บล.กรุงศรีฯ:
เก่งหลังเกมส์
SET Index ลดลง 5.25 จุด (-0.47%) ปิดที่ระดับ 1,110 จุด มูลค่าซื้อขายเบาบาง 2.68 หมื่นล้านบาท (จำนวนหุ้นปรับลง 266บริษัท, หุ้นปรับขึ้น 169 บริษัท) นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนวันหยุดเนื่องในวันอาสาฬหบูชา Sector ปรับลงกดดัชนี คือ กลุ่มอิเล็กฯ (KCE, HANA, DELTA), กลุ่มค้าปลีก (CPALL, CPAXT, CRC), และกลุ่มโรงไฟฟ้า (BGRIM, GPSC) ส่วน Sector ปรับขึ้นพยุงดัชนี คือ กลุ่มขนส่ง (BEM, PSL, RCL)
หุ้นที่เคลื่อนไหวโดดเด่น คือ
BEM (+4.34%), BTS (+0.58%) นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของเราออกบทวิเคราะห์แนะนำให้ ซื้อ คาดได้ประโยชน์โดยตรงจากมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของภาครัฐ โดย 1)รับเงินชดเชยค่าโดยสาร อิง Gap ส่วนต่างระหว่างค่าโดยสารเฉลี่ยของ BTS ที่ 33 บาท และ BEM ที่ 27 บาทเทียบกับค่าโดยสารที่ภาครัฐอุดหนุนที่ 20 บาท BTS จะได้เงินชดเชย 3 พันล้านบาท และ BEM 1.1 พันล้านบาท และ 2) รายได้ส่วนเพิ่มจากจำนวนผู้โดยสารที่สูงขึ้น (ค่าตั๋วถูกคนใช้เยอะ) ประเมินทุกๆ 10% ของจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นจะหนุนกำไร BEM ประมาณ 9% และ BTS ประมาณ 86% (BTS ฐานต่ำ) ส่วนราคา BTS Underperform BEM วันนี้คาดเป็นจิตวิทยาลบจากประเด็นสภาฯ ถอนร่างกฏหมาย Entertainment Complex เราแนะนำ ซื้อ BTS เป้า 6.49 บาท, BEM เป้า 9.10 บาท
RCL (+3.57%), PSL (+5.98%) ดักเก็งกำไรคาดหวังค่าระวางเรือปรับขึ้นทั้งคอนเทรนเนอร์และเรือเทกองจากข่าวกบฎฮูตีเปิดฉากโจมตีเรือขนส่งสินค้าในพื้นที่ทะเลแดงส่งผลให้ลูกเรือขนส่งสินค้าเสียชีวิต 3 ราย ปัจจัยนี้จะผลักดันให้กองเรือเปลี่ยนใช้เส้นทางอื่นซึ่งมีระยะทางที่ไกลกว่า ส่งผลให้ Supply เรือลดลงเป็นบวกกับค่าระวางเรือ
SAPPE (+0.74%) คาดยอดขายเครื่องดื่มจะได้ประโยชน์จากข่าวยุโรปกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนครั้งใหญ่ซึ่งแผ่ปกคลุมหลายประเทศในภูมิภาค ส่งผลให้อุณหภูมิพุ่งสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสในหลายพื้นที่ของประเทศต่างๆ อาทิ สเปน, ฝรั่งเศส, อิตาลี, อังกฤษ และตุรกี ทั้งนี้ SAPPE มีรายได้จากการส่งออกคิดเป็น 80% ของรายได้รวม มาจากยุโรปคิดเป็น 20%
KCE (-5.24%), HANA (-5.26%), DELTA (-2.3%) วิตกข่าว ทรัมป์ เรียกเก็บภาษีนำเข้าทองแดง และชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ กระทบต้นทุนและยอดขายของผู้ประกอบการในกลุ่มอิเล็กฯ เนื่องจากมีทองแดงเป็นวัตถุดิบในขณะเดียวกันสหรัฐเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกชิ้นส่วนฯ ของไทย
CPALL (-1.66%), CPAXT (-1.05%), CRC (-1.1%), HMPRO (-2.29%) ม.หอการค้าฯ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยเดือน มิ.ย. ลดลงสู่ระดับ 52.7 จาก 54.2 ในเดือน พ.ค. ลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 28 เดือน คาดประชาชนชะลอการจับจ่ายใช้สอยเป็นลบกับยอดขายของกลุ่มค้าปลีก