Daily Focus: ขาดปัจจัยใหม่ รีบาวด์อ่อนๆ

ตลาดหุ้นวานนี้: SET Index เปิดตลาดเช้า ปรับลงทันทีเกือบ 10 จุดตามภูมิภาค รับข่าว Moody’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือสหรัฐฯ ระหว่างวันมีจังหวะฟื้นตัวได้บ้าง ไม่รับข่าว GDP 1Q25 ของไทยที่ดีกว่าคาด ดัชนีซึมลงในภาคบ่ายและปิดลบ 8.71 จุด ปิดที่ 1,187.06 จุด มูลค่าการซื้อขายยังคงเบาบาง 3.7 หมื่นลบ. โดยรวมตลาดยังขาดปัจจัยใหม่ นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิในตลาดหุ้นบางๆ 174 ลบ. (แต่ Long Index Futures สุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 พันสัญญา) นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อหุ้นสุทธิ 88 ลบ.

แนวโน้มตลาดวันนี้: เราคาด SET Index จะแกว่ง Sideways ในกรอบ 1,180-1,200 จุด มีโอกาสรีบาวด์จากระดับปิดวานนี้ซึ่งเป็นแนวรับ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังไร้ปัจจัยใหม่ GDP 1Q25 ของไทยแม้จะดีกว่าคาด แต่ตลาดไม่ตอบสนอง และ 1Q25 อาจเป็นจุดสูงสุดของปีนี้ ขณะที่การประชุมบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจวานนี้ไม่มีการเคาะมาตรการใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจแทนการแจกเงินหมื่น สำหรับโทนการประชุมนักวิเคราะห์ของ บจ. ในไทยยังให้ภาพบวกลบสลับกัน อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกยังมีความไม่แน่นอนสูงจากภาษี Reciprocal Tariff ของสหรัฐที่ผ่านมา 40 วันจากระยะพักการขึ้นภาษี 90 วัน ส่วนกลุ่มธุรกิจที่อาศัยกำลังซื้อในประเทศดูค่อนข้างอ่อนแรง ประมาณการ EPS ของ SET ปัจจุบันที่ 90 บาท ยังมีความเสี่ยงจะถูกปรับลงอยู่ เราจึงยังคงประเมินว่า Upside ของ SET Index ที่ระดับราว 1,200 จุดในระยะสั้นยังคงจำกัด จึงยังเน้นเลือกหุ้นที่มีแนวโน้มกำไรแข็งแกร่งและมั่นคง โดยเฉพาะสินค้าและบริการจำเป็นที่ราคายัง Laggard มีแนวโน้มที่จะปรับตัวได้ดีกว่าตลาด

กลยุทธ์: ยังเน้น Selective Buy หุ้นที่มีแนวโน้มกำไร 1Q25-2025 แข็งแกร่ง และโดยเน้นกลุ่มสินค้าและบริการจำเป็นท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ

หุ้นเด่นเดือน พ.ค.: CPALL, MTC, NSL, OSP, PR9

FSSIA Portfolio: BA, BTG, CPALL, KBANK, MTC, NSL, PR9, STECON

หุ้นเด่น Finansia 20 พ.ค. 25 : ADVANC

  • แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายเฉลี่ยจาก IAA Consensus ที่ 314.43 บาท
  • แนวโน้มกำไร 2Q25-2H25 คาดยังแข็งแรงต่อเนื่องหนุนจากทั้งฝั่งรายได้ที่คาดว่ายังเติบโตแข็งแรง ขณะที่ต้นทุนไม่มีแรงกดดันเพิ่มเติมหลังไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่เหมือนช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รวมถึงภาพการแข่งขันที่เบาลง 
  • ส่วนการประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่เราคาดว่าจะไม่แพงเท่าในอดีต ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์ระยะยาวลดลงและเป็นบวกต่อกำไรสุทธิ ประมาณการกำไรปี 2025 ของ Consensus ล่าสุดถูกปรับขึ้นเป็น 3-5% สู่ระดับ 4-4.1 หมื่นลบ. +16% y-y
  • แนวรับ 290-285 บาท แนวต้าน 299-307 บาท 

Fund Flow: วานนี้กระแสเงินทุนต่างชาติพลิกมาไหลออกจากภูมิภาคสุทธิ US$594 ล้าน การไหลออกกระจุกตัวที่ไต้หวัน US$500 ล้าน รองลงมาเป็นเกาหลีใต้ US$107 ล้าน ส่วนฝั่งอาเซียน เม็ดเงินไหลเข้าอินโดนีเซีย US$22 ล้าน แต่ไหลออกจากไทย US$5 ล้าน แนวโน้มของกระแสเงินทุนคาดว่าจะไหลออกต่อเนื่อง ยังไร้ปัจจัยบวกใหม่ นักลงทุนยังคงจับตาความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า

ประเด็นสำคัญวันนี้

(0) GDP 1Q25 ของไทยขยายตัว 3.1% y-y สูงกว่าตลาดคาดที่ 2.9-3.1% y-y แต่สภาพัฒน์ฯ ลดคาดการณ์ GDP ปี 2025 เหลือโต 1.3-2.3% จากเดิมคาดโต 2.3-3.3% ยอดส่งออกสุทธิ และการลงทุนภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ขณะที่การบริโภคในประเทศส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง ดังนั้นเชื่อว่าโมเมนตัม GDP ในช่วง 2Q-2H25 น่าจะชะลอตัวจากผลกระทบจากภาษีทรัมป์

(+) SJWD โทนประชุมเป็นบวก แนวโน้มกำไรในช่วงที่เหลือของปีดีต่อเนื่อง ธุรกิจ Automotive แม้ 2Q จะเป็น low season แต่ปีนี้ลูกค้าค่ายรถยนต์ต้องผลิต 1.5 เท่าของรถที่นำเข้ามาขายภายใน 2 ปี ธุรกิจห้องเย็นและคลังสินค้า ทุกครั้งที่มี disruption มักมี demand เพิ่ม ส่วนธุรกิจห้องเย็น บริษัทเปิดห้องเย็นใหม่หลายหลังและขยายไปในพื้นที่ต่างจังหวัด ธุรกิจ Cross border มีแนวโน้มได้ประโยชน์จากปรับเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งจาก Trump Tariff ราคาหุ้นยังต่ำกว่า Book value 1Q25 ที่ 12.8 บาท ยืนยันคำแนะนำ “ซื้อ”

(0) SIRI โทนประชุมเป็นกลาง ยอด Presales 2QTD ไม่น่าตื่นเต้น 2.7 พันลบ. และตั้งเป้าจบ 2Q25 ที่ 1 หมื่นลบ. -25% q-q, -6% y-y จากการเปิดโครงการใหม่น้อยลงเหลือ 4 แห่ง กระจุกตัวในเดือนมิ.ย. ผู้บริหารประเมินแผ่นดินไหวไม่กระทบอย่างมีนัยต่อยอด Presales และยอดโอนของคอนโด เนื่องจากประเภท High-rise พร้อมโอนเหลือน้อย รวมถึงโครงการที่เปิดตัวและสร้างเสร็จใหม่เป็น Low-rise ภาพรวมอสังหาฯ ยังซบเซาจากหลายปัจจัยกดดัน เราคาดกำไรปกติ 2Q25 ลดลง y-y แต่ฟื้นตัว q-q หนุนจากการเริ่มโอนคอนโดใหม่ 3 แห่ง โมเมนตัมกำไร 2H25 จะดีขึ้น h-h จากคอนโดสร้างเสร็จใหม่และการเปิดตัวแนวราบมากขึ้น รวมถึงคาดมีกำไรพิเศษจากการเซ็น JV ใหม่ 2-3 แห่ง คงคาดกำไรปกติปีนี้ -14% y-y คงราคาเป้าหมาย 1.50 บาท ยังแนะนำ “ถือ”

(+) กลุ่มไก่: พบไข้หวัดนกในบราซิล ทำให้ยุโรปและจีนระงับการนำเข้าเนื้อไก่เป็นเวลา 60 วัน ส่วนประเทศอื่นๆ อาทิ ญี่ปุ่น ซาอุ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระงับนำเข้าเฉพาะพื้นที่ที่พบการระบาด เป็น sentiment เชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มไก่ GFPT CPF TFG BTG หากบราซิลไม่สามารถจำกัดการระบาดได้ จะกระทบการส่งออกของบราซิล ซึ่งเป็นผู้เลี้ยงและส่งออกไก่มากเป็นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 21% และ 36% ของปริมาณการผลิตและการส่งออกของโลก และอาจเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่เป็นผู้เลี้ยงไก่อันดับ 7 (3.4%) และส่งออกไก่เป็นอันดับ 4 (8.5%) ของโลก ทั้งนี้ราคาไก่ไทยล่าสุด เดือน พ.ค. ยืนทรงตัวดีที่ 40-42 บาท/กก.

(+) ตลาดดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 137.33 จุด หรือ +0.32%, ปิดที่ 42,792.07 จุด โดยดัชนีฟื้นตัวหลังจากนักลงทุนซึมซับข่าวมูดี้ส์ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และบรรดาประเทศคู่ค้า

(0) ตลาดหุ้นยุโรปปิดทรงหลังจากปิดบวกต่อเนื่อง 5 สัปดาห์ ขณะที่แรงกดดันจากการลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ได้ถูกชดเชยด้วยการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาแข็งแกร่ง

(+) ตลาดหุ้นเอเชีย เปิดบวก โดยได้รับแรงหนุนจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวกเมื่อวานนี้

(+) ค่าเงินบาท แข็งค่าอยู่ที่บริเวณ 33.14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หรือ -0.62%

(+) ราคาน้ำมันดิบ NYMEX เพิ่มขึ้น 20 เซนต์ หรือ 0.32% ปิดที่ 62.69 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยได้แรงหนุนจากสัญญาณที่บ่งชี้ว่าการเจรจาด้านนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านอาจสะดุดลง ซึ่งช่วยบดบังปัจจัยลบจากข่าวมูดี้ส์ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะเดียวกันเช้านี้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 62.75 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือ 0.10%

(+) ราคาทองคำ COMEX เพิ่มขึ้น 46.20 ดอลลาร์ หรือ 1.45% ปิดที่ 3,233.50 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และจากการที่นักลงทุนเข้าสู่ทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากมูดี้ส์ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะเดียวกันเช้านี้ลดลงอยู่ที่ระดับ 3,224.70 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือ -0.27%

SPDR Gold Trust ถือครองทองคำ 921.03 ตัน / +0.25%

ปัจจัยที่ต้องติดตาม

20 พ.ค.จีน: Loan Prime Rate 1Y // แคนนาคา: เงินเฟ้อ (เม.ย.)
21 พ.ค.อังกฤษ: เงินเฟ้อ (เม.ย.) // ญี่ปุ่น: ส่งออก (เม.ย.)
22 พ.ค.สหรัฐ: Existing Home Sales (เม.ย.)

G7: Meeting of Finance Ministers and Central Bank Governors

23 พ.ค.ญี่ปุ่น: เงินเฟ้อ (เม.ย.) // อังกฤษ: ยอดค้าปลีก (เม.ย.)

สหรัฐ: New Home Sales (เม.ย.)

 

- Advertisement -