บริษัทวายแอลจีบูลเลี่ยนแอนด์ฟิวเจอร์ส : Gold Futures

ทองคำ
1,751 1,733 1,717
1,778 1,795 1,812

ข่าวสารสําคัญเพื่อประกอบการลงทุน (เพิ่มเติมช่วงบ่าย)
สรุป ราคาทองคำช่วงเช้าที่ตลาดเอเชียแกว่งตัวในกรอบ 1,758.80-1,764.57 ดอลลาร์ต่อออนซ์ มีแรงฟื้นขึ้นจากระดับต่ำสุดเมื่อวานนี้บริเวณบริเวณ 1751.01 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่การฟื้นขึ้นอาจอยู่ในระดับจำกัด เนื่องจากแนวโน้มดอลลาร์ยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้ เนื่องจากดอลลาร์มีความได้เปรียบสกุลเงินอื่นๆในขณะนี้ จากแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ทำได้ค่อนข้างดี สะท้อนจากข้อมูลเศรษฐกิจอันแข็งแกร่งที่เปิดเผยเมื่อวานนี้ โดยเฉพาะการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐจาก Conference Board ที่พุ่งขึ้น

นอกจากนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กจัดอันดับ 53 เขตเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากโควิดได้ดีสุด พบว่า สหรัฐครองอันดับ 1 โดยพิจารณาจากความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีนที่ระดับสูงหลังจากประชากรครึ่งหนึ่งฉีดวัคซีนแล้ว ขณะที่ร้านอาหารในสหรัฐคนเต็มร้าน ความจุเที่ยวบินฟื้นตัวเกือบเต็มที่ โดยคนที่ฉีดวัคซีนแล้วมีข้อจำกัดการเดินทางเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น ซึ่งอานิสงส์มาตรการกระตุ้น 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ และการฉีดวัคซีนช่วยปลุกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ สำหรับวันนี้แนะนำติดตามการเปิดเผย ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือนมิ.ย. จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโก และยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย เพื่อชี้นำราคาทองคำเพิ่มเติม

ปัจจัยทางเทคนิค
แนวโน้ม Gold Spot:
ราคาทองคำพยายามสร้างฐานและพยายามทรงตัว ทั้งนี้ หากราคายืนเหนือโซน 1,751 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ระดับต่ำสุดวานนี้)ได้อาจทำให้เห็นการดีดตัวขึ้นเพื่อพยายามทดสอบแนวต้านบริเวณ 1,772-1,778 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากยังไม่สามารถขึ้นไปยืนเหนือแนวต้านได้ อาจเห็นการย่อตัวของราคาลงเพื่อสร้างฐานราคาอีกครั้ง

กลยุทธ์การลงทุน:
ดูบริเวณ 1,772-1,778 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากไม่ผ่านได้แนะนำเปิดสถานะขายทำกำไรระยะสั้น เพื่อรอเข้าซื้อทำกำไรเมื่อราคาอ่อนลงหรือไม่หลุดบริเวณแนวรับ 1,751 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากผ่านแนวต้านแรกได้ให้รอดูบริเวณแนวต้านถัดไปที่ 1,795 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (สถานะขายตัดขาดทุนหากราคาผ่านได้)

ข่าวสารประกอบการลงทุน
(-) สหรัฐแชมป์ฟื้นตัวโควิดดีสุดอานิสงส์ฉีดวัคซีนเร็ว-มาก เกือบหนึ่งปีครึ่งที่โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก หากตั้งคำถามว่าที่ไหนดีที่สุดและแย่ที่สุดในยุคโควิด ปัจจัยเดียวที่จะนิยามคำตอบได้คือ “การใช้ชีวิตเป็นปกติ” สำนักข่าวบลูมเบิร์กจัดอันดับ 53 เขตเศรษฐกิจที่กำลังเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งได้อย่างดีที่สุด พิจารณาจากความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีน ความรุนแรงของการล็อกดาวน์ เสริมด้วยสองมาตรวัดด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ความจุเที่ยวบินคำนวณจากจำนวนที่นั่งบนเครื่องบินในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562 และเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว บ่งบอกถึงเสรีภาพในการเดินทางของผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วจากทั่วโลก สหรัฐครองอันดับ 1 สะท้อนถึงการฉีดวัคซีนสูง การระบาดลดลง ความจุเที่ยวบินฟื้นตัวเกือบเต็มที่ คนที่ฉีดวัคซีนแล้วมีข้อจำกัดการเดินทางเพียงไม่กี่อย่าง ตอนนี้ร้านอาหารในสหรัฐคนเต็มร้าน ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอีกต่อไป ชาวอเมริกันออกไปท่องเที่ยวกันอีกครั้งหลังจากประชากรครึ่งหนึ่งฉีดวัคซีนแล้ว

การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐส่อเค้าสดใสในปีนี้ อานิสงส์มาตรการกระตุ้น 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ และการฉีดวัคซีนช่วยปลุกความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อิสราเอล ที่อยู่ในอันดับ 4 ฉีดวัคซีนให้ประชากรเกือบ 60% แล้ว ตอนนี้สามารถเข้าชมภาพยนตร์ ละคร และการแข่งขันกีฬาได้เหมือนเดิม จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ลดลงเหลือไม่กี่คนต่อสัปดาห์ เทียบกับช่วงเสียชีวิตสูงสุดที่กว่า 400 คนต่อสัปดาห์ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ต้องชะลอการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติออกไป ในสหราชอาณาจักร (ยูเค) ที่ครองอันดับ 9 ลูกค้าแน่นผับ ประชาชนไปพักผ่อนวันหยุดในต่างประเทศที่อยู่ในบัญชีสีเขียวได้ แม้ว่าการยกเลิกข้อจำกัดทั้งหมดที่มีกำหนดเดิมวันที่ 21 มิ.ย.ต้องเลื่อนเป็น 19 ก.ค.เพราะสายพันธุ์เดลตาก็ตาม

(-) ตลาดหุ้นเอเชียเปิดบวก นักลงทุนจับตา PMI จีนเดือนมิ.ย. ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวขึ้นในเช้าวันนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนเดือนมิ.ย. ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,572.62 จุด ลดลง 0.56 จุด หรือ -0.02%, ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 28,896.31 จุด เพิ่มขึ้น 83.70 จุด หรือ +0.29% และดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 29,107.90 จุด เพิ่มขึ้น 113.8 จุด หรือ +0.39% นักลงทุนจับตาการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมิ.ย.จากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า อาจชะลอตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 50.8 จากระดับ 51.9 ในเดือนพ.ค. เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการส่งออกที่สำคัญของจีนเมื่อช่วงต้นเดือนมิ.ย. ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่เคลื่อนไหวเหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตและภาคบริการของจีนมีการขยายตัว ขณะที่ดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 จะบ่งชี้ถึงภาวะหดตัว

(+/-) ดอลลาร์ทรงตัวที่กรอบกลาง 110 เยน ขณะนักลงทุนรอดูปัจจัยชี้นำใหม่ ดอลลาร์เคลื่อนไหวที่กรอบกลางของ 110 เยน ขณะที่นักลงทุนรอดูปัจจัยชี้นำใหม่ ๆ เพื่อประเมินทิศทางการลงทุนต่อไป สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ณ เที่ยงวันนี้ตามเวลาโตเกียว ดอลลาร์เคลื่อนไหวที่ 110.50-110.51 เยน เทียบกับ 110.50-110.60 เยนที่ตลาดนิวยอร์ก และ 110.69-110.70 เยนที่ตลาดโตเกียวเมื่อเวลา 17.00 น. ของเมื่อวานนี้ ยูโรเคลื่อนไหวที่ 1.1903-1.1903 ดอลลาร์ และ 131.53-131.57 เยน เทียบกับ 1.1891-1.1901 ดอลลาร์ และ 131.50-131.60 เยนที่ตลาดนิวยอร์ก และ 1.1909-1.1911 ดอลลาร์ และ 131.82-131.86 เยนที่ตลาดโตเกียวเมื่อช่วงเย็นเมื่อวานนี้

(+/-) OPEC+ เลื่อนเจรจาประเด็นเพิ่มการผลิตน้ำมัน หวังหาแนวทางประนีประนอม สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า กลุ่มผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และประเทศพันธมิตรที่นำโดยรัสเซีย หรือ OPEC+ ยืนยันว่าได้เลื่อนการเจรจาของรัฐมนตรีประเทศสมาชิกเกี่ยวกับนโยบายการผลิตน้ำมัน จากเดิมที่จะมีขึ้นช่วงบ่ายวันนี้ตามเวลาท้องถิ่น เป็นวันพฤหัสบดีซึ่งตรงกับวันประชุมใหญ่ประจำเดือนของ OPEC+ เพื่อให้ประเทศสมาชิกมีเวลาตัดสินใจมากขึ้นก่อนที่จะลงมติว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันหรือไม่ในเดือน ส.ค.  โดย OPEC+ ที่นำโดยซาอุดิอาระเบีย และรัสเซียกำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการฟื้นฟูอุปทานน้ำมันที่กำลังลดลงอย่างมากหรือไม่ หลังความต้องการน้ำมันทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

โดยรัสเซียได้เสนอให้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน ขณะที่ซาอุดิอาระเบียเสนอให้คงกำลังการผลิตอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อป้องกันไม่ให้มีน้ำมันดิบในคลังสำรองมากเกินไป โดยคาดว่าการเลื่อนเจรจาในครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มเวลาตัดสินใจให้กับทั้งสองประเทศเพื่อหาแนวทางประนีประนอมต่อไป การเลื่อนการเจรจาของ OPEC+ ในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 6 เดือนหลังจากที่ก่อนหน้านี้ OPEC+ ได้เลื่อนการเจรจาออกไป 2 ครั้งในการประชุมเดือนธ.ค.เนื่องจากมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นเพิ่มการผลิตน้ำมันระหว่างซาอุดิอาระเบีย และ รัสเซีย ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะยอมประนีประนอมและมีมติให้เพิ่มการผลิตน้ำมันในการประชุมครั้งดังกล่าว

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบโลกสัญญาเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือน ก.ค.ได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 73.42 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่ม 0.60% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบสัญญาเบรนท์ (Brent) อยู่ที่ระดับ 74.61 เพิ่มขึ้น 0.44% หลังเปิดตลาดทำการซื้อขายเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

ที่มา : อินโฟเควสท์, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, The Standard และ Efinancethai

- Advertisement -