KS Daily View 20.05.2025 >>> SET รับแรงกดดันต่อ จากประมาณการ GDP/ เจรจาการค้าไทย-สหรัฐฯ มองกรอบ SET วันนี้ 1,160-1,190 จุด แนะนำ GFPT และ PR9

แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศวันนี้:ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 0.09%, Nasdaq Composite เพิ่มขึ้น 0.02% และ Dow Jones เพิ่มขึ้น 0.32% ภาพรวมตลาดค่อนข้างทรงตัว โดยที่นักลงทุนมองข้ามการปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐจากMoody’s อย่างไรก็ตามตลาดยังคงรอความคืบหน้าเพิ่มเติมจากเจรจานโยบายภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กับประเทศอื่น

ตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,187.06 จุด ลดลง 8.71 จุด (-0.73%) จากการปรับตัวลดลงของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์หลังเปิดเผยแนวโน้มการเติบโตของรายได้อาจชะลอตัวใน2H25, กลุ่มค้าปลีกหลังจากที่รัฐบาลชะลอโครงการแจกเงิน 10,000 บาท, และกลุ่มพลังงาน เราคาดการณ์ว่า SET Index ของไทยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากวันที่ผ่านมา ประเมินกรอบที่ 1,160-1,190 จากแรงกดดันของการปรับประมาณการ GDP ของไทยโดยสภาพัฒน์ในปี 2025 ลงเหลือ 1.3–2.3% จากเดิม 2.3–3.3% ประกอบกับภาพในต่างประเทศที่การเจรจาการค้าทั่วโลกคืบหน้าช้า หนุนให้สหรัฐฯอาจมีแผนใช้ระบบเก็บภาษีศุลกากรแบบรายภูมิภาคหลังจากที่หมดช่วงผ่อนผันไป 90 วัน ด้วยสภาพแวดล้อมการลงทุนตึงตัว เราจึงแนะนำการลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะ ประกอบกับแนวโน้มผลประกอบการเติบโตต่อเนื่องใน 2Q25 อย่าง GFPT และ PR9

ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:

  1. ญี่ปุ่นระงับการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกจากเมืองมอนเตเนโกรในบราซิลตอนใต้ และห้ามนำเข้าสัตว์ปีกมีชีวิตจากรัฐรีโอกรันดีโดซูล หลังพบการระบาดของไข้หวัดนกในฟาร์มสัตว์ปีกของบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ของโลก โดยคำสั่งมีผลตั้งแต่ 16 พ.ค. ขณะที่จีนและ EU ก็เริ่มใช้มาตรการคล้ายกัน โดยที่ ญี่ปุ่นนำเข้าไก่จากบราซิลถึง 70% ของการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกทั้งหมด  จากข่าวเรามีมุมมองเชิงบวกกับกลุ่มส่งออกไก่อย่าง CPF, BTG และ GFPT โดยเรามองเป็นบวกต่อ GFPT ที่ส่งออกไก่เป็นหลักโดยที่มีสัดส่วนการส่งออกไป Japan 21%, China 14% และ EU 12%  ในขณะเดียวกัน ต้นทุนอาหารสัตว์ที่ยังคงลดลง โดยที่ราคากากถั่วเหลืองเฉลี่ยในเดือนเม.ย.อยู่ที่ 16.3 บาท/กก. ลดลง 2.9% จากค่าเฉลี่ย 1Q25 หนุนแนวโน้มการขยายตัวของอัตรากำไรในเชิง QoQ อย่างต่อเนื่อง
  1. สำนักงานสภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2025 เหลือ 1.3–2.3% (ค่ากลาง 1.8%) จากเดิม 2.3–3.3% จากการส่งออกที่ชะลอตัวจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าสหรัฐฯ ความกดดันในภาคอุตสาหกรรมจากการนำเข้าและการแข่งขันด้านราคา รวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวช้า ขณะเดียวกันเศรษฐกิจในประเทศยังถูกจำกัดด้วยหนี้สินสูงและความผันผวนในภาคเกษตร เราคาดว่าการปรับประมาณการ GDP ลงจะส่งผลเชิงลบต่อสภาพแวดล้อมการลงทุนของไทย
  1. สหรัฐฯอาจมีแผนใช้ระบบเก็บภาษีศุลกากรแบบรายภูมิภาคแทนรายประเทศ เนื่องจากการเจรจาการค้าทั่วโลกคืบหน้าช้า โดยประธานาธิบดีทรัมป์จะส่งหนังสือแจ้งอัตราภาษีให้แต่ละประเทศภายใน 2–3 สัปดาห์ ขณะนี้มุ่งเน้นเจรจากับคู่ค้าสำคัญ 18 ประเทศ เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยมีภาษีพื้นฐาน 10% และอัตราที่สูงกว่าสำหรับประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐ ทั้งนี้ หากการเจรจาไม่คืบหน้า สหรัฐฯ อาจกลับไปใช้อัตราภาษีเดิมที่ประกาศไว้เมื่อ 2 เม.ย. หลังการระงับภาษีชั่วคราว 90 วันสิ้นสุดต้นเดือนก.ค. ในขณะเดียวกัน เกาหลีใต้เตรียมเจรจาในวันที่ 20 พ.ค. นี้ มองเป็นจิตวิทยาเชิงลบกับกลุ่มส่งออกอย่าง AAI ITC DELTA HANA
  1. ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอ เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านการท่องเที่ยวในเมืองรอง โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นเพื่อกระจายรายได้และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานท่องเที่ยว กิจการที่ได้รับการส่งเสริม ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ ท่าเรือ สนามแข่งรถ กระเช้าไฟฟ้า ฯลฯ หากลงทุนใน 55 จังหวัดเมืองรอง จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเดิม 5 ปี เป็น 8 ปี ส่วนโรงแรมจะได้เพิ่มจาก 3 ปี เป็น 5 ปี มองเป็นจิตวิทยาเชิงบวกเล็กน้อยกับกลุ่มสายการบินAAV BA

Daily pick

GFPT: ราคาพื้นฐานที่ 13.40 บาท 

หลังจากรายงานกำไร 1Q25 ที่ 641 ลบ. เพิ่มขึ้น 37.6%YoY และ 65% QoQ โดยผลประกอบการสูงกว่าคาดไป 12% ในขณะเดียวกันคาดว่า GFPT จะได้ประโยชน์หลังจากที่ จีน ยุโรป ญี่ปุ่น สั่งห้ามนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกจากบราซิลหลังจากมีการระบาดไข้หวัดนก โดยที่ GFPT มีสัดส่วนการส่งออกไป Japan 21%, China 14% และ EU 12% ในขณะเดียวกัน ต้นทุนอาหารสัตว์ยังคงลดลง โดยที่ราคากากถั่วเหลืองเฉลี่ยในเดือนเม.ย.อยู่ที่ 16.3 บาท/กก. ลดลง 2.9% จากค่าเฉลี่ย 1Q25 หนุนแนวโน้มการขยายตัวของอัตรากำไรในเชิง QoQ อย่างต่อเนื่อง

PR9: ราคาพื้นฐานที่ 27.90 บาท 

เรามีมุมมองเชิงบวกต่อ PR9 จากผลประกอบการใน 1Q25 ที่เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ขณะที่แนวโน้มใน 2Q25คาดว่าจะเติบต่อเนื่องทั้ง YoY, QoQ จากการกลับมาของผู้ป่วยตะวันออกกลางมากขึ้นหลังจากผ่านช่วง รอมฎอนไปแล้วใน 1Q25 ในขณะเดียวกันผู้บริหารได้ให้มุมมองเชิงบวกว่าคุณภาพการรักษาและการตั้งราคาที่เหมาะสมเป็นข้อได้เปรียบสำคัญของ PR9 จะส่งผลให้รายได้จากคนไข้ต่างชาติเติบโตต่อเนื่องจาก 1Q25 ที่ทำได้อย่างแข็งแกร่งที่ระดับ 88% YoY

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ

วันอังคาร ติดตาม Loan prime rate ของธนาคารกลางจีนระยะเวลา 1 ปีตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 3.00% ปรับลด 10bps จากครั้งก่อนหน้า และ Loan prime rate อายุ 5 ปีตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 3.50% ปรับลด 10 bps จากครั้งก่อนหน้า

วันพุธ ติดตามรายงานตัวเลขส่งออกจากกระทรวงพาณิชย์ (TH MOC Export) เดือน เม.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ 9.6%YoY ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 17.8% YoY และตัวเลขนำเข้า (TH MOC Import) ตลาดคาดการณ์ที่ 7.8%YoY ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 10.2% YoY

วันพฤหัสบดี ติดตามยอดขายรถใหม่ของประเทศไทย (New car sales) เดือน เม.ย. เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 55,789 คัน ต่อด้วยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของโซนยุโรปเบื้องต้น (HCOB Manufacturing PMI Flash) เดือน พ.ค. ตลาดคาดการณ์ที่ 49.3 จุดเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 49.0 จุด และการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐ (S&P Global US Manufacturing PMI Flash) เดือน พ.ค. โดยตลาดคาดการณ์ที่ 49.8 จุดชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้ารายงานที่ 50.2 จุด ต่อด้วยจำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดคาดการณ์ที่ 2.30 แสนตำแหน่งเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2.29 แสนตำแหน่ง

วันศุกร์ ติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่น (Japan Inflation)เดือน เม.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ 3.6% YoY ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า และเงินเฟ้อที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน ตลาดคาดการณ์ที่ 3.0% YoY เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 2.9% YoY ปิดท้ายด้วยตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐรายงานตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ (New home sale) เดือน เม.ย. ตลาดคาดที่ 6.90 แสนหลังชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 7.24 แสนหลัง

- Advertisement -