บล.ฟิลลิป:

Phillip News Comment

🇹🇭 เมื่อคืนที่ผ่านมาปธน.ทรัมป์ประกาศประเทศต่างๆอย่างน้อย 14 ประเทศจะถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.68 โดยสหรัฐฯ จะเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ไทย 36% กับสินค้าทุกชนิด เท่ากับตัวเลขในวันที่ 2 เม.ย.68 ซึ่งถือว่าส่งผลต่อการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยอย่างมากเมื่อเทียบกับเวียดนามที่เผชิญเพียง 20% หลังมีการเจรจากับสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังสูงเป็นอันดับ 3 เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ที่ถูกประกาศในชุดแรกดังนี้ ลาว 40% (ลดลงจาก 48%) เมียนมา 40% (ลดลงจาก 44%) กัมพูชา 36% (ลดลงจาก 49%) อินโดนีเซีย 32% (ไม่เปลี่ยนแปลง) ญี่ปุ่น 25% (เพิ่มขึ้นจาก 24%) มาเลเซีย 25% (เพิ่มขึ้นจาก 24%) และเกาหลีใต้ 25% (ไม่เปลี่ยนแปลง)

🎯Strategist Comment: เรามองเป็น Sentiment ลบต่อหุ้นกลุ่มต่างๆใน SET Index 

1) AGRI: คาดรับผลกระทบเชิงลบ โดยเฉพาะตลาดยางล้อ เนื่องจากไทยส่งออกยางล้อไปสหรัฐฯ ราว 71.2% ของการส่งออกสินค้ากลุ่มยางทั้งหมดของไทยที่ส่งไปสหรัฐฯ นอกจากนี้ คาดส่งผลกระทบเชิงลบต่อตลาดถุงมือยาง เนื่องจากไทยโดนภาษีการนำเข้ามากกว่ามาเลเซีย ส่งผลให้ราคาถุงมือยางไทยเสียเปรียบมาเลเซีย ทั้งนี้ STA และ STGT ส่งออกไปสหรัฐฯรวมกัน 10%

2) AUTO: คาดรับผลกระทบเชิงลบ แม้ว่าไทยส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปไปยังสหรัฐฯเพียง 6% ของการส่งออกรถยนต์ทั้งหมด แต่มองประเด็นการประกาศเก็บภาษีนำเข้าครั้งนี้เป็นปัจจัยกดดันราคาหุ้นกลุ่มยานยนต์ในระยะสั้น นอกจากนี้ มองว่าไทยอาจได้รับผลกระทบเชิงลบทางอ้อม จากการถูกแทนที่ในตลาดส่งออก โดยคู่แข่งอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้

3) TRANS: ขนส่งทางเรือ การบิน และโลจิสติกส์ไม่กระทบตรง แต่จะอ้อมมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวเป็นหลัก ขณะที่ขนส่งทางบกกระทบน้อย เพราะเป็นการเดินทางในประเทศ 

4) MEDIA: ไม่กระทบตรง แต่อ้อมมาจากเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศที่อาจชะลอตัว ทำให้การใช้งบโฆษณาจำกัด

5) BANK และ FIN: ผลกระทบทางตรงอาจจะทำให้บริษัทที่ทำธุรกิจส่งออกที่ปล่อยสินเชื่อให้มีสถานะทางการเงินที่อ่อนแอลง อาจจะทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องตั้งสินเชื่อเพิ่ม และผลกระทบทางอ้อม สภาพเศรษฐกิจโดยรวมอ่อนแอลง อาจจะทำให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้เนเศรษฐกิจซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนสินเชื่อลดลง กระทบกับผลประกอบการ แต่จะดีกับกลุ่ม FIN ที่ทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลง รวมไปถึงเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอาจจะทำให้การลงทุนลดลง ส่งผลต่อความต้องการสินเชื่อให้น้อยลง

6) ENERG: น้ำมัน โดยรวมยังขึ้นกับราคาน้ำมันโลก แต่หากการเจรจาอีกครั้งมีการนำเข้าน้ำมันจากสหรัฐฯเข้ามาอาจส่งผลดีต่อต้นทุนในอาคต ส่วนปิโตรฯมียอดขายส่วนใหญ่อยู่ฝั่งเอเชีย อาจได้รับผลกระทบบ้างแต่ไม่มีนัยสำคัญ แต่ฝั่งต้นทุนอาจดีขึ้นในอนาคตหากมีการนำก๊าซธรรมชาติเข้ามาจากสหรัฐฯ ขณะที่โรงไฟฟ้าไม่มีผลกระทบจากการขึ้นภาษีเพราะไม่เกี่ยวการส่งออก แต่หากมีการนำเข้าก๊าซธรรมาติ จะได้รับผลดีต่อต้นทุนในอนาคตเช่นกัน

7) ETRON: ราคาสินค้าสูงขึ้นในสายตาผู้บริโภคสหรัฐฯ ส่งผลเชิงลบต่อการแข่งขันกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ DELTA (ส่งออกไปอเมริกาเหนือ 28%), HANA (ส่งออกไปอเมริกาเหนือ 26%) และ KCE (ส่งออกไปอเมริกาเหนือ 21%) นอกจากนี้ อาจต้องเผชิญทั้งการแข่งขันกับเวียดนามและมาเลเซีย ซึ่งเผชิญภาษีศุลากรที่ 20% และ 25% ตามลำดับ

8) PROP (Industrial estate): ส่งผลให้ไทยมีความน่าดึงดูดต่อการลงทุนน้อยลงเมื่อเปรียบกับเวียดนามที่เจรจาการค้ากับสหรัฐฯสำเร็จแล้ว ทำให้ไทยเกิดความเสียเปรียบต่อนโยบายการลงทุนกระทบหุ้นกลุ่มนิคมซึ่งยังคงมีรายได้หลักจากนิคมในไทย WHA และ AMATA

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามพัฒนาการเพิ่มเติมว่าสุดท้ายแล้วไทยจะต้องเผชิญกับภาษีศุลกากรในระดับใด เนื่องจากยังพอมีเวลาในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ หลังคุณเลวิตต์ โฆษกทำเนียบขาวเผยปธน.ทรัมป์จะลงนามในคำสั่งพิเศษเพื่อเลื่อนกำหนดเส้นตายวันที่ 9 ก.ค.68 ออกไปเป็นวันที่ 1 ส.ค.68 ดังนั้น ยังคงต้องติดตามการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ รวมถึงข้อเสนอที่คุณพิชัย รองนายกฯและรมว.คลังส่งไปสหรัฐฯในคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งอาจเป็นไปในแนวทางที่ใกล้เคียงกับเวียดนาม หลังคุณพิชัย เผยมีสินค้าจำนวนเยอะพอสมควรที่จะให้อัตรา 0% กับสหรัฐฯ ทั้งนี้ ข้อเสนอข้างต้นมีโอกาสอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของสหรัฐฯ หลังจดหมายที่ส่งถึงนายกฯไทย ระบุชื่อเป็นคุณสุริยะ รองนายกฯและรมว.คมนาคม ซึ่งรักษาการนายกฯในวันที่ 1-3 ก.ค.68 สะท้อนว่าสหรัฐฯอาจมีการเตรียมจดหมายไว้ล่วงหน้าก่อนวันที่ไทยส่งข้อเสนอใหม่ไป

- Advertisement -