“สหรัฐฯ” ประกาศแล้ว มีผล 1 สิงหาคม 68 ขึ้นภาษีไทย 36% สงผลกระทบวงกว้างต่อเศรษฐกิจ และการส่งออกครั้งใหญ่ของไทย ทำให้เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ หลังรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่นำโดยประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจาก 14 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยในอัตราสูงถึง 36% มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 มาตรการดังกล่าวได้สร้างความกังวลในวงกว้าง ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคการส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างรุนแรง
การตัดสินใจของสหรัฐฯ ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “การค้าที่เป็นธรรม” (Fair Trade) ที่มีเป้าหมายเพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าต่างๆ โดยจะส่งผลให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ มีราคาสูงขึ้นอย่างกะทันหัน และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่นที่ไม่ได้ถูกเก็บภาษีในอัตราเดียวกัน
“กอบศักดิ์” เร่งรัฐบาลแก้เกม
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า “ประเทศไทย 36% !!! เท่ากับรอบแรก เป็นคำเตือนว่าที่เสนอมา ยังไม่พอ ไม่โดนใจ ยังไม่ใช่ Good Deal กรุณาทำการบ้านเพิ่ม แล้วกลับมาต่อรองอีกรอบไม่เช่นนั้น ”จบที่เดิม“ ที่เคยประกาศไว้ที่ 2 เมษายน ซึ่งในรอบนี้ สหรัฐอาจจะไม่ถอย เพราะตลาดได้รับรู้ตัวเลขเหล่านี้ ไปแล้วครั้งหนึ่งผู้ประกอบการสหรัฐมีเวลาปรับตัวมา 90 วัน ถ้าตลาดหุ้นสหรัฐลงไม่มาก ในช่วง 2-3 วันข้างหน้า ลงไม่ถล่มทลายเหมือนต้นเมษายน ก็ยากที่จะมีใครมาเปลี่ยนใจท่านประธานาธิบดี Trump ได้
“สำหรับไทยถ้าเวียดนาม 20% มาเลเซีย 25% เราจะอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ 10-16% จะมีนัยยะอย่างยิ่งกับผู้ส่งออก ทำไมจะซื้อจากไทย ถ้าซื้อจากคู่แข่งถูกกว่า ยิ่งไปกว่านั้น มีนัยยะกับคนที่คิดจะมาลงทุนจะมาสร้างโรงงานทำไม เพราะถ้าสร้างเสร็จแล้ว ต้นทุนภาษีแพงกว่าคู่แข่ง ส่งไปก็สู้ไม่ได้ ไปสร้างที่เวียดนามเลยดีกว่าไหม เราคงต้องคิดเพิ่มว่าในช่วง 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าประเทศไทยจะเสนออะไรกลับไปอีกรอบ เพื่อให้พ้นจากจุดนี้ เพราะจากที่เวียดนามเจรจาลดลงมาได้ 46% เหลือ 20% แสดงว่าต้องมีหนทาง เป็นกำลังใจให้กับทีมเจรจาครับ”
ผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาค
นักวิเคราะห์จากหลายสำนักได้ประเมินผลกระทบในเบื้องต้นว่า การขึ้นภาษีครั้งนี้อาจฉุดให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2568 ลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการคาดการณ์ว่า GDP อาจขยายตัวได้เพียง 1.8-1.9% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.4% นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบลูกโซ่ตามมา ได้แก่:
ภาวะเงินเฟ้อ: ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากการนำเข้าวัตถุดิบและส่วนประกอบบางชนิด อาจส่งผลให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าในประเทศสูงขึ้น กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน
การลงทุนจากต่างประเทศลดลง: นักลงทุนต่างชาติที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ อาจพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีนี้ เพื่อรักษาความได้เปรียบทางด้านต้นทุน
การจ้างงาน: ภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นหลัก อาจต้องลดกำลังการผลิต ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงในการเลิกจ้างงาน
ค่าเงินบาท: ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอาจส่งผลให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนและอ่อนค่าลงได้
อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก
สหพันธ์อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อมาตรการดังกล่าว โดยประเมินว่าอาจสร้างความเสียหายให้แก่ภาคอุตสาหกรรมไทยเป็นมูลค่าสูงถึง 8-9 แสนล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด ได้แก่:
-ยานยนต์และชิ้นส่วน: สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของชิ้นส่วนยานยนต์ไทย
-อิเล็กทรอนิกส์: โดยเฉพาะกลุ่มคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้า
-ผลิตภัณฑ์ยาง: ไทยเป็นผู้ส่งออกยางรายใหญ่ไปยังตลาดโลก รวมถึงสหรัฐฯ
-อาหารแปรรูป: สินค้ากลุ่มอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และไก่แปรรูป จะได้รับผลกระทบโดยตรง
-อัญมณีและเครื่องประดับ
-เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
-เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก
ท่าทีและแนวทางการรับมือของรัฐบาลไทย
รัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาต่อรองกับผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ (USTR) อย่างเร่งด่วน โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวเรือหลักในการเจรจา
ล่าสุด ประเทศไทยได้ยื่นข้อเสนอใหม่ให้กับทางสหรัฐฯ เพื่อแลกกับการพิจารณาทบทวนอัตราภาษีดังกล่าว ข้อเสนอครอบคลุมถึงการที่ไทยจะอำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมจากสหรัฐฯ มากขึ้น รวมถึงการพิจารณาจัดซื้อสินค้ามูลค่าสูง เช่น ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และเครื่องบินโบอิ้ง เพื่อช่วยลดตัวเลขการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับไทย
ขณะนี้ทุกฝ่ายยังคงต้องจับตาท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ว่าจะมีการตอบสนองต่อข้อเสนอของไทยอย่างไร ซึ่งผลการเจรจาที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญต่อทิศทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้
“บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย)” ระบุว่า สหรัฐส่งจดหมายเมื่อคืนนี้ไปยังหลายประเทศถึงอัตราภาษีการค้าที่จะมีผลตั้งแต่ 1 ส.ค. ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ได้อัตราภาษ๊ใกล้เคียงช่วงประกาศภาษีการค้าตอบโต้ และภาษีที่ประกาศอยู่ในระดับ 25-40% สูงกว่าเวียดนามที่ 20% วัตถุประสงค์หลักเชื่อว่าสหรัฐฯ ต้องการกดดันให้ประเทศต่างๆ ผ่อนคลายเพิ่มเติมต่อสินค้าสหรัฐฯ และสำหรับไทย อาจกดดันให้เปิดตลาดสินค้าเกษตร โดยเฉพาเนื้อหมู
อัตราภาษีของประเทศต่างๆ ที่ประกาศมาเบื้องต้น ได้แก่ ญี่ปุ่น (25%), เกาหลีใต้ (25%), มาเลเซีย (25%), คาซัคสถาน (25%), แอฟริกาใต้ (30%), ลาว (40%), พม่า (40%), ตูนิเซีย (25%), บอสเนีย (30%), อินโดนีเซีย (32%), บังกลาเทศ (35%), เซอร์เบีย (35%), กัมพูชา (36%), ไทย (36%)
คาดการต่อรองภาษีการค้า จะเป็นปัจจัยกดดันบรรยากาศลงทุนในช่วง 2-3 สัปดาห์นี้ ประเมิน SET เคลื่อนไหวมีแนวรับที่ 1,080-1,100 จุด โดยกลุ่มที่เผชิญแรงกดดันสูงได้แก่ เนื้อสัตว์, นิคมอุตสาหกรรม, และหุ้นที่เกี่ยวกับการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ (จากกรณีอาจควบคุมชิป AI)
บล.ยูโอบีฯ ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยแพร่การคาดการณ์ GDP ปี 68 ล่าสุดจะเติบโต 2.3% ภายใต้สมมติฐานว่าสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีไทยที่ 18% เราจึงอ้างอิงการคาดการณ์ GDP ก่อนหน้านี้ในเดือน เม.ย.68 ซึ่ง ธปท.ได้จัดทำ Scenario ว่าสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีศุลกากรที่ 36% จะทำให้ GDP ปีนี้เติบโต 1.3%
สำหรับภาคการธนาคาร เราได้คำนึงถึงสถานการณ์เลวร้ายที่สุดว่าสหรัฐเรียกเก็บภาษีศุลกากรกับไทยที่ 36% ไว้แล้วในการคาดการณ์ของเรา จึงปรับลดคำแนะนำหุ้นกลุ่มธนาคารจาก “OVERWEIGHT” เป็น “MARKET WEIGHT” ในรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/68 เมื่อวันที่ 25 เม.ย.68 ปัจจุบัน เราคาดการณ์ว่ากำไรของกลุ่มธนาคารในปี 68 จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ 8% แม้จะได้นำสถานการณ์นี้มาพิจารณาด้วย แต่คาดว่าจะมีการปรับลดกำไรลงบ้างจากสถานการณ์ล่าสุด คาดว่าราคาหุ้นกลุ่มธนาคารจะลดลงบ้างแต่ไม่มากนัก