สรุปภาวะตลาด

วันพฤหัสบดีที่ผ่านมาดัชนีปรับตัวลงแรงกว่า -28 จุด ได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐเดือน เม.ย. ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด ทำให้กังวลเฟดเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ตลาดหุ้นภูมิภาคส่วนใหญ่ปรับตัวลงเฉลี่ยราว 2% ส่งผลให้ดัชนี SET Index ปิดตลาดที่ 1,584.52 จุด -28.82 จุด -1.79% มูลค่าการซื้อขาย 92,530 ลบ. ต่างชาติ -622.87 ลบ. TFEX -6,312 สัญญา ตราสารหน้ี -1,145.70 ลบ.

ปัจจัยบวก+

+ สัญญาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 42 เซนต์ +0.4% ปิดที่ 106.13 ดอลลาร์/บาร์เรล ได้แรงหนุนจากคาดการณ์ อุปทานน้ำมันทั่วโลกจะเผชิญภาวะตึงตัว หลังจากยูเครนปิดเส้นทางหลักขนส่งก๊าซไปยังยุโรป อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่จีนล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้เป็นเวลานาน

+ นางเจเน็ต เยลเลน รมต.คลังสหรัฐ เชื่อมั่นว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สามารถควบคุมเงินเฟ้อให้ชะลอตัว โดยไม่ทําให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

+ กระทรวงการคลังชง 2 ทางเลือกต่ออายุการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลให้ที่ประชุมครม. 17 พ.ค. ตัดสินใจระหว่างลดลงลิตรละ 3 บาทเป็นเวลา 3 เดือน หรือลดลงลิตรละ 5 บาทเป็นเวลา 1-2 เดือน

+/- ศบค.รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 7,779 ราย มีผู้เสียชีวิต 56 ราย รักษาหาย 9,286 ราย

ปัจจัยลบ –

– ดัชนีดาวโจนส์ปิดลดลง 103.81 จุด -0.33% ปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 6 ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวนจาก ความกังวลว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงเกินคาดอาจจะผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

– สหรัฐเปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิตในเดือนเม.ย. +0.5%MoM +11%YoY แม้ชะลอตัวจาก +1.6%MoM +11.5%YoY ในเดือนมี.ค. แต่ยังอยู่ในระดับสูง

– สหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก เพิ่มขึ้น 1,000 ราย สู่ระดับ 203,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 195,000 ราย

– WHO เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ในหลายประเทศ แต่มีอัตราการ ระบาดในระดับต่ำ และไม่ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงมากขึ้นเมื่อเทียบกับสายพันธุ์โอมิดรอน

– รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศอายัดทรัพย์ธนาคารสเบอร์แบงก์ (Sberbank) และธนาคารอัลฟา แบงก์ (Alfa Bank) สอง สถาบันการเงินรายใหญ่ที่สุดในรัสเซีย ตามรอยสหรัฐและประเทศในยุโรปเพื่อกดดันที่รัสเซียรุกรานยูเครน

– โฆษกทําเนียบเครมลิน กล่าวว่า การที่ฟินแลนด์มีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติก เหนือ (นาโต) ถือเป็นภัยคุกคามต่อรัสเซีย และการขยายองค์การนาโตจะไม่ช่วยทำให้ยุโรปหรือโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น

แนวโน้มตลาดวันนี้

คาดดัชนีตลาดหุ้นไทยยังแกว่งตัวผันผวนระหว่างวัน จากแรงขายในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ประกอบกับถูกกดดันจากความกังวลว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงเกินคาดอาจจะผลักดันให้เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย คาดดัชนีเคลื่อนไหวในกรอบ 1,570-1,590 จุด

กลยุทธ์การลงทุน

  • กรณีสงครามยืดเยื้อ ราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูง บวกต่อ PTTEP PTTGC TOP, สินค้าเกษตร ข้าวสาลี และ กากถั่วเหลืองขึ้น เป็นบวกต่อ TMILL TVO และเป็นลบต่อธุรกิจอาหารสัตว์ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น CPF GFPT ASIAN
  • ศบค.ยกเลิกตรวจ RT-PCR มีผล 1 พ.ค. นี้ : AOT ERW CENTEL MINT AWC
  • หุ้นที่ได้ประโยชน์จากอากาศร้อน SNC KOOL SAPPE ICHITACC
  • ตัวเลขส่งออกเดือนมี.ค.ขยายตัว+เงินบาทอ่อนค่า TWPC ASIAN XO SNC PIMO

หุ้นรายงานพิเศษ

NER (Bloomberg Consensus 10.00 บาท) “คาดผลประกอบการงวด 2Q-3Q65 โต YoY QoQ”

  • รายงานรายได้และกำไรงวด 1Q65 เท่ากับ 5,593 ลบ. +12.7% YoY -7%QoQ และ 469 ลบ. +28%YoY -22%QoQ ตามลำดับ โตตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นสู่ 9.6 หมื่นต้น +7.4%YoY -10%QoQ จากคำสั่งซื้อที่ยังคงแข็งแกร่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วน %GPM ปรับดีขึ้นมาที่ 13.76% จากปีก่อนที่ 12.82% จากแนวโน้มราคายางที่เร่งขึ้น
  • แนวโน้มปี 65 ผบห.คงเป้ารายได้ราว 2.84 หมื่นลบ. +16%YoY โดยแนวโน้มผลประกอบการช่วง 2Q-3Q65 คาดจะเร่งดีขึ้นทั้ง YoY และ QoQ จากปริมาณขายและราคาขายที่คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แนวโน้ม %GPM คาดจะปรับดีขึ้นเช่นกัน โดยช่วง 3Q65 จะมีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มขึ้นอีก 5 หมื่นตัน สู่กำลังผลิตรวม 5.16 แสนตันต่อปี ประกอบกับตั้งแต่ต้นปีบริษัทมีลูกค้าใหม่เพิ่มอีก 4 ราย เป็นในประเทศ 2 รายและอินเดียอีก 2 ราย อย่างไรก็ดี การเติบโตในช่วงที่เหลือของปียังมีความเสี่ยงเล็กน้อยจากค่า Freight คอนเทนเนอร์ ที่ยังทรงตัวสูง และปัญหาขาดแคลน
  • ความเห็น เรามีมุมมองบวกต่อแนวโน้มการเติบโตในปี 65 จากแนวโน้มความต้องการใช้ยางพาราเพื่อผลิตยางล้อรถยนต์ใหม่ และทดแทนยางล้อเดิมที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจใหม่-แผ่นปูรองปศุสัตว์ ปัจจุบันเครื่องจักรเข้ามาถึงที่โรงงานแล้ว โดยจะเริ่มผลิตและจำหน่ายช่วงต้น 3Q65 คาดจะสร้างรายได้ในปีนี้เพิ่มอีกราว 290 ลบ. และจะเป็น New-S-Curve ให้กับบริษัทในอนาคต เบื้องต้น Bloomberg คาดกำไรปี 65 ราว 2,043 ลบ. +10% YoY

หุ้นมีข่าว

(+) SABUY (Bloomberg Consensus 50.00 บาท) ดีเดย์เปิดตัว 2 โคเทน “SPEEDKUB” “FIIT TOKEN” เน้นโยงลูกค้าอีโคซิสเต็ม 54 ล้านราย ใช้บริการเกิดประโยชน์สูงสุด บอสใหญ่ “ชูเกียรติ รุจนพรพจี” อัพเงินลงทุนเป็น 7-8 พันล้านบาท ปล่อยแผนควบรวมเพียบ จับตาไตรมาส 2 เห็นผลลัพธ์ธุรกิจไฟแนนซ์ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อหมื่นล้าน (ที่มา ทันหุ้น)

(+) JR (Bloomberg Consensus 10.00 บาท) ตุนแบ็กล็อกแน่น 4.1 พันล้านบาท ทยอยรับรู้ปีนี้ 50% ไม่รวมโครงการใหม่ที่เข้าประมูลเพิ่ม คาดรู้ผลครึ่งปีหลังนี้ คาดช่วยหนุนให้แบ็กล็อกขยับขึ้นแตะ 1 หมื่นล้านบาท รองรับการเติบโตยาวถึงปี 2568 ด้านผลงานโค้งแรกปี 2565 รายได้รวม 549.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.59% และกำไรสุทธิ 52.68 ล้านบาท โบรกมองไตรมาส 2/2565 จะเป็นไตรมาสที่ดีทั้งกำไรและการรับงานใหม่ (ที่มา ทันหุ้น)

(+) ASW (Bloomberg Consensus 11.00 บาท) ลุยเปิด 4 โครงการใหม่ มูลค่าแตะ 5 พันล้านบาท ใน Q2/2565 รับดีมานด์ขยายตัว โกยยอดขายเพิ่ม เชื่อตลาดคอนโดกลับมาได้รับความสนใจมากขึ้น ระบุมี 4 โครงการ ทยอยรับรู้ต่อเนื่อง “กรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์” การันตีผลงานปี 2565 โต 13% แตะ 1 หมื่นล้านบาทแน่นอน (ที่มา ทันหุ้น)

(+) SMT (Bloomberg Consensus 6.00 บาท) คาดยอดขายไตรมาส 2/2565 ดีกว่าไตรมาสแรกปีนี้ หลังสถานการณ์วัตถุดิบดีขึ้น และมีออเดอร์จากต่างประเทศไหลเข้าต่อเนื่อง มั่นใจทั้งปี 2565 ยอดขายที่ 3.3 พันล้านบาท ลุยแผนขยายตลาดยุโรป ในสัดส่วนตลาดในยุโรปปีนี้พุ่ง 30-40% จากปีก่อนอยู่ที่ 13% และหาโอกาสซื้อกิจการหนุนฐานธุรกิจ (ที่มา ทันหุ้น)

ปัจจัยจับตาในประเทศ

  • สัปดาห์ที่ 3 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม
  • 17 พ.ค. สภาพัฒน์แถลงตัวเลข GDP 1Q65 วันสุดท้ายส่งงบการเงิน 1Q65
  • 18 พ.ค. ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 3/2565
  • สัปดาห์ที่ 4 กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขการ ส่งออก-นําเข้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงยอดการผลิตและส่งออกรถยนต์
  • 31 พ.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย

ปัจจัยจับตาต่างประเทศ

  • 13 พ.ค. สหรัฐ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ขั้นต้นเดือนพ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
  • 16 พ.ค. จีน รายงานการผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนเม.ย.

อียู รายงานดุลการค้าเดือนมี.ค.

สหรัฐ รายงานดัชนีภาคการผลิตเดือนพ.ค.จาก เฟดนิวยอร์ก

  • 17 พ.ค. อียู เปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 1Q65 (ประมาณการครั้งที่ 2)

สหรัฐ รายงานยอดค้าปลีกเดือนเม.ย. การผลิต ภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. สต็อกสินค้าคงคลัง ภาคธุรกิจเดือนมี.ค. ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือน พ.ค.จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB)

- Advertisement -