ธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 64 ลงเหลือ 2.2% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน มี.ค.ที่ระดับ 3.4% เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะได้รับผลกระทบอย่างหนักต่อไปอีกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มองส่งออก- มาตรการด้านการคลัง จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ จับตามาตรการล็อกดาวน์พื้นที่ 10 จังหวัด หากกินเวลานานเกินไตรมาส 3/64 จะฉุดเศรษฐกิจไทยปีนี้ เหลือโตแค่ 1.2%

นางเบอร์กิต แฮนเซิล ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ได้รายงานการติดตามเศรษฐกิจไทย เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจว่า ได้ปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยคาดว่าจะขยายตัว 2.2% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.4% มาจากการส่งออกที่ดีขึ้น และจากมาตรการเยียวยาของภาครัฐ โดยการส่งออก จะมีส่วนสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจในปีนี้ จากการฟื้นตัวของอุปสงค์โลกสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่งจักรกล และผลผลิตทางการเกษตร โดยปีนี้คาดว่าส่งออกจะขยายตัวได้ 7.3% ด้านนำเข้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 10.3%

พร้อมกันนี้ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ในระดับก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ ภายในปี 65 โดยคาดว่าจะจีดีพีจะขยายตัวอยู่ที่ 5.1% แต่ความเร็วในการฟื้นตัว จะขึ้นอยู่กับความคืบหน้าในการดำเนินการฉีดวัคซีนของไทย ประสิทธิผลของมาตรการสนับสนุนทางการคลัง และระดับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทย ที่ซึมตัวลงเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสามที่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาในปีนี้คาดว่าจำนวนจะลดเหลือเพีง 6 แสนคนเท่านั้น เมื่อเทียบกับในปี 62 ที่ก่อนเกิดการระบาดสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยถึง 40 ล้านคน

จากการระบาดละลอก 3 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง ทั้งการจ้างงาน รายได้ และความยากจน แต่การรับมือด้วยมาตรการความคุ้มครองทางสังคมที่ครบถ้วนของรัฐบาล ส่งผลเป็นที่น่าพอใจ ทำให้พื้นที่การคลังของไทย ยังมีเพียงพอสำหรับดำเนินมาตรการช่วยเหลือคนยากจนในช่วงเวลาหลายเดือนข้างหน้า โดยเฉพาะการขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประชาชน จากเดิมที่อยู่ในระดับที่ไม่มากนัก มาเป็นชุดของมาตรการเยียวยาเพื่อรับมือกับการระบาดในครั้งนี้

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยของธนาคารโลก กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแรงสนับสนุนจากการส่งออก หลังเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว รวมถึงได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการด้านการคลังด้วย แม้โควิด-19 ระลอก 3 จะเห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น นำมาสู่การออกมาตรการควบคุมดูแลเพื่อลดการติดเชื้อ ส่งผลกระทบต่อการบริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่มองว่า ยังน้อยกว่าเมื่อการออกมาตรการในช่วงเม.ย.ปีก่อน

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปี 65 บนสมมติฐานที่สำคัญ คือ ความก้าวหน้าของอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศ และอัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกดีขึ้น จนทำให้การท่องเที่ยวระหว่างประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ และความสามารถในการเบิกจ่ายงบประมาณเงินกู้ 500,000 ล้านบาท สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้คาดว่า ในปี 65 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 5.1% ซึ่งจะมาจากการส่งออกที่ฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากอุปสงค์โลก โดยเฉพาะการฟื้นตัวของกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล และผลิตผลทางการเกษตร

“เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ขึ้นกับ 3 ปัจจัยสำคัญ คือ จะมีการระบาดของโรคโควิดในประเทศอีกรอบหรือไม่, การจัดหาและการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด รวมทั้งการกลับคืนมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวไทย” นายเกียรติพงศ์ กล่าว

ระดับหนี้สาธารณะ คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ความยั่งยืนทางการคลังยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยคาดว่าในปี 65 หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะอยู่ที่ระดับ 62% จากสิ้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 59.3% โดยแนวโน้มหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ แม้จะเกินกรอบเพดาน แต่ก็เป็นแค่ชั่วคราวในระดับดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อกรอบความยั่งยืนทางการคลังในระยะปานกลาง และการที่หนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เป็นเงินตราภายในประเทศ และสภาพคล่องภายในประเทศมีอยู่อย่างเพียงพอที่จะให้รัฐบาลกู้ รวมถึงหนี้ใหม่มีอายุการไถ่ถอนที่ค่อนข้างนาน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงต่อฐานะทางการคลังได้

ทั้งนี้ ธนาคารโลกมีข้อเสนอแนะในเชิงโยบายที่สำคัญ 3 ข้อ ดังนี้
1. การจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เพียงพอและทั่วถึง จะมีความสำคัญและเป็นปัจจัยหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดความช้า-เร็ว ในการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามา ซึ่งรวมไปถึงการฟื้นตัวของภาคบริการ และการบริโภคภายในประเทศตามมาด้วย
2. ธนาคารโลกมองว่า ปัจจบุนนโยบายด้านการคลังของไทย ยังมีพื้นที่เพียงพอในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ และยังสามารถรักษาเสถียรภาพทางการคลังได้ แต่การใช้นโยบายดังกล่าว ควรเป็นแบบเจาะจงเพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ
3. จากสถานการณ์การค้าโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้ไทยควรใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูปโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการลดอุปสรรคทางการค้า ทั้งนี้เพื่อให้เศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงค์อย่างเต็มที่จากการฟื้นตัวของการค้าและการลงทุนในระดับโลก

“การตรวจเชื้อ สืบย้อน กักตัวที่เหมาะสม และการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดอย่างทั่วถึง จะมีความจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงการล็อกดาวน์ กระตุ้นการเพิ่มการเคลื่อนย้าย และการบริโภคในประเทศให้ต่อเนื่อง และเพื่อให้เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้…ในระยะยาว การปฏิรูปเพื่อลดต้นทุนและอุปสรรคการค้า จะช่วยให้ไทยได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก” นายเกียรติพงศ์กล่าว

ส่วนมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ที่รัฐบาลใช้อยู่ในขณะนี้ มองว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยจะไม่มากเท่ากับในปีก่อนที่มีมาตรการเข้มงวดกว่า เนื่องจากมองว่าในปีนี้แม้จะมีการใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์ แต่ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ ได้ปรับตัวไปแล้วก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็นการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) การสั่งอาหารมารับประทานที่บ้าน (เดลิเวอร์รี่) ซึ่งทำให้คาดว่าการบริโภคในปีนี้ ยังขยายตัวได้ 1.3% และขยายตัวได้ 3.9% ในปี 65

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ยืดเยื้อยาวนานเกินกว่าจะควบคุมได้ จนส่งผลให้รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดยาวจนไตรมาสที่ 3/64 ถือเป็นกรณีเลวร้ายที่สุด จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการขยายตัวของตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้ลดลงเหลือ 1.2% ได้ จากปัจจุบันคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.2% ขณะที่ปี 65 การเติบโตอาจจะลดลงเหลือ 2.1% ได้ จากปัจจุบันที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 5.1%

“World Bank คาดการณ์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิดในแต่ละระลอกไว้ ผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลใช้ควบคุมการแพร่ระบาด โดยยอมรับว่ามาตรการล็อกดาวน์ในปัจจุบันที่ดำเนินการอยู่ไม่ได้เข้มข้นเท่ารอบแรก และยังเข้มข้นน้อยกว่าหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ดังนั้นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือ การบริโภคชะลอตัวลงบ้าง แต่ท้ายที่สุดประชาชน และครัวเรือนจะมีการปรับตัวตามมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลประกาศใช้” นายเกียรติพงศ์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตามก็คือ การระบาดทั่วโลกที่ยังคาดเดาได้ยาก จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศ จะสะท้อนความก้าวหน้าในการกระจายวัคซีน ความสำเร็จในการหาวัคซีนเพิ่มเติม และความมีประสิทธิภาพของวัคซีนกับสายพันธุ์ใหม่ๆของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะเดียวกัน แนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีจากภายนอกประเทศจะช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการค้าและการลงทุน ในระยะปานกลาง รวมไปถึงการปฏิรูปโครงสร้าง จะเป็นกุญแจสำคัญที่ก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และบรรเทาความเสี่ยงในทางลบได้ เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาได้ประโยชน์จากโอกาสนี้ เช่น การปฏิรูปเพื่อลดต้นทุนและอุปสรรคการค้า จะช่วยให้ไทยได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการฟื้นตัว การเปิดเสรีภาคบริการและมาตรการอื่นๆ จะช่วยสนับสนุนการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ

รวมไปถึง การบังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจัง และการใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่อย่างเต็มที่ จะช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับองค์ความรู้และช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อนของสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น

- Advertisement -