บล.กสิกรไทย:
Macro Strategy : ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน
- การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน เมื่อวานนี้ (1 กรกฎาคม) คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวันเป็น 400 บาทในกรุงเทพมหานคร และในภาคธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมในพื้นที่ต่างจังหวัด ตามข้อเสนอของกระทรวงแรงงาน การปรับขึ้นครั้งนี้คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 7.5% จากค่าแรงขั้นต่ำเดิมที่ 372 บาท ใน กทม. ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
- คาดค่าแรงขั้นต่ำระดับประเทศจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 บาท การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะเมืองและภาคส่วนนี้ ซึ่งบังคับใช้เฉพาะในกรุงเทพฯ และภาคส่วนบริการบางภาคส่วน จะทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 4 บาท หรือ 1.1% ส่งผลให้ค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศอยู่ที่ 367 บาท ผลกระทบที่จำกัดนี้เกิดจากแรงงานในกรุงเทพฯ คิดเป็นเพียงประมาณ 14% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ
- คาดส่งผลกระทบจำกัดต่อตลาดและกำไรสุทธิปี 2568 ของกลุ่มอุตสาหกรรม จากหุ้นทั้งหมด 185 บริษัทที่เราวิเคราะห์อยู่ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่ราว 85% ของ market cap รวม การวิเคราะห์ความอ่อนไหวของเราพบว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำระดับประเทศทุก 1% จะส่งผลให้คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2568 ของตลาดลดลง 0.1% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มสินค้า personal care, เกษตรและอาหาร, กลุ่ม small และ mid cap และกลุ่มพาณิชย์
- ความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างการขึ้นค่าแรงและการบริโภคของภาคเอกชน อิงจากข้อมูลตั้งแต่ปี 2536 การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการบริโภคของภาคเอกชนและเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ผลกระทบดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้นเมื่อมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า 5-6% ภายในช่วงเวลาดังกล่าว ขณะเดียวกัน เราตั้งข้อสังเกตว่า SSSG ในกลุ่มพาณิชย์มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามการบริโภคของภาคเอกชนที่ดีขึ้นซึ่งบ่งชี้ถึงแนวโน้มการปรับตัวสูงขึ้นในทิศทางเดียวกัน
- ค่าแรงขั้นต่ำใหม่ส่งผลกระทบจำกัดต่อตลาด จากการที่ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นเพียง 1.1% เราจึงคาดว่าคาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) ของ SET Index ในปี 2568 จะยังคงอยู่ที่ 88 บาท โดยคาดการณ์กำไรรวมของบริษัทภายใต้การวิเคราะห์ของเราอยู่ที่ 8.82 แสนลบ. ซึ่งสะท้อนถึง downside risk ที่จำกัด ขณะเดียวกัน เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างอยู่ในระดับต่ำกว่าขีดจำกัด 5–6% ผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนและอัตราเงินเฟ้อจึงคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น เราจึงคงประมาณการ GDP ของไทยในปี 2568 ไว้ที่ 1.4%
- หากค่าแรงเพิ่มขึ้นเป็น 400 บาทต่อวัน อาจส่งผลบวกต่อ SSSG ของกลุ่มพาณิชย์ การปรับขึ้นค่าแรงอาจช่วยกระตุ้นการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งสอดคล้องกับSSSG ที่แข็งแกร่งขึ้นของกลุ่มพาณิชย์ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นและฟุ่มเฟือย ทั้งนี้ บริษัทที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ CPALL, CPAXT, BJC, และ CRC ในทางกลับกัน คาดว่ากลุ่มวัสดุตกแต่งและปรับปรุงบ้านจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากยอดขายของกลุ่มนี้ส่วนใหญ่สัมพันธ์กับการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐและความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างเป็นหลัก