กระทรวงพาณิชย์ เผยการส่งออกของไทยเดือนธันวาคม 65 ลดลงถึง 14.6% มูลค่า 21,718 ล้านดอลลาร์ สาเหตุสำคัญมาจากภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ส่วนการนำเข้าลดลง 12% มูลค่า 22,752 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ในเดือนธันวาคม ไทยขาดดุลการค้า 1,034 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยปี 2565 พบว่า การส่งออกยังขยายตัวได้ 5.5% คิดเป็นมูลค่า 287,068 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้า ขยายตัว 13.6% คิดเป็นมูลค่า 303,190 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ทั้งปี 65 ไทยขาดดุลการค้า 16,122 ล้านดอลลาร์

ส่วนในปี 66 กระทรวงพาณิชย์ ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกของไทยไว้ที่ 1-2% จากปี 65 โดยเป็นการขยายตัวที่น้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา หลังจากมีปัจจัยลบที่ค่อนข้างมาก เช่น ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก, สต็อกสินค้าที่ยังคงค้างอยู่ในหลายประเทศ จึงอาจทำให้ชะลอการสั่งซื้อสินค้าจากไทยในช่วงไตรมาสแรกปีนี้, ราคาน้ำมันโลกยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง และเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่า ส่งผลต่อราคาสินค้าของไทยที่เสียเปรียบประเทศคู่แข่ง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักๆ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น และกลุ่มยูโรโซน ที่ชะลอตัวลงจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ แต่ตลาดเป้าหมายการส่งออกของไทย ยังคงเติบโตได้ดี เช่น เอเชีย ใต้ ตะวันออกกลาง และอาเซียน รวมถึงการเปิดประเทศ และการผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์ของจีน จะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก ประกอบกับค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มกลับสู่ภาวะสมดุล คอนเทนเนอร์ที่เคยขาดแคลนเริ่มคลี่คลายลง และคาดว่า ความต้องการด้านอาหารของโลก ยังมีอยู่ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ส่งผลดีต่อการส่งออกอาหารของไทยเช่นกัน

ปัจจัยที่ต้องติดตาม เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงตึงเครียด เป็นอุปสรรคด้านการค้า และความเสี่ยงต่อปัญหาห่วงโซ่อุปทาน รวมไปถึงแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้า กับความสามารถในการปรับตัวของผู้ส่งออกของไทย เพื่อรับมือระเบียบการค้าใหม่ๆ โดยทางกระทรวงพาณิชย์ จะทำงานใกล้ชิดกับภาคเอกชน เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผันผวน โดยมีแผนผลักดันการส่งออกไปใน 3 ตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และ CLMV คาดว่าจะทำรายได้เข้าสู่ประเทศชดเชยตลาดหลักที่ชะลอตัวได้

“อุปสรรคของการส่งออกในปีนี้ มาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง และยังไม่มีแนวโน้มลดลง อาจส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตสำคัญของภาคการผลิต ส่งผลทำให้ต้นทุนเพิ่ม การแข่งขันด้านราคาในตลาดโลก มีขีดความสามารถลดลง และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า ทำให้ศักยภาพการแข่งขันสินค้าไทยแข่งขันได้ยากเนื่องจากราคาสูงกว่าคู่แข่ง” นายจุรินทร์ กล่าว

ปัจจัยสนับสนุนการส่งออกที่สำคัญ มาจากการผลักดันการส่งออกเชิงรุกและเชิงลึกในตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพสูง เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ สหราชอาณาจักร ผ่านกิจกรรมส่งเสริมต่างๆ การผลักดันให้ประเทศเพื่อนบ้านกลับมาเปิดด่านชายแดน รวมถึงการหาแหล่งสำรองอาหารของผู้ซื้อทั่วโลก ผลักดันให้การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยภาพรวมทั้งปีขยายตัว โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยมีความสามารถทางการแข่งขัน และมีศักยภาพสูงในการเป็นแหล่งอาหาร

นอกจากนี้ ค่าระวางเรือลดลงต่อเนื่องในทุกเส้นทางทั้งเอเชีย ยุโรป สหรัฐ ออสเตรเลีย ประกอบกับปริมาณตู้สินค้ามีเพียงพอที่สามารถรองรับปริมาณขนส่งระหว่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งสินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ รวมถึงไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง เป็นต้น

- Advertisement -