนำเข้า (TH MOC Import) ตลาดคาดการณ์ที่ 7.8%YoY ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 10.2% YoY

วันพฤหัสบดี ติดตามยอดขายรถใหม่ของประเทศไทย (New car sales) เดือน เม.ย. เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 55,789 คัน ต่อด้วยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของโซนยุโรปเบื้องต้น (HCOB Manufacturing PMI Flash) เดือน พ.ค. ตลาดคาดการณ์ที่ 49.3 จุดเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 49.0 จุด และการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐ (S&P Global US Manufacturing PMI Flash) เดือน พ.ค. โดยตลาดคาดการณ์ที่ 49.8 จุดชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้ารายงานที่ 50.2 จุด ต่อด้วยจำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดคาดการณ์ที่ 2.30 แสนตำแหน่งเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2.29 แสนตำแหน่ง

วันศุกร์ ติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่น (Japan Inflation)เดือน เม.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ 3.6% YoY ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า และเงินเฟ้อที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน ตลาดคาดการณ์ที่ 3.0% YoY เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 2.9% YoY ปิดท้ายด้วยตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐรายงานตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ (New home sale) เดือน เม.ย. ตลาดคาดที่ 6.90 แสนหลังชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 7.24 แสนหลัง

- Advertisement -