ย้ำมีภูมิคุ้มกันการเงินแข็งแกร่ง สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
บมจ.ยูเอซี โกลบอล (UAC) ดีเดย์เข้าคำนวณดัชนี sSET ครึ่งปีหลัง สบช่องสร้างความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ตอกย้ำสภาพคล่องดีฐานะทางการเงินแกร่ง P/E ที่ 13.61 เท่า และ D/E อยู่ที่ระดับต่ำเพียง 0.98 เท่า ด้าน CEO “ชัชพล ประสพโชค” แจง UAC มีภูมิคุ้มกันทางการเงินและมีการบริหารต้นทุนความเสี่ยงที่ดี เร่งเครื่องเดินหน้าขยายการลงทุนอิงโครงการที่สร้างผลตอบแทน (ROE) ในระดับไม่ต่ำกว่า 20% ขึ้นไป เพื่อสร้างอัตราการเติบโตระยะยาวให้ครบทุกมิติด้านการลงทุน Energy Efficiency และ Bio Circular Economy ทั้งในประเทศ กลุ่มประเทศ CLMV และโรงไฟฟ้าชุมชน
นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยถึงการได้รับการคัดเลือกเข้าคำนวณดัชนี sSET ในครึ่งปีหลัง 2564 โดยจะมีผลตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564 – 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งการได้รับการเข้าคำนวณในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำความมั่นคงทางธุรกิจ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เมื่อพิจารณาจากระดับ P/E ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 13.61 เท่า โดยถือว่าอยู่ในระดับที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมเดียวกัน
“ ดัชนี sSET เป็นการใช้เครื่องมือในการเปรียบเทียบผลตอบแทน (Benchmark) สำหรับหุ้นขนาดเล็ก และขนาดกลาง และใช้คัดกรองหุ้นที่มีพื้นฐานที่ดี และยังมีโอกาสที่จะนำไปอ้างอิงสำหรับการออก ตราสารทางการเงินในอนาคตได้ ”
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการบุ๊กกำไรจากบริษัทร่วมทุน “บางจาก ไบโอฟูเอล” หรือ BBF งวดประจำปี 2563 ในส่วนที่เหลือ เข้ามาในไตรมาส 2/2564 นี้ จำนวน 119.92 ล้านบาท ยิ่งเป็นการสะท้อนถึงผลการดำเนินงานจากการลงทุนที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็จะส่งผลให้ฐานะทางการเงินของบริษัทฯมีความที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราหนี้ต่อทุนหรือ D/E Ratio อยู่ที่ 0.98 เท่า
พร้อมกันนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การที่บริษัทฯ มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีก็เปรียบเสมือนเรามีภูมิคุ้มกันด้านการเงินที่ดี โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวจากวิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ ดังนั้นบริษัทฯ จะต้องให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงการสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยปรับนำ Business model ใหม่ อาทิ การทำ consulting service มาใช้ พร้อมทั้งพยายามรักษาการให้บริการและฐานะลูกค้าให้ดีอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดบริษัทฯ เตรียมส่งมอบออเดอร์ (Backlog ) กว่า 250 ล้านบาท ให้กลุ่มลูกค้าธุรกิจเทรดดิ้ง อาทิ กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน โรงงานปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าได้กลับมาเดินเครื่องผลิตได้ตามปกติ โดย Backlog ดังกล่าวจะทยอยส่งมอบภายในครึ่งปีหลังทั้งหมด
สำหรับแนวโน้มและแผนดำเนินการทางธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังนั้น นายชัชพล กล่าวว่า บริษัทฯยังคงมุ่งเน้นนโยบายการลงทุนด้าน Energy Efficiency และ Bio Circular Economy ทั้งในประเทศ และกลุ่มประเทศ CLMV อย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาเลือกลงทุนในโครงการที่สร้างผลตอบแทน (ROE) ในระดับไม่ต่ำกว่า 20% ขึ้นไป จากที่ปัจจุบัน ROE อยู่ในระดับ 18.5% พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ดังนั้นบริษัทฯต้องลงทุนอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้กระทบต่อบริษัทฯและผู้ถือหุ้น
ส่วนความคืบหน้ากรณีการเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น บริษัทฯยังคงเดินตามแผนนโยบายของภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยบริษัทฯเข้าประมูล จำนวน 6 โครงการ กำลังการผลิตแห่งละ 3 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 18 เมกะวัตต์ คาดใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทฯ เชื่อว่าจะได้รับการคัดเลือก เนื่องจากมีความพร้อมด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี รวมถึงประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานจากก๊าซชีวภาพมากว่า 10 ปี และยังมีโรงไฟฟ้าต้นแบบอยู่ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
อย่างไรก็ตาม จากความมุ่งมั่นในแผนการดำเนินทางธุรกิจข้างต้น จะส่งผลให้อัตราการเติบโตของรายได้ในปีนี้ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% เมื่อเทียบจากปีก่อน ขณะที่ EBITDA ตั้งเป้าไว้ไม่ต่ำกว่า 20% ของยอดขายอย่างแน่นอน