นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน แถลงผลการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่อมุมมองในด้านการลงทุนและคาดการณ์ทิศทางดัชนีราคาหุ้นไทย (SET Index) โดยครั้งนี้มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 22 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์จำนวน 18 บริษัท บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจำนวน 2 บริษัท และบริษัทโกลด์ฟิวเจอร์ส 2 บริษัท ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
สมมติฐาน GDP ปี 68 นั้นผู้ตอบทุกรายมองว่าเป็นบวก ผู้ตอบที่ให้ตัวเลขต่ำสุดคือ 1.4% ตัวเลขสูงสุดคือ 2.4%โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.87% ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อน (เม.ย.68) ซึ่งเคยใช้สมมติฐานที่ 2.56%
ทางด้านสมมติฐานราคาน้ำมัน มีค่าเฉลี่ยของผู้ตอบแบบสอบถามที่ 68.65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยแยกตามกลุ่ม มีผู้ตอบดังนี้
- 60 – 699 เหรียญสหรัฐ มีผู้ตอบร้อยละ 50
- 70 – 79.99 เหรียญสหรัฐ มีผู้ตอบร้อยละ 45
- 80 – 89.99 เหรียญสหรัฐ มีผู้ตอบร้อยละ 5
ทั้งนี้ Risk Free Rate ที่ใช้ในการประเมินมูลค่าจากผู้ตอบ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.22% และทางด้านสมมติฐาน Risk Premium ของตลาด ที่ใช้ในการประเมินมูลค่า อยู่ที่ 7.74%
ผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุน โดยผู้ตอบร้อยละ 36.36 มองว่าดัชนีราคาหุ้นไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 มีแนวโน้ม Sideways หรือไม่เปลี่ยนแปลงไปมากจากไตรมาส 2 มากนักและมองว่ามีแนวโน้มไปในทิศทางลบที่เท่ากัน ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 27.27 มองว่ามีแนวโน้มไปในทิศทางบวก
โดยปัจจัยหลักที่น่าจับตามองที่มีผลต่อการขับเคลื่อนตลาดในไตรมาส 3 ได้แก่ การเมืองในประเทศ ตามมาด้วยผลการเจรจาภาษีนำเข้าระหว่างไทย – สหรัฐ
คาดการณ์ค่าเฉลี่ยดัชนีหุ้นไทยสิ้นไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้นักวิเคราะห์ และผู้จัดการกองทุนคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1,166 จุด
เมื่อให้มองยาวไปจนถึงสิ้นปี 2568 ปัจจัยที่มีผลบวกต่อดัชนีราคาหุ้นไทยในปี 2568 ได้แก่ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ผู้ตอบแบบสำรวจ 90.91% เทคะแนนให้อย่างชัดเจนว่าเป็นผลบวก และรองลงมาผู้ตอบ 72.73% โหวตให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ
ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลในด้านลบต่อตลาดทุนไทยในขณะนี้จนถึงสิ้นปี 2568 ได้แก่ ปัจจัยด้านการเมืองในประเทศ 100% ของผู้ตอบทั้งหมด เทคะแนนให้อย่างชัดเจนว่าเป็นผลลบ รองลงมาเศรษฐกิจภายในประเทศ มีผู้ตอบ 85.71% ตามมาด้วย Fund Flows ไหลออก และปัจจัยขัดแย้งไทย-กัมพูชา มีผู้ตอบ 80.95% เท่ากันที่มองว่ามีผลกระทบในทางลบ
สมาคมนักวิเคราะห์ฯ ได้สอบถามความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนเกี่ยวกับ ข้อเสนอแนะว่ารัฐบาลควรมีนโยบายเรื่องใดที่มีผลบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ คุ้มค่ากับผลกระทบทางงบประมาณ ส่วนใหญ่เสนอให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แยกเป็นร้อยละ ร้อยละ 40.74 ของผู้ตอบ เสนอให้เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนภาครัฐที่หนุนศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ พัฒนาอุตสาหกรรม New S-Curve และเทคโนโลยี ถัดมาจำนวนร้อยละ 37.04 ของผู้ตอบ เสนอด้านการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ได้แก่ ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ควบคุมการสวมสิทธิ์ ลดการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนกดดันผู้ประกอบการในประเทศ และผู้ตอบ ร้อยละ 22.22 เสนอนโยบายช่วยเหลือภาคประชนได้แก่ มาตรการลดหย่อนภาษี โครงการคนละครึ่ง สนับสนุนการศึกษา ส่งเสริมวิชาชีพ และพัฒนาทักษะแรงงาน
ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ณ สิ้นปี 2568 มีนักวิเคราะห์ถึง 71% ที่คาดว่าลดลงจากเดิมมาอยู่ที่ 1.50% รองลงมามี 29% ของผู้ตอบ มองว่าอาจลดลงมาที่ 1.25% (ณ ปัจจุบัน 30 กรกฎาคม อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.75%)
คาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของปี 2568 เฉลี่ยอยู่ที่ 85.43 บาท แยกตามกลุ่มผู้ตอบดังนี้
- 80 – 899 บาท มีผู้ตอบร้อยละ 83.33
- 90 – 999 บาท มีผู้ตอบร้อยละ 16.67
EPS Growth ของปี 2568 คาดว่า EPS Growth เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 10.45 เมื่อแยกตามช่วงระดับการเติบโต จะอยู่ระหว่างร้อยละ
- – 1 ถึง -9.99 มีผู้ตอบร้อยละ 14
- 1 ถึง99 มีผู้ตอบร้อยละ 21.43
- 10 ถึง99 มีผู้ตอบร้อยละ 64.29
- 20 ถึง99 มีผู้ตอบร้อยละ 7.14
สำหรับจุดสูงสุดของ SET Index ช่วง ก.ค. – ธ.ค. 68 เฉลี่ยที่ระดับ 1,267 จุด ทั้งนี้มีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 55.56 คาดว่าดัชนีจะทำจุดสูงสุดที่ 1,201 – 1,300 จุด รองลงมาผู้ตอบร้อยละ 22.22 มองเท่ากัน โดยคาดว่าจุดสูงสุดจะอยู่ในช่วง 1,101 – 1,200 และ 1,301 – 1,400
เมื่อมองจุดต่ำสุดของปี 2568 นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุน คาดการณ์จุดต่ำสุดของดัชนีราคาหุ้นไทย (SET Index) ช่วง ก.ค. – ธ.ค. 68 มีค่าเฉลี่ยจุดต่ำสุดที่ 1,023 จุด
ทั้งนี้นักวิเคราะห์ และผู้จัดการกองทุนคาดเป้าหมายดัชนี ณ วันสิ้นปี 2568 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,231 จุด
ความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนเกี่ยวกับการจัดพอร์ตการลงทุน แนะนำ ให้มีเงินสด / เงินฝากระยะสั้นร้อยละ 11.50 ของพอร์ต และมีกองทุนตราสารหนี้ร้อยละ 20.25
ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงนั้น แนะนำให้แบ่งเงินลงทุนไว้ในหุ้นต่างประเทศหรือกองทุนหุ้นต่างประเทศ ร้อยละ 33.50 รองลงมา ลงทุนในหุ้นไทยหรือกองทุนหุ้นไทย ร้อยละ 19 ตามมาด้วยการแบ่งเงินลงทุนไว้ในทองคำ/ กองทุนทองคำ ร้อยละ 10.55 และกองทุนอสังหา/REIT ร้อยละ 5.20
โดยความเห็นต่อการลงทุนหุ้นต่างประเทศ / กองทุนหุ้นต่างประเทศ แนะนำกองทุนตราสารหนี้สหรัฐฯ หรือกลุ่ม AI-Technology และ Selective Asia เช่น จีนเวียดนาม อินเดีย เกาหลี
หุ้นเด่น
รายชื่อหุ้นที่นักวิเคราะห์แนะนำโดยมีจำนวนสำนักวิเคราะห์แนะนำตรงกันตั้งแต่ 6 สำนักขึ้นไป มีดังนี้ (เรียงชื่อตามอักษรย่อ)
- ADVANC มองว่าผลการดำเนินงานสำหรับ 2Q68 เติบโต โดยรายได้หลักๆ ธุรกิจมือถือ APRUเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงโมเมนตัมดี ส่วนธุรกิจลูกค้าองค์กร ได้แรงหนุน Data center and Cloud ขณะที่ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีก – พรีเมียร์ลีกอังกฤษ คาดส่งผลเชิงบวกในระยะยาวต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการ และต้องติดตามความคืบหน้าการประมูลคลื่น
- BDMS มองว่าเป็น Defensive play ที่ได้รับผลกระทบจำกัดจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่ ผลประกอบการ 2Q25 คาดได้แรงหนุนจากผู้ป่วยในประเทศที่เร่งตัวขึ้น ตามโรคระบาดที่กลับมาอีกครั้ง
- CPALL ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ และคาดกำไร 2Q25 ยังโตต่อเนื่อง
- GULF ปัจจัยสนับสนุนจากผลการดำเนินงานมั่นคงจากธุรกิจไฟฟ้าและ ADVANC จ่ายปันผลได้สม่ำเสมอ โอกาสเติบโตเข้าสู่ธุรกิจ Digital