เปิดพื้นฐาน SNNP สู้ภาวะตลาด “โควิด-19 ระบาดแรง พื้นฐานอัตราการเติบโตดี พร้อมเทรด 20 กรกฎาคม 64 ด้าน 4 โบรกเกอร์มั่นใจธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด ให้ราคาเป้าหมาย 13.50-15.10 บาท บนพีอีสูงกว่าค่าเฉลี่ย ธุรกิจเดิมทั้งในประเทศ และกลุ่ม CLMV ยังเติบโตดี และมองธุรกิจ “กัญชง” ครบวงจรเป็นอัพไซด์ คาดได้เห็นผลิตภัณฑ์ภายในไตรมาส 3

Makemoney Insight วันนี้ เรามาร่วมกันต้อนรับน้องใหม่ ที่จะเทรดวันที่ 20 กรกฎาคม 64 ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ระบาดรุนแรงทั่วโลก กับ ธุรกิจของ บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง หรือ SNNP เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวในประเทศไทย ผ่านสินค้าหลากหลายประเภท มียอดขายกระจายตัวในสินค้าหลายแบรนด์ โดยไม่ได้พึ่งพาสินค้าใดสินค้าหนึ่งเป็นหลัก มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งเป็นที่รู้จักกว้างขวาง เช่น “เบนโตะ” มีส่วนแบ่งตลาด 68% เป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มขนมขบเคี้ยวประเภทปลาหมึกอบ ปลาหมึกเส้น และปลาเส้น “เจเล่” ซองมีส่วนแบ่งตลาด 66.3% เป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มเยลลี่พร้อมดื่ม และเยลลี่คาราจีแนน ส่วนโลตัสมีส่วนแบ่งตลาด 24.5% เป็นอันดับสองในกลุ่มสินค้าขนมปังแบบแท่ง

“วิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง (SNNP) เปิดเผยว่า พร้อมสำหรับนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้ชื่อย่อ SNNP จำนวนไม่เกิน 240 ล้านหุ้น ที่ราคาเสนอขายสุดท้าย 9.20 บาท ต่อหุ้น ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย โดยมีนักลงทุนสถาบันให้ความสนใจเข้ามาจองซื้อเป็นจำนวนมากกว่า 17 เท่าของจำนวนหุ้นที่เสนอขาย โดยตั้งเป้าเติบโตเป็น 2 เท่า หรือมีรายได้ 8,000 ล้านบาทภายในปี 69

หลังเข้าตลาดแล้ว บริษัทเตรียมออกสินค้าที่มีส่วนผสมของ “กัญชง” โดยได้พัฒนาสูตรสินค้า และเตรียมบรรจุภัณฑ์ไว้แล้ว ถือเป็นอัพไซด์ในอนาคตของบริษัท ที่ผ่านมา ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการวิจัยเกี่ยวกับโครงการวิจัยเรื่องการคัดเลือกพันธุ์กัญชง สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่มกับคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564

จุดเด่นของ SNNP คือประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวยาวนานกว่า 30 ปี และมีตราสินค้าเป็นผู้นำตลาด รู้จักอย่างแพร่หลาย หลากหลายผลิตภัณฑ์ ภายใต้ตราสินค้าชั้นนำอย่าง “เจเล่” และ “เบนโตะ” จัดจำหน่ายมากกว่า 35 ประเทศทั่วโลก เช่น ไทย, กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม, จีน, เกาหลีใต้, ฮ่องกง, ไต้หวัน และสิงคโปร์ เป็นต้น

คาดกำไรสุทธิปี 64-66 เติบโต 79% ต่อปี
บทวิเคราะห์จาก บล.คันทรี่ กรุ๊ป คาดการณ์ในปี 64-66 กำไรสุทธิเติบโตราว 79% ต่อปี มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 26.3%, 27.0% และ 28.2% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ทำได้ 25.7% จากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และการยกระดับ ปรับหน่วยสินค้าของผลิตภัณฑ์ทำให้สามารถเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น และขยายฐานลูกค้าที่มีกำลังในการใช้จ่ายสูง และมีการจัดจำหน่ายไปในช่องทางร้านค้าแบบดั้งเดิมมากขึ้น ซึ่งมีต้นทุนการฝากขายต่ำกว่า โดยจะกระจายสินค้าผ่าน บจ.สิริ โปร ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท โดยให้ราคาเหมาะสมปี 2564 ที่ 15.10 บาทต่อหุ้น อิงกับ Target PE ที่ 33.5 เท่า เป็นค่าเฉลี่ยการซื้อขายย้อนหลัง 3 ปีของบริษัทที่มีลักษณะธุรกิจใกล้เคียงกัน ภายใต้ EPS เติบโต 39% ที่ระดับ 0.45 บาท หลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของผู้บริโภคหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย

หลัง IPO ธุรกิจเป็น Net Cash กำไรสุทธิดีขึ้น
บทวิเคราะห์จาก บล.กรุงศรีฯ คาดกำไรปกติปีนี้ จะฟื้นตัวมาอยู่ที่ 282 ล้านบาท และกำไรปกติปี 65 จะเพิ่มขึ้น 59% เป็น 449 ล้านบาท จากรายได้จากการขายที่คาดว่าเพิ่มขึ้นราว 12% โดยเฉพาะจากตลาด CLMV ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากการใช้กลยุทธ์ด้านราคาร่วมกับการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพผลิต รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการขาย และการบริหารต่อยอดขายหรือ SG&A to Sales ที่คาดว่าจะปรับลดลงสวนทางกับยอดขายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมากกว่า 60% เป็นต้นทุนคงที่หรือ Fixed cost ขณะที่ภาระดอกเบี้ยจ่าย คาดว่าจะลดลงราว 80 ล้านบาท หลังจากบริษัทนำเงินจาก IPO ไปชำระหนี้ ช่วยให้อยู่ในฐานะ Net Cash ภายในสิ้นปี 2022 โดยอัตรากำไรสุทธิปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 2-5% เป็น 9-11% จึงให้ราคาเหมาะสมช่วงอยู่ในช่วง 14.00-15.00 บาทต่อหุ้น

“กัญชง” ครบวงจร หนุน
บล.เคทีบีเอสที มองว่า ตลาดต่างประเทศยังอยู่ในระยะเริ่มต้นมีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยปีนี้คาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศที่ 21% ของรายได้ทั้งหมด และยังมีโอกาสเติบโตอีกมากโดยเฉพาะประเทศกลุ่ม CLMV ที่บริษัทมีโรงงาน 2 โรงงาน (อยู่ระหว่างก่อสร้าง 1 โรงงาน) ซึ่งตลาดจีน Bento เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจีน และในอาเซียน รวมทั้งจากผลิตภัณฑ์ผสมกัญชง ที่มี Supply chain ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ คาดขนมขบเคี้ยวผสม Hemp Seed เริ่มวางจำหน่ายภายในไตรมาส 3 นี้

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเครื่องดื่มและเจลลี่ที่ผสมสาร CBD ยังอยู่ระหว่างรอ อย. อนุมัติ ให้ใช้สาร CBD ในอาหารเครื่องดื่ม คาดว่าจะอนุมัติภายในไตรมาส 3 เช่นกัน โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 13.70 บาท อิง 2022E PER 28.0x เชื่อมั่นว่า SNNP ควรเทรดที่ premium กว่า peer (2022E PER 22.7x) เนื่องจากมีข้อได้เปรียบ ดังนี้

1) มี 2021E–23E Core profit CAGR สูงถึง 42% ซึ่งสูงกว่า peer,
2) มี production facilities ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง
3) penetration rate ในตลาดต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำมีโอกาสเติบโตอีกมาก, และ
4) มี distributor เป็นของตนเอง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ปรับทิศทางการตลาด เน้นกำไร
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง มองการขายผ่านช่องทาง Traditional trade ซึ่งมีอัตรากำไรสูงกว่าทาง Modern Trade และมีโอกาสได้รับผลบวกจากโครงการภาครัฐที่คาดว่าจะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนรายได้น้อยถึงปานกลาง เช่น คนละครึ่ง และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยบริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนยอดขายผ่านทาง Traditional trade จาก 48% ในปี 2563 เป็น 55% ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า

ประเมินมูลค่ากิจการของ SNNP ด้วยวิธีคิดลดกระแสเงินสด (DCF) เพื่อสะท้อนถึงผลการดำเนินงานในระยะยาวของบริษัท และการลงทุนตั้งโรงงานผลิตสินค้าและบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าในประเทศเวียดนาม โดยให้สมมติฐาน WACC 7.7% และ Terminal growth 2% ได้มูลค่ากิจการเท่ากับ 12,963 ล้านบาท คิดเป็น 13.50 บาท/หุ้น เทียบเท่า PE ปี 2565 ที่ 29 เท่า ซึ่งสูงค่าเฉลี่ยของกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทยที่ระดับ 22 เท่า เนื่องจาก SNNP มีแนวโน้มกำไรเติบโตสูงกว่า มาจากการขยายตลาดไปสู่ประเทศ CLMV ซึ่งมีศักยภาพเติบโตสูง อีกทั้งยังมี Portfolio สินค้าหลายแบรนด์

#ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย #ตลาดหุ้นไทย #บมจ.ศรีนานาพร #เบนโตะ #เจเล่

- Advertisement -