เผยตลาดทองในประเทศยังราคาดีได้อานิสงส์เงินบาทอ่อน

วายแอลจี มองทิศทางทองคำยังผันผวนในระยะสั้น หลังปรับตัวลดลงแรงจากผลการประชุมเฟด มีลุ้นฟื้นตัวระยะสั้นหากยืนเหนือ 1,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แต่หากไม่สามารถยืนได้อาจปรับลดลงอีกรอบ เผยแม้ตลาดกังวลประเด็นเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ประธานเฟดยันยังไม่ปรับขึ้นในเร็วๆนี้  ขณะที่กองทุน SPDR ยังเข้าเก็บทองคำสลับเมื่อราคาปรับตัวลงสะท้อนเม็ดเงินยังคงไหลเข้าใน ETF  ด้านตลาดทองคำในประเทศราคายังดี เหตุได้อานิสงส์เงินบาทอ่อนค่าหลังกนง.คาดการณ์เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยง

 นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาด TFEX เปิดเผยว่าราคาทองคำตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งปัจจัยหลักที่กดดันตลาดทองคำมาจากกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) อาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด แม้ว่าจะไม่ปรับขึ้นในเร็วๆนี้

โดยเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่าเฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงเพราะความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียวแต่จะพิจารณาความสมดุลจากหลายปัจจัย เพราะแม้เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นแต่ตลาดแรงงานก็ยังเป็นปัจจัยที่ต้องให้น้ำหนักเพราะตลาดแรงงานยังฟื้นตัวไม่สม่ำเสมอ

ทั้งนี้ในระยะสั้น  ราคาทองมีสัญญาณแกว่งตัวลดลง  โดยที่ปัจจัยทางเทคนิค ราคายังมีโอกาสฟื้นได้หากสามารถกลับไปยืนเหนือแนวต้านแรก 1,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือ 27,150 บาทต่อบาททองคำ  โดยมีแนวต้านต่อไปที่ 1,840 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์  หรือ 27,800 บาทต่อบาททองคำ หากผ่านได้ก็จะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  หากสามารถกลับไปยืนเหนือ 1,870 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์  หรือ 28,250 บาทต่อบาททองคำ ก็จะเป็นสัญญาณขาขึ้นอีกครั้ง อย่างไรก็ดีหากทองคำไม่สามารถยืนได้ที่แนวต้านดังกล่าวจะเป็นสัญญาณเชิงลบทางเทคนิค ทำให้ยังมีโอกาสทดสอบแนวรับด้านล่างที่จุดต่ำสุดสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 1,761 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์   หรือ 26,550 บาทต่อบาททองคำ หรือ มีโอกาสทำจุดต่ำสุดใหม่

อย่างไรก็ตามในสัปดาห์ที่แล้ว  ถึงแม้ราคาทองคำจะปรับลดลงแต่พบว่ากองทุน SPDR ซึ่งเป็นกองทุนทองคำขนาดใหญ่ ได้กลับเข้าซื้อทองคำถึง 11 ตันในวันศุกร์ โดยเป็นที่สังเกตได้ว่าทุกครั้งที่ราคาทองปรับตัวลดลงแรง  กองทุน SPDR จะทำการช้อนซื้อ  นอกจากนี้ในตลาดทองคำประเทศไทยยังมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในช่วงนี้ และยังมีทิศทางอ่อนค่าไปทดสอบที่ประมาณ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินบาทคือการประเมินเศรษฐกิจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่มองเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ

- Advertisement -