บล.กสิกรไทย: 

เศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค. : อุปสงค์ภายในประเทศอ่อนแอ แต่ส่งออกยังคงแข็งแกร่ง

ด้านอุปสงค์ : อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ แต่การส่งออกยังแข็งแกร่ง

  • ดัชนีชี้วัดสำคัญด้านอุปสงค์ส่งสัญญาณถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ผสมในเดือน พ.ค. โดยอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลง แต่การส่งออกยังคงแข็งแกร่ง โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI) ปรับตัวขึ้น 0.2% MoMSA และ 1.4% ในเดือน พ.ค. แม้ว่าดัชนีจะขยายตัวทั้ง MoMSA และ YoY ในเดือนนี้ แต่โมเมนตั้มการเติบโตยังคงต่ำอยู่ที่ประมาณ 1% เป็นเวลา 5 เดือนติดต่อกันแล้ว และการชะลอตัวดูได้ลุกลามจากแต่เดิมที่เห็นภาพการชะลอตัวในกลุ่มการใช้จ่ายสินค้ามูลค่าสูงไปสู่การบริโภคโดยทั่วไป สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าที่ลดลง 2.9% MoMSA และ 13.9% YoY เป็น 2.3 ล้านคนในเดือน พ.ค. ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 8.0% YoY แต่ลดลง 0.7% MoMSA ท่ามกลางความกังวลของผู้ประกอบการเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า อย่างไรก็ดี การส่งออกปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งในเกือบทุกหมวดจากการเร่งส่งออกก่อนที่สหรัฐฯ อาจจะมีการเริ่มเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ในอัตราที่สูง
ด้านอุปทาน : ชะลอตัวหลังเร่งผลิตเพื่อตุนสต๊อกและส่งออกในช่วงก่อนหน้านี้
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดเศรษฐกิจด้านอุปทานที่สำคัญ ปรับตัวลงเล็กน้อยที่ 0.6% MoMSA หลังจากมีผลิตเพื่อตุนสต๊อกและส่งออกสินค้าในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ยังคงเพิ่มขึ้น 1.9% YoY ในเดือน พ.ค. โดยดัชนี MPI ปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 2 เดือนในเชิง YoY นำโดยกลุ่มสินค้าในภาคการผลิตที่เชื่อมโยงกับการส่งออกสูง โดยเฉพาะยานยนต์ เช่น รถยนต์ไฟฟ้าและฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งสอดคล้องกับอุปสงค์การส่งออก
เสถียรภาพทางการเงิน : กนง. เลือกใช้แนวทาง wait-and-see
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยลดลง 0.57% YoY ฉุดจากราคาอาหารสด ทั้งผักและผลไม้ เนื่องจากมีอุปทานเพิ่มขึ้นมากในตลาดปีนี้ตามสภาพอากาศที่ช่วยหนุนผลผลิต ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน พ.ค. ไม่รวมราคาพลังงานและอาหารสดเพิ่มขึ้น 1.09% YoY ตามราคาอาหารแปรรูปที่สูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งผ่านต้นทุนของวัตถุดิบ เช่น เนื้อหมูและน้ำมันพืช แม้แรงกดดันเงินเฟ้อโดยรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ในเดือน มิ.ย. หลังจากที่เพิ่งมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน เม.ย. โดย กนง. มองว่าเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการชะลอตัวเพิ่มมากขึ้น แต่ กนง. เลือกใช้แนวทาง wait-and-see เพื่อประเมินผลกระทบของมาตรการผ่อนคลายก่อนหน้านี้ก่อน
คาดจะลดดอกเบี้ยนโยบายต่อ ท่ามกลางความเสี่ยงจากเศรษฐกิจถดถอย
  • เราคงคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตของ GDP ไทยในปี FY2568 ที่ 1.4% โดยมองจะเติบโตได้ 2.5-3.0% ในครึ่งแรกของปี 2568 หนุนจากการส่งออกที่แข็งแกร่งและฐานที่ต่ำเมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี โมเมนตั้มการเติบโตน่าจะชะลอตัวลงเหลือที่ราว -1 ถึง +1% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ท่ามกลางความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค ทั้งนี้เราเชื่อว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำอาจส่งผลให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม ซึ่งเราคาดจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 25bps ในครึ่งหลังของปี 2568 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.50% สำหรับสิ้นปี ด้วยแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่อ่อนแอ และบรรยากาศการลงทุนในไทยยังดูไม่สนับสนุนเราจึงยังคงกลยุทธ์การลงทุนแบบตั้งรับโดยเน้นหุ้นที่มีเหตุการณ์บวกเฉพาะ (TRUE), หุ้นที่มีอัตราเงินปันผลสูง (SCB และ SPALI), และหุ้นที่เน้นตลาดโลก (PTTEP)

- Advertisement -