กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น “การเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าข้ามพรมแดนแบบไร้กระดาษในเอเชียและแปซิฟิก หรือ CPTA (Framework Agreement on Facilitation of Cross-border Paperless Trade in Asia and the Pacific)” ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 7 ชั้น 5 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เร่งปูทางประเทศไทยสำหรับ Paperless Trade การค้าข้ามพรมแดนแบบไร้กระดาษ ยกระดับขีดความสามารถด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยสู่มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “นโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับ ทิศทางการผลักดันการค้าข้ามพรมแดนแบบไร้กระดาษ” โดยระบุว่า เวทีนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการวางรากฐานอนาคตของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็น เพื่อสร้างความร่วมมือในการร่วมกันกำหนดทิศทางที่ชัดเจนต่อการขับเคลื่อนประเทศสู่การค้าข้ามพรมแดนแบบไร้กระดาษ (Paperless Trade) รวมถึงการร่วมประเมินความพร้อมของประเทศให้สามารถก้าวสู่การเป็นภาคีของความตกลง CPTA ได้อย่างมั่นใจ โดยข้อมูลที่ได้จากเวทีนี้ จะถูกรวบรวมและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการเข้าร่วมเป็นภาคี CPTA ลำดับต่อไป

CPTA หรือ ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าข้ามพรมแดนแบบไร้กระดาษในเอเชียและแปซิฟิก เป็นความตกลงระหว่างประเทศ จัดทำขึ้นภายใต้กรอบของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UN ESCAP) ที่ออกแบบมาเพื่อเปลี่ยนโฉมการค้าระหว่างประเทศในเอเชีย–แปซิฟิก สู่ระบบ “ไร้กระดาษ” (Paperless) อย่างเต็มรูปแบบ โดยเป้าหมายสำคัญของความตกลงนี้ คือการผลักดันให้ประเทศสมาชิกสามารถดำเนินธุรกรรมทางการค้าแบบดิจิทัลได้อย่างไร้รอยต่อ เชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อ SMEs ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจในภูมิภาค

สำหรับประเทศไทย กระทรวง ดีอี ภายใต้การดำเนินงานของ ETDA หน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนความพร้อมของประเทศสู่การเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTA โดยเฉพาะในด้านกฎหมาย มาตรฐาน และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อให้ไทยสามารถก้าวสู่ระบบการค้าไร้กระดาษได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย ซึ่งหากประเทศไทยเข้าร่วม CPTA อย่างเป็นทางการ จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการยกระดับภาพลักษณ์ไทยบนเวทีโลก และสร้างความร่วมมือกับประเทศสมาชิก นับเป็นก้าวแรกของการค้าระหว่างประเทศในโลกยุคดิจิทัลที่ไทยไม่ควรพลาด

“การผลักดันให้ภาครัฐก้าวสู่ระบบไร้กระดาษ คือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สู่เป้าหมาย ‘ประเทศไทย 4.0’ และรัฐบาลดิจิทัล โดยความตกลง CPTA คือกลไกสำคัญที่ช่วยเปิดประตูให้ไทยเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจดิจิทัลโลก ทั้งในมิติของความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และมาตรฐานดิจิทัลร่วมกันกับนานาประเทศ และในขณะนี้ ประเทศไทยพร้อมสำหรับการก้าวไปสู่ระบบ Paperless แล้ว โดยสามารถรองรับการทำสัญญาแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract) ที่ไม่ว่าอยู่ทีไหนก็สามารถติดต่อทำธุรกรรมทางออนไลน์ได้ และครั้งนี้ ประเทศไทย จะร่วมได้แสดงศักยภาพในฐานะประเทศนำร่องสร้างระบบการค้าไร้กระดาษที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และยกระดับความสามารถการแข่งขันทางดิจิทัลของไทยในเวทีโลกได้อย่างแท้จริง” ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฎ์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน Mr. Yann Duval ผู้แทนคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UN ESCAP) ที่ร่วมบรรยายในหัวข้อ “ประโยชน์และ Use Case ของการเข้าร่วม CPTA” กล่าวว่า ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก การอำนวยความสะดวกทางการค้าแบบไร้กระดาษจะไม่เพียงช่วยลดต้นทุนและเวลาในกระบวนการนำเข้า–ส่งออกเท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างความโปร่งใส และเชื่อมโยงระบบระหว่างประเทศสมาชิกให้แข็งแกร่งและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น พร้อมกล่าวชื่นชมประเทศไทยที่แสดงให้เห็นถึง ความตั้งใจอย่างจริงจังในการยกระดับกระบวนการทางการค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมในด้านกฎหมาย โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ภายในประเทศ และแสดงความเชื่อมั่นว่า ความตกลง CPTA จะกลายเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความร่วมมือด้านนโยบายและเทคโนโลยีระหว่างประเทศสมาชิก โดยเฉพาะในเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันการค้าไร้กระดาษให้เกิดขึ้นจริงในภูมิภาคเอเชีย–แปซิฟิก

ในงานยังมี เวทีเสวนาในหัวข้อ “พันธกรณีภายใต้การเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง CPTA” โดยผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คุณทศวรรณ เสมอวงษ์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ กระทรวง ดีอี , คุณสุทธาทิพย์ วาทิตต์พันธุ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนางานกฎหมายระหว่างประเทศ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ, คุณไวนิกา อานามนารถ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, คุณสรรพสุข วิจัยวรกิจ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายและความร่วมมือระหว่างประเทศ กองบริหารจัดการและพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง , คุณขนิษฐ์ ผาทอง ที่ปรึกษา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และคุณกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย อีกด้วย

โดย คุณขนิษฐ์ ผาทอง ที่ปรึกษา ETDA ได้เปิดเผยถึงความพร้อมของประเทศไทย ว่า ที่ผ่านมาไทยเองได้มีการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระบบ Paperless Trade แล้วทั้งในมุมของการมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องรองรับ อาทิ การเข้าร่วมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการใช้การสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ในสัญญาระหว่างประเทศ (ECC) และ กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Transaction Act) รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สำคัญ ได้แก่ Digital ID, e-Signature, e-Document และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามพรมแดนผ่านระบบ National Single Window (NSW) โดยมี ETDA ที่เป็นหน่วยงานที่อยู่เบื้องหลังของการขับเคลื่อนทั้งในมุมของการร่วมพัฒนากฎหมาย มาตรฐานเพื่อให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศสอดคล้องตามมาตรฐานสากล เกิดการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลทางการค้าระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพิจารณาและเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าร่วมความตกลง CPTA โดยมีผู้แทนจากหลากหลายภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อแนวทางดำเนินงานในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะที่ได้รับจะถูกนำไปประกอบการพิจารณาในขั้นตอนต่อไป เพื่อประเมินความเหมาะสมในการขับเคลื่อนนโยบายและพัฒนาระบบสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับการค้าข้ามพรมแดนแบบไร้กระดาษในอนาคตของไทยต่อไป-ติดตามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่เพจ ETDA Thailand

- Advertisement -