สำนักวิจัยซีไอเอ็มบี ไทย :

สถานการณ์เศรษฐกิจที่สำคัญ
– กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลสหรัฐเดินหน้าใช้มาตรการด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น อาจเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ พร้อมกับเตือนว่า ความเสี่ยงของการที่ราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น อาจผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้

นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการ IMF กล่าวผ่านบล็อกของ IMF ว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในสหรัฐจะส่งผลให้ประเทศทั่วโลกพากันใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินในระดับที่รุนแรง และจะทำให้มีเม็ดเงินไหลออกจากกลุ่มตลาดเกิดใหม่และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในปริมาณที่สูงมากอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ IMF ประเมินความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อของสหรัฐในช่วงเวลาที่ส.ส.พรรครีพับลิกันได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับแผนมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯของปธน.โจ ไบเดน ซึ่งเป็นแผนที่มีเป้าหมายกระตุ้นการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน, การดูแลเด็ก และขยายการดูแลให้ครอบคลุมถึงผู้สูงอายุและคนพิการ

นางจอร์เจียวากล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวได้ถึง 7% ในปีนี้ ซึ่งจะเอื้อประโยชน์กับหลายประเทศผ่านทางการค้าที่เพิ่มขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ เมื่อไม่นานมานี้ IMF ได้ออกรายงานคาดการณ์ว่า เฟดจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในช่วงปลายปี 2565 เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังคงฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีการใช้มาตรการกระตุ้นด้านการคลังเพิ่มเติมในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ (Source: https://www.ryt9.com)

– สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี (Destatis) รายงานว่า ยอดส่งออกของเยอรมนียังคงฟื้นตัวในเดือนพ.ค. แม้จะมีการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์บางส่วนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ตาม ทั้งนี้ ยอดส่งออกของเยอรมนีในเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบเป็นรายเดือนหลังจากปรับค่าแล้ว ส่วนยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 3.4% (MoM)

สำนักงานสถิติเยอรมนีระบุว่า เยอรมนีส่งออกสินค้าเป็นมูลค่า 1.094 แสนล้านยูโร และนำเข้าสินค้าเป็นมูลค่า 9.71 หมื่นล้านยูโรในเดือนพ.ค. โดยมีการส่งออก 6.07 หมื่นล้านยูโรไปยังสหภาพยุโรป (EU) และอีก 4.88 หมื่นล้านยูโรไปยังประเทศอื่นๆ โดยยอดเกินดุลการค้าของเยอรมนีอยู่ที่ 1.26 หมื่นล้านยูโร (1.49 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในเดือนพ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านยูโร (Source: https://www.ryt9.com)

MONEY MARKET
– ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาท วันพฤหัส (8 ก.ค ) เงินบาทวันนี้อ่อนค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ค่าเงินเอเชียส่วนใหญ่วันนี้ก็อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯเช่นกัน โดยสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยกดดันค่าเงินบาทและตลาดหุ้นไทย ส่วนในต่างประเทศความวิตกเกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์ก็ส่งผลให้นักลงทุนลดการถือสินทรัพย์เสี่ยงและซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯมากขึ้นในวันนี้

CAPITAL MARKET
-ตลาดหุ้นสหรัฐฯ วันพฤหัส (8 ก.ค ) ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐลดลงวันนี้เนื่องจากความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 กลายพันธุ์ในหลายประเทศ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดลดลง 0.75%, ดัชนี S&P500 ปิดลดลง 0.86% และดัชนี Nasdaq ปิดลดลง 0.72%

-ตลาดหุ้นไทย วันพฤหัส (8 ก.ค ) ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ลดลง ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ก็ลดลง อย่างไรก็ดีตลาดหุ้นไทยวันนี้ลดลงมากกว่าตลาดเอเชียส่วนใหญ่เนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับการล็อกดาวน์อีกครั้งเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ปิดตลาดวันนี้ SET INDEX ลดลง 32.93 จุด

Analyst View
เงินบาทสัปดาห์นี้ยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯต่อเนื่องจากสามสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยนอกจากปัจจัยเกี่ยวกับการคาดการณ์เรื่องแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯแล้ว ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ถูกกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด-19 ก็ส่งผลลบต่อตลาดการเงินของไทยทั้งตลาดหุ้นรวมทั้งค่าเงินบาท

โดยจากแนวโน้มที่จะมีการล็อกดาวน์อีกครั้งหลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศยังเพิ่มขึ้นมากด่อเนื่องในช่วงนี้ทำให้มีไม่แน่นอนมากขึ้นเกี่ยวกับโอกาสในการการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ สำหรับภาพรวมค่าเงินเอเชียและตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงปลายสัปดาห์นี้ก็ถูกกดดันเช่นกัน เนื่องจากนักลงทุนหันไปถือสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ เช่นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯมากขึ้นเนื่องจากความวิตกต่อการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกหลังไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์มากขึ้น และทำให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับประสิทธืภาพของวัคซีน

สำหรับในสัปดาห์หน้า (12-16 กรกฎาคม 2564) คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.50-32.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลกเป็นประเด็นหลักที่ต้องติดตามต่อเนื่อง

- Advertisement -