คาดได้รับจัดสรร 4 ล้านโดสทยอยส่งมอบตั้งแต่ ต.ค.
“นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน” ยืนยันให้บริการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาที่ราคา 1,650 บาท/เข็ม รวมทุกค่าใช้จ่ายแล้ว เป็นราคาที่หารือกับองค์การเภสัชกรรม และกรมสนับสนุนบริการ จากราคาต้นทุนที่ 1,100 บาท/โดส ยืนยันราคา 1,500 บาท/เข็ม ของรพ.รามา ไม่เกี่ยวกับโควต้าของเอกชน เป็นราคาของโรงพยาบาลรัฐ เผยล็อตนี้มี 5 ล้านโดส จัดสรรให้กับสมาคมฯ 4 ล้านโดส และอีก 1 ล้านโดสจะจัดสรรให้กับโรงพยาบาลของรัฐ หรือหน่วยงานต่างๆ ตามความเหมาะสม
นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า สมาคมโรงพยาบาลเอกชนยังคงยืนยันราคาให้บริการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาที่ราคา 1,650 บาท/เข็ม ซึ่งเป็นราคาสุทธิรวมค่าใช้จ่ายแล้ว และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคา เพราะเป็นราคาที่ทางสมาคมฯ ได้หารือกับองค์การเภสัชกรรม และกรมสนับสนุนบริการ เคาะราคาอย่างเป็นทางการออกมาเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 64 เพื่อให้โรงพยาบาลเอกชนเปิดจองและรับชำระเงิน รวมทั้งโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้ โดยเป็นราคาที่กำหนดตามเกณฑ์ไม่เกิน 1.5 เท่าของต้นทุนวัคซีนโมเดอร์นาที่ 1,100 บาท/โดส
สำหรับการที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเปิดจองวัคซีนโมเดอร์นาที่ราคา 1,500 บาท/เข็ม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโควต้าจัดสรรของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน แต่เป็นค่าบริการที่ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีกำหนดเอง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ทำให้อัตราการให้ค่าบริการและค่าใช้จ่ายต่างๆ ถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชน อาจจะเป็นการสั่งซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรมโดยตรง
“ราคาฉีดวัคซีนโมเดอร์นาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเปิดจอง 1,500 บาท/คน ไม่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลเอกชน เป็นราคาที่ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีเขาเคาะออกมา ของเอกชนเรายังนืนยันที่ 1,650 บาท/เข็ม ไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว ส่วนการจัดซื้อของโรงพยาบาลรามาธิบดีเขาก็สั่งซื้อของเขาเอง ไม่มารวมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน”นายแพทย์เฉลิม กล่าว
นายแพทย์เฉลิม กล่าวว่า โควตาวัคซีนโมเดอร์นาที่องค์การเภสัชกรรมจะทำสัญญาสั่งซื้อนั้นมีจำนวนทั้งหมด 5 ล้านโดส ซึ่งจะจัดสรรให้กับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน 4 ล้านโดส และอีก 1 ล้านโดสจะจัดสรรให้กับโรงพยาบาลของรัฐหรือหน่วยงานต่างๆ ตามความเหมาะสม โดยกำหนดส่งมอบวัคซีน 5 ล้านโดสยังคงยืนยันว่าจะทยอยส่งมอบได้ตั้งแต่เดือน ต.ค.-มี.ค.64 ไม่ได้เป็นไปตามกระแสข่าวที่จะเริ่มส่งมอบได้ในไตรมาส 1/64
ขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งได้ปิดรับจองวัคซีนโมเดอร์นาแล้ว แต่บางแห่งยังเปิดรับจองอยู่ อย่างเครือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ (BCH) ปิดลงทะเบียนจองไปแล้ว และเปิดให้ผู้ลงทะเบียนทยอยชำระเงินค่าจอง โดยเครือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์มีจำนวนผู้ลงทะเบียนจองเข้ามาแล้ว 600,000 ราย จากที่แสดงความประสงค์สั่งซื้อวัคซีนโมเดอร์นาราว 1 ล้านโดส ส่วนเครือโรงพยาบาลธนบุรีแสดงความประสงค์สั่งซื้อราว 800,000 โดส
“ยอดรวมเดี๋ยวต้องรอสรุปอีกทีว่าแต่ละโรงพยาบาลจะสรุปตัวเลขกันมาเท่าไหร่ เพราะเท่าที่ทราบก็ถือว่ามีความต้องการกันล้นหลาม อย่างของโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ของคุณหมอก็มีคนจองชำระเงินเข้ามาแล้ว 600,000 ราย ซึ่งก็ถือว่ามีความต้องการเข้ามาเยอะมาก ตอนนี้โรงพยาบาลเอกชนก็ยังมีทยอยให้ชำระเงินอยู่ บางโรงพยาบาลก็ยังเปิดให้จอง และก็ต้องสรุปจำนวนที่แน่นอนให้องค์การเภสัชไม่เกินสิ้นเดือน ก.ค.นี้”นายแพทย์เฉลิม กล่าว
ด้าน นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์ แคร์กรุ๊ป (THG) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการทางสถานีโทรทัศน์เช้านี้ว่า กระบวนการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกเกิดความล่าช้าเพราะระบบราชการของไทย โดยจะเห็นได้จากการที่ทางเอกชนมีความพร้อมรวบรวมเงินเพื่อสั่งซื้อวัคซีนทางเลือกตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีที่แล้ว และเสนอให้ทำการเซ็นสัญญาตั้งแต่เดือน เม.ย. 64 แต่เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการทำสัญญานาน 4 เดือนเพื่อที่จะได้รับวัคซีนในเดือน ส.ค.64
แต่สถานการณ์ปัจจุบันทางเอกชนต้องรอรวบรวมเงินในช่วงสิ้นเดือนก.ค. 64 นี้ เพื่อรอทำการเซ็นสัญญากับไฟเซอร์ในเดือน ส.ค. 64 ทั้งนี้หากวัคซีนไฟเซอร์เหลือทางธนบุรีสามารถรับซื้อวัคซีนทั้งหมดได้ เนื่องจากทางธนบุรีมีความต้องการวัคซีนจำนวนมากเพื่อใช้ในเครือโรงพยาบาลของทั้งในประเทศและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามบริษัทไฟเซอร์ได้มีการพูดคุยกับทางรัฐบาลตั้งแต่ช่วงเดือนพ.ย. 63 โดยมีการตกลงกันว่าทางบริษัทไฟเซอร์จะจัดสรรวัคซีนให้ในไตรมาส 3/64 ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าในไตรมาส 4/64 ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนจากไฟเซอร์ เนื่องจากทางรัฐบาลไม่ได้ทำการเซ็นสัญญากับทางไฟเซอร์อย่างเป็นทางการ
ด้านวัคซีนโมเดอร์นาทางโรงพยาบาลธนบุรีได้ขอสั่งซื้อวัคซีนโมเดอร์นาจำนวน 100,000 โดสตั้งแต่เดือน เม.ย. 64 เพื่อนำมาฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในเครือโรงพยาบาลกว่า 5,000-6,000 คน แต่ทางองค์การเภสัชกรรมไม่อนุญาตเนื่องจากการจัดสรรวัคซีนจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนเท่านั้น
นพ.บุญ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้นี้คือวัคซีนซิโนแวกไม่สามารถป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวกติดเชื้อโควิด-19 กว่า 300 ราย ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ของทางโรงพยาบาลที่ได้รับวัคซีนซิโนแวกครบ 2 โดสก็ติดเชื้อโควิดและมีอาการรุนแรงอยู่ในไอซียูถึง 2 ราย อย่างไรก็ตามวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ายังมีความสามารถในการป้องกันที่ดีกว่าวัคซีนซิโนแวกอยู่ที่ประมาณ 50%
ที่มา : สำนักข่าวอินโฟเควสท์