KS Daily View 14.07.2025 >>> เข้าสู่ฤดูกาล ประกาศงบบริษัท 2Q25 มองกรอบ SET วันนี้ 1,105–1,125 จุด แนะ STECON และ BAM

Theme การลงทุนสัปดาห์นี้: คาดตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้แกว่งตัวในกรอบ 1,100-1,140 จุด มองดัชนีจะยังผันผวนในกรอบรอปัจจัยใหม่ แม้ตลาดดูคลายกังวลระยะสั้นจากประเด็นเดิมยังคงค้างคาทั้งเรื่องการเจรจาการค้ากับทางสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีนำเข้าแบบตอบโต้ในระดับสูง 36% รวมถึงเรื่องการเมืองในประเทศ อย่างไรก็ดี เชื่อความสนใจของตลาดในระยะสั้นจะเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับตัวเลขเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฯ ที่จะเริ่มทยอยประกาศออกมา เริ่มจากกลุ่มธนาคารในสัปดาห์นี้ที่คาดว่าผลประกอบการอาจชะลอ -9% QoQ และ -3% YoY จากพอร์ตสินเชื่อลด แบงก์เข้มปล่อยกู้, NIM ลง หลังกนง. ลดดอกเบี้ย และสำรองหนี้เสียขึ้นตาม NPL ขยับ ตามภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี รวมถึงมีกำหนดรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญโดยเฉพาะตัวเลข GDP ของจีนสำหรับ Q2/25 หากรายงานออกมาอ่อนแอต่ำคาด อาจหนุนให้เกิดความคาดหวังมาตรการกระตุ้นจากทางการจีน และจะเป็นcatalyst เชิงบวกให้กับกลุ่ม China link

แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศวันนี้: ตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1121.13 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.11% จากสัปดาห์ที่ผ่านหนุนโดยการปรับตัวขึ้นของกลุ่มขนส่ง, ปิโตรเคมี, และวัสดุก่อสร้าง ในวันนี้เราประเมินว่าตลาดมีแนวโน้มแกว่งตัว sideway อยู่ในกรอบ 1,105–1,125 จุด จากตลาดรอปัจจัยบวกใหม่ และ กลับมาให้น้ำหนักผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฯ ใน 2Q25 ที่จะเริ่มทยอยประกาศออกมา แนะนำการลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตของกำไร 2Q25 ได้ทั้ง YoY, QoQ อย่าง STECON และ BAM

ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:

  1. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้า 30% กับสินค้าจากสหภาพยุโรป (EU)และเม็กซิโก โดยจะมีผลตั้งแต่ 1 สิงหาคมนี้ ในขณะเดียวกัน EU เตรียมมาตราการตอบโต้จากมาตรการขึ้นภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ หากการเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ และเตรียมหารือกับประเทศอื่นที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีดังกล่าว อีกส่วนหนึ่งสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการเจรจาข้อตกลงการค้าชั่วคราวกับอินเดีย ซึ่งอาจลดภาษีนำเข้าสินค้าจากเดิม 26% เหลือต่ำกว่า 20% มองว่าไทยยังมีโอกาสการเจรจากับสหรัฐ ในอัตราภาษีที่น้อยลงก่อนวันที่ 1 สิงหาคมนี้ อาจหนุนให้หุ้นกลุ่มส่งออกมีการ rebound ระยะสั้น
  1. รัฐบาลเผยแพร่ข้อมูลโครงการรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง เป็นเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงจีนกับภูมิภาคอาเซียนรวมระยะทาง 5,500 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 3 สายทางหลัก ได้แก่ เส้นทางตะวันตกผ่านคุนหมิง-มัณฑะเลย์-กรุงเทพฯ-สิงคโปร์ เส้นทางสายกลางผ่านเวียงจันทน์-หนองคาย-กรุงเทพฯ และเส้นทางตะวันออกผ่านฮานอย-โฮจิมินห์-พนมเปญ-กรุงเทพฯ แต่ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการลงทุนก่อสร้างที่ชัดเจน มองเป็นจิตวิทยาเชิงบวกกับ CK และ STECON
  1. EU กำลังพิจารณาข้อตกลงคว่ำบาตรครั้งที่ 18 ต่อรัสเซียภายในวันอังคารนี้ โดยเสนอที่จะหยุดนำเข้าก๊าซรัสเซียทั้งหมดภายในปี 2028 รวมไปถึงการกำหนดไว้ที่ 15% ต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในช่วงสามเดือนก่อนหน้า ซึ่งมาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของ EU และอังกฤษในการจำกัดรายได้ของรัสเซียจากน้ำมันเพื่อยุติสงครามในยูเครน มองเป็นจิตวิทยาเชิงบวกเล็กน้อยกับราคาน้ำมันและ PTTEP
  1. จากแหล่งข่าวอินโฟเควส นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมนำเสนอชื่อผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่เพื่อให้ ครม.อนุมัติ โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือก 2 ราย ได้แก่ นางรุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส และนายวิทัย รัตนากร ซึ่งมีแนวโน้มสูงว่า รมว.คลังจะเสนอชื่อนายวิทัย เนื่องจากมีวิสัยทัศน์ตรงกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปัจจุบัน โดยชี้ปัญหาการที่ ธปท. ยึดเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นหลักในขณะที่เศรษฐกิจไม่ขยายตัว
  1. ธนาคารในจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายในการปฏิบัติตามแนวทางใหม่ของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นสินเชื่อผู้บริโภค เนื่องจากการผิดนัดชำระหนี้ส่วนบุคคลพุ่งสูงขึ้นหลังทางการจีนได้ออกคำสั่งหลายฉบับให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อมากขึ้นในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อส่งเสริมการบริโภค อีกทั้งความไม่มั่นคงด้านรายได้จากการลดเงินเดือนในหลายภาคส่วนยิ่งทำให้ครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่ายและการกู้ยืมมากขึ้น โดยอัตราหนี้เสีย (NPL) ของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 1.51% และ ธนาคารขนาดเล็กมี NPL สูงถึง 2.86%

Daily pick

STECON: ราคาพื้นฐาน 9.86 บาท

เรามีมุมมองเชิงบวกต่อ STECON จากความไม่แน่นอนของโครงการบึงหนองบอนที่คลี่คลายคาดว่าจะได้เงินประกันกลับมาในช่วง 2Q25-3Q25 นี้ นอกจากนี้ STECON ยังคงมั่นใจสำหรับการเติบโตในปี 2025 ที่มีโอกาสโตได้ดีกว่าที่เราคาดจากเป้าหมายการเติบโตที่ รายได้ 32 พันล้านบาท และคาดว่ารายได้จะสามารถเติบโตขึ้นในทุกไตรมาส QoQ ตั้งแต่ 2Q-3Q25 และคาดว่าจะแตะจุดสูงสุดได้ใน 4Q25 นี้ และคาดการณ์ GPM ที่ 7% มากกว่าที่เราคาดไว้ที่ 5.5% นอกจากนี้ STECON มี backlog ณ ปัจจุบันที่ระดับ 18 พันล้านบาท เทียบกับเป้าหมายทั้งปีที่ระดับ 50 พันล้านบาทโดยคาดการณ์backlog ที่เหลือน่าจะเติมได้ในช่วง 2H25 นี้จากโครงการรัฐบาลทั้งรถไฟทางคู่ไทยจีน และ M5 ทางด่วน

BAM: ราคาพื้นฐาน 8.40 บาท

เรามีมุมมองเชิงบวกต่อ BAM มากขึ้นจากการปรับเปลี่ยน CEO ใหม่ ที่มีกลยุทธ์ในการสร้าง partnership กับ real estate developer เพื่อลดระยะเวลาการถือครองทรัพย์จาก 7 ปีเหลือ 4-5 ปี โดยจะให้ developers พัฒนาและปรับปรุงทรัพย์ของ BAM เองเพื่อให้ขายได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังให้ Developer พัฒนาอสังหาริมทรัพย์บนที่ดินของ BAM โดยคาดว่า partnership นี้จะสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ราว 150-300 ล้านบาทต่อปี โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นความคืบหน้าใน 2H25 นี้ อีกทั้ง บริษัทมีแผน restructure ลูกหนี้ขนาดเล็ก ไม่เกิน 5 แสนบาท เพื่อเพิ่ม cash collection ในอนาคตเช่นกัน เราคาดการณ์ 2Q25 BAM จะมีการขาย NPL และ NPA จำนวน 2.8 พันล้านบาท และ 1.45 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าการเก็บเงินสดในปี 2025 ได้ที่ 17.8 พันล้านบาท โดยคาดว่าจะมีการขายทรัพย์ชิ้นใหญ่ใน 2H25 อีกจำนวน 1 พันล้านบาท เรามีการปรับประมาณการกำไรเพิ่มขึ้น 9-34% สำหรับกำไรในปี 2025-2027

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ

วันวันจันทร์ ติดตาม ตัวเลขส่งออกของจีน (China Export)เดือน มิ.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ +5.2% YoY เร่งตัวจากเดือนที่ผ่านมาที่ +4.8% YoY และตัวเลขนำเข้าของจีน (China Import)  เดือน มิ.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ +0.5%YoY เร่งตัวจากเดือนที่ผ่านมาที่ -3.4% YoY

วันอังคาร ติดตาม การรายงานตัวเลขเศรษฐกิจของจีนอย่าง ตัวเลข GDP ใน 2Q25 ตลาดคาดการณ์ที่ +5.1% YoY ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ +5.4% YoY ต่อด้วย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของจีน (China Industrial  production) เดือน มิ.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ 5.6% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ +5.8% YoY และ ดัชนียอดค้าปลีก (China Retail sales) เดือน มิ.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ +5.2% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ +6.4% YoY ในฝั่งของสหรัฐมีการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ (US CPI)เดือน มิ.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ +2.6% YoY เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ +2.4% YoY และตัวเลขเงินเฟ้อที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน (US core CPI) ตลาดคาดที่ +2.9% YoY เพิ่มขึ้นจาก +2.8% YoY ในเดือนก่อนหน้า

วันพุธ  ติดตามดัชนีราคาผู้ผลิต (US PPI index) ของสหรัฐฯ สำหรับเดือน มิ.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ +2.5% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ +2.6% YoY ต่อด้วย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐ (US Industrial  production) เดือน มิ.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ 0.1% MoM เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ -0.2% MoM

วันพฤหัสบดี   ติดตามตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ดัชนียอดค้าปลีก (US retail sales) เดือน มิ.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ +0.1% MoM เร่งตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ -0.9%MoM ปิดท้ายด้วย จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดคาดการณ์ที่ 2.33 แสนตำแหน่งเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 2.27 แสนตำแหน่ง

วันศุกร์  ติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่น (Japan Inflation)เดือน มิ.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ +3.3% YoY ลดลงเดือนก่อนหน้าที่ +3.5% YoY และเงินเฟ้อที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน ตลาดคาดการณ์ที่ 3.3% YoY ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ต่อด้วยรายงานจำนวนที่อยู่อาศัยเริ่มสร้าง (Housing Starts) ของสหรัฐ เดือน มิ.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ 1.295 ล้านหลัง เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 1.256 ล้านหลัง ต่อด้วย รายงานใบอนุญาตก่อสร้างบ้าน (Building Permits) ของสหรัฐ เดือน มิ.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ 1.388 ล้านหลัง ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 1.394 ล้านหลัง

- Advertisement -