“หอการค้าไทย” ยอมรับ การระบาดโควิด-19 ละลอก 4 อาจจะยืดเยื้อ 2-3 เดือน และจะเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น จับมือเครือข่ายเอกชนทั่วประเทศ วอนรัฐ หา Antigen Test Kit ราคาถูก มีความหลากหลาย คุณภาพ หาซื้อได้ง่าย เร่งเร่งดำเนินการในเชิงรุก พร้อมร่วมมือกับโรงพยาบาลและโรงแรมภายใต้ ม.33 แนะปรับระบบการบริหารจัดการเตียงใหม่ ปรับลดเกณฑ์ Hospitel และเพิ่ม Hotel Isolation สำหรับรองรับกลุ่มสีเขียว เพื่อลดการใช้เตียงในโรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าฯ ได้หารือกับภาคเอกชนในเครือข่ายเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ว่ายังมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าภาครัฐจะพยายามตรวจเชิงรุกเพื่อหาผู้ติดเชื้อ แต่ก็ยังไม่รวดเร็วและเพียงพอ นอกจากนั้น การจัดหาและกระจายวัคซีนก็ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ประกอบกับเชื้อโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ ทำให้การระบาดในระลอกที่ 4 นี้ รุนแรงและรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าสถานการณ์จะยืดเยื้ออีก 2-3 เดือน

รวมทั้งจะเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ เพิ่มเติม เช่น โรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ และชุมชนที่มีแรงงานเดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งหากยังไม่สามารถควบคุมและตัดวงจรการแพร่ระบาดที่มีประสิทธิภาพ จะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข และกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะภาคการผลิตและส่งออก ซึ่งเป็นช่องทางสุดท้ายที่เศรษฐกิจไทยเหลืออยู่ อาจจะเกิดการปิดโรงงาน หยุดการผลิต หากเป็นเช่นนี้ต่อไป เศรฐกิจทั้งประเทศจะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

หอการค้าไทย และเครือข่ายเอกชนทั่วประเทศ จึงได้เสนอแนวทางและมาตรการที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาล เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน โดยมีประเด็นข้อเสนอแนะ ดังนี้

1. แนวทางที่ภาคเอกชนจะดำเนินการ เพื่อเสริมการดำเนินงานของรัฐบาล
– ภาคเอกชนเห็นตรงกันว่า สถานการณ์ในขณะนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันตรวจหาเชื้อ เพื่อให้ทราบตัวผู้ติดเชื้อก่อน โดยใช้แนวคิด “รู้เร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว” โดยภาครัฐจะต้องสนับสนุนการจัดหา Antigen Test Kit ให้มีราคาถูก หลากหลาย มีคุณภาพ และหาซื้อได้ง่าย ทั้งนี้ จะต้องเร่งดำเนินการในเชิงรุก รวมถึงมีการสื่อสารที่ชัดเจน เช่น วิธีการใช้ชุดตรวจทำอย่างไร ทิ้งอย่างไร ตรวจแล้วพบเชื้อต้องดำเนินการอย่างไร โดยอาจมีการทำคู่มือสำหรับประชาชนและสถานประกอบการ พร้อมย้ำว่าทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันสร้างความรู้ความเข้าใจของโรคกับประชาชน (Covid Literacy) ให้เข้าใจวิธีการดูแลตัวเองที่ถูกต้อง และทันต่อการกลายพันธุ์ของเชื้อโรค

– ภาคเอกชนหลายบริษัทได้มีการกำหนดมาตรการและแนวทางปฏิบัติกลาง เพื่อนำไปปรับใช้สำหรับสถานประกอบการหรือโรงงานให้สอดคล้องกับศักยภาพของสถานประกอบการ ทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ในลักษณะการจัดทำแผนหรือมาตรการดูแลพนักงาน ทั้งกรณีที่ทำงานและที่พักอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน และกรณีที่ทำงานกับที่พักอยู่ต่างที่กัน ทั้งแผน Home Isolation/ Company Isolation นอกจากนั้น ยังพร้อมทำความร่วมมือกับโรงพยาบาลและโรงแรม เพื่อเป็นที่พักให้พนักงานที่ติดเชื้อ มีการอบรมพนักงานในโรงแรม ให้สามารถช่วยเหลือทีมแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นได้ และให้เอกชนจับคู่กับโรงพยาบาลใกล้เคียงหรือโรงพยาบาลภายใต้ ม.33 เพื่อช่วยให้คำปรึกษาและดำเนินการ เป็นต้น

– การแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่มีแนวทางที่เปลี่ยนไปจากเดิม หอการค้าไทย เสนอให้มีการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการทำความเข้าใจ วิธีการป้องกันใหม่ รวมถึงแนวทางการดำเนินการ สำหรับผู้ประกอบการและประชาชน ให้เข้าใจตรงกันและปฏิบัติตัวให้เหมาะสม ในรูปแบบของพี่ช่วยน้อง นอกจากนั้น เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการเข้าถึง Rapid Antigen Test kit ในราคาที่เหมาะสม หอการค้าไทยได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำคำแนะนำ และช่วยผู้ประกอบการจัดหาชุดตรวจฯ ในราคาที่เหมาะสมต่อไป

2. ขอความร่วมมือและการสนับสนุนจากภาครัฐ
– Rapid Antigen Test Kit ในราคาที่เหมาะสม ผู้ประกอบการและประชาชนสามารถเข้าถึงได้ หรือภาครัฐมีการสนับสนุน หาซื้อได้ง่าย มีคุณภาพตามมาตรฐาน และมีปริมาณเพียงพอ
– ปรับระบบการบริหารจัดการเตียงใหม่ โดยแยกประเภทและการใช้ระหว่างกลุ่มเสี่ยง (สีเขียว) และผู้ป่วย (สีเหลือง สีแดง) ให้ชัดเจน ปรับลดเกณฑ์ Hospitel และเพิ่ม Hotel Isolation สำหรับรองรับกลุ่มสีเขียว เพื่อลดการใช้เตียงในโรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง
– เพิ่มจำนวนสถานที่และเตียง โดยภาครัฐสามารถมาสนับสนุนเอกชนในการทำ Company Isolation หรือ Hospitel โดยติดต่อโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยรัฐบาลช่วยจ่ายค่าที่พัก รวมถึงการลงทุนของโรงแรม ในการปรับระบบการจัดการสถานที่ให้เหมาะสมกับการดูแลผู้ติดเชื้อ
– การใช้ Telemedicine ควรมี database กลาง และกระบวนการที่ชัดเจน โดยเพิ่มการแนะนำและติดตามอาการผ่านวิดีโอคอล มีแพทย์ให้คำแนะนำดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้ป่วย
– 25 ศูนย์ฉีดวัคซีนของภาคเอกชน พร้อมสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล เพื่อให้วัคซีนเข้าถึงประชาชนได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
– ในระยะถัดไป อาจมีการกลายพันธุ์ของไวรัสอีก ดังนั้น ภาครัฐควรสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้เร็วที่สุด ทั้งอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น วัคซีน ยา และ Rapid Test Kit เป็นต้น เพื่อให้มีการผลิตในประเทศไทย โดยสามารถให้เอกชนร่วมกันสนับสนุน

“สถานการณ์การแพร่ระบาดยังมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และดูเหมือนกำลังตามแก้ไขปัญหา ทุกส่วนจึงต้องปรับวิธีการให้เป็นเชิงรุกอย่างจริงจัง หอการค้าไทยและเครือข่ายภาคเอกชน ตลอดจนสมาชิกทุกกลุ่มธุรกิจ มีความพร้อมและยินดีที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐ เพื่อหาแนวทางร่วมแก้ไขวิกฤตินี้ให้ผ่านพ้นไปให้ได้” นายสนั่น กล่าว

ที่มา : สำนักข่าวอินโฟเควสท์

- Advertisement -