ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,087 ราย ประกอบด้วย
– ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 3,905 ราย
– จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 1,964 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 207 ราย
– ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 11 ราย โดยยังคงพบการเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ จากเมียนมา และกัมพูชา
– มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 61 ราย แยกเป็นเพศชาย 29 ราย เพศหญิง 32 ราย อายุระหว่าง 30-90 ปี, อายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 70% ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังมาจาก กทม. โดยยังพบมีโรคประจำตัว ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 270,921 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 214,340ราย เพิ่มขึ้น 3,638 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 2,141 ราย จำนวนผู้รับได้รับการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-1 ก.ค. 64 มีผู้ได้รับวัคซีนสะสมรวม 10,227,183 โดส เป็นแข็มแรก 7,364,585 โดส และเข็มที่สอง 2,862,598 โดส
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวว่า ภาพรวมกรุงเทพฯ มีคลัสเตอร์ต้องเฝ้าระวัง 130 คลัสเตอร์ โดยที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก และที่ประชุม EOC ยังมีความเป็นห่วงการแพร่ระบาดและจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังสูงต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับจำนวนผู้หายป่วยกลับบ้านทำให้จำนวนเตียงขาดแคลน ที่ประชุมจึงหารือกับกรุงเทพมหานคร วางแนวทางจัดการและเพิ่มศักยภาพเตียงรองรับ
โดยสัดาห์นี้มีมาตรการสำคัญ จะใช้สถานที่แยกกักในชุมชน (Comunity Isolation) จัดเตรียมสถานที่แยกกักเพื่อรอจัดสรรเตียง โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เตรียมประชุมร่วมกับกรมการแพทย์ ในเวลา 14.30 น.วันนี้ (2 ก.ค.64) เพื่อวางแนวปฎิบัติทั้งของชุมชน และผู้ติดเชื้อ มีทั้งมาตรการประเมินตนเอง การสังกตอาการเปลี่ยนแปลง และรายละเอียดให้การกันกันไม่สู่การแพร่ระบาดสู่คนใกล้ชิดและผู้อื่น
นอกจากนี้ได้หารือถึงศักยภาพการเพิ่มเตียงในระดับสีเขียว สีเหลือง และสีแดง ซึ่งโรงพยาบาลบุษราคัม พร้อมเปิดดำเนินการได้ทันที โดยจะมีการปฐมนิเทศน์ทีมแพทย์สาขาต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อม 144 คน เพื่อเข้ามาเสริมกำลังในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีภาวะติดเตียง ผู้พิการ และกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวหลัก โดยกรุงเทพมหานคร จะจัดหน่วยเคลื่อนที่เข้าดำเนินการ โดยพบว่ามีผู้สูงอายุ และผู้ดูแลใน Nursing Home 140 แห่ง กลุ่มเป้าหมาย 4,615 คน และผู้สูงอายุติดเตียงและผู้ดูแล ใน 50 เขต มีกลุ่มเป้าหมาย 1,776 คน