ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,533 ราย ประกอบด้วย
– ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 3,788 ราย
– จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 1,689 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 44 ราย
– ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 12 ราย โดยยังคงพบการเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ จากเมียนมา และกัมพูชา
– มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 57 ราย แยกเป็นเพศชาย 30 ราย เพศหญิง 27 ราย อายุระหว่าง 30-94 ปี, อายุ 60 ปีขึ้นไป (65%) ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังมาจาก กทม. โดยยังพบมีโรคประจำตัวจาก 3 โรคหลัก ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 264,834 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 210,702ราย เพิ่มขึ้น 3,223 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 2,080 ราย จำนวนผู้รับได้รับการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-30 มิ.ย. 64 มีผู้ได้รับวัคซีนสะสมรวม 9,927,698 โดส เป็นแข็มแรก 7,110,854 โดส และเข็มที่สอง 2,816,844 โดส
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในวันนี้ (1 ก.ค.64 ) พบคลัสเตอร์ใหม่ในจังหวัดนครปฐม อ.ดอนตูม เป็นโรงงานไก่ และวิทยาลัยเทคนิค อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ซึ่งนักเรียนกลุ่มนี้มีรายงานการติดเชื้อในหลายจังหวัด และที่ประชุม ศบค. ยังได้ทบทวนมาตรการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อก” ซึ่งทางจังหวัดภูเก็ตได้จะมีการเตรียมการอย่างเบ็ดเสร็จและรัดกุม ตั้งแต่ก่อนเดินทาง การซักซ้อมตั้งแต่สนามบิน ในพื้นที่ ภาคสาธารณสุข โรงพยาบาล การมีมาตรการเฝ้าระวัง มาตรการส่วนบุคคล และจัดทำแผนเผชิญเหตุ
“หากภูเก็ตแซนด์บ็อก ทำได้ดี ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะได้ขยายโครงการไปยังสมุย ซึ่งได้เริ่มเสนอแผน สมุยโมเดล และหลายเกาะในฝั่งอันดามัน และมีอีกหลายที่ได้เสนอ เช่น เชียงใหม่ บุรีรัมย์ มีคณะทำงานทำงานกันอย่างหนัก และ ศบค.ชุดเล็กได้มีข้อเสนอจังหวัดและพื้นที่อื่นๆ ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจไม่เฉพาะท่องเที่ยว ให้พิจารณาแบบประเมินตนเองก่อน เพื่อเริ่มร่างมาตรการเพื่อเสนอทางการได้”
สำหรับการเปิดประเทศใน 120 วัน ถือเป็นทิศทางกำหนดทุกภาคส่วน ตามแผนคาดจะเปิดได้ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.64 ปัจจุบันมีการกำหนดเป้าหมาย มีการหารือคณะทำงาน มีอาจารย์แพทย์ร่วมให้คำปรึกษา โดยย้ำเสมอว่า 120 วัน จะต้องมีมาตรการติดตาม และขับเคลื่อนอย่างใกล้ชิด เพราะหากยังไม่มีความพร้อม สามารถปรับเปลี่ยนหรือยืดหยุ่นได้