KS Daily View 4.10.2023 >>> SET ปรับตัวลง จาก sentiment ลบของตลาดหุ้นในต่างประเทศ กรอบซื้อ-ขาย 1,430 – 1,460 จุด หุ้นแนะนำ DELTA

สรุปภาวะตลาดเมื่อวานนี้

ต่างประเทศ : ดัชนี DJIA -1.29%, S&P 500 -1.37%, NASDAQ -1.87%โดย Sector ที่ outperform ใน S&P500 ได้แก่ Utilities (+1.17%) และ Materials (-0.30%) ส่วน Sector ที่ Underperform ได้แก่ Consumer Discretionary (-2.59%), Real Estate (-1.90%), IT (-1.82%)

ในประเทศ: SET Index -22.16 จุด หรือ -1.51% ปิดที่ 1,447.30 จุด หุ้นใน SET100 ที่ราคาเพิ่มขึ้นมากสุด ได้แก่ AAV (+3.10%), DOHOME (+2.80%), BLA (+2.80%), และ GLOBAL (+1.22%) ส่วนที่ราคาลดลงต่ำสุด ได้แก่ TIPH (-4.86%), SCGP (-4.58%), CBG (-4.57%), STGT (-4.55%) เป็นต้น

แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศ:

มองแนวโน้มหลักดัชนีปรับตัวลงต่อในวันนี้จาก sentiment ลบของตลาดหุ้นในต่างประเทศ หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อทำจุดสูงสุดนับแต่ปี 2007 จากรายงานตัวเลข JOLTs job opening ออกมาดีกว่าคาด ขณะที่กลุ่มท่องเที่ยว และขนส่งจะได้ sentiment เชิงลบจากเหตุสลดที่พารากอน อย่างไรก็ตามมองว่าถ้าหุ้นลงเป็นโอกาสในการทยอยสะสมสำหรับคนที่เน้นซื้อลงทุน ส่วนนักเก็งกำไรที่เน้น trading อาจใช้จังหวะย่อในการสะสม และทำกำไรช่วงฟื้นตัว ทั้งนี้มองว่าบริเวณ 1,450 จุดลงมาเป็นบริเวณที่น่าสนใจจากกรอบ SET Index ที่ 1,300-1,600 จุดบน EYG model ที่ประเมินด้วย EPS ปี 2024 ที่ 102 และ Thai 10Y bond yield ที่ 3.20%

ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:

1.) สหรัฐฯรายงานตัวเลขจำนวนงานที่เปิดรับหาคน (JOLTs job opening) เดือน ส.ค. ออกมาดีเกินคาดที่ 9.61 ล้านตำแหน่งสูงกว่าคาดที่ 8.5 ล้านตำแหน่ง และดีกว่า 8.8 ล้านตำแหน่งในเดือนก่อนหน้า สะท้อนคาดการณ์ภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัวขึ้นเล็กน้อยจากจำนวนงานที่ยังมากกว่าคนว่างงานราวๆ 1.5x และอาจกดดันการปรับขึ้นค่าจ้าง และคาดการณ์เงินเฟ้อต่อไปในอนาคต ทำให้ตลาดยังคงตีความว่าเฟดจะยืนดอกเบี้ยสูงๆนานต่อเนื่อง กดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีเร่งตัวขึ้นต่ออีก 11bps. เป็น 4.79% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 2 ปีทรงตัวที่ 5.14% ทำให้ส่วนต่างระหว่าง 2-10 spread แคบลงเป็น -35bps. จากระดับสูงสุดช่วงกลางปีนี้ที่ -100bps. สะท้อนภาวะ Bear steepening (Bond yield ตัวยาวขึ้นแรงกว่าตัวสั้น ทำให้ Yield curve ชันขึ้น) ส่งผลให้ตลาดหุ้น S&P 500 ปรับตัวลงกว่า -1.4% จากความกังวลของตลาดว่าดอกเบี้ยที่สูงจะกระทบให้ภาคอสังหาฯชะลอตัว กระทบงบดุลของธนาคารจากผลขาดทุนที่ต้อง mark-to-market พันธบัตรรัฐบาลที่ถืออยู่ และสุดท้ายจะเพิ่มความเสี่ยง Recession ในอนาคต

2.) ประเมินผลกระทบเหตุสลดที่พารากอนต่อภาพรวมนักท่องเที่ยว และกลุ่มท่องเที่ยว คาดระยะสั้นกระทบ sentiment โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว ส่วนตัวเลขนักท่องเที่ยวโดยรวมมองยังขยายตัวได้ตามประมาณการที่ 27 ล้านคนในปีนี้ เนื่องจากตัวเลข นทท 9 เดือนแรกของปีนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 20 ล้านคน หรือเฉลี่ยเดือนละ 2.2 ล้านคน และ 41 ล้านคนในปีหน้า หากลองย้อนเหตุการณ์กรณีเหตุระเบิดบริเวณศาลท้าวมหาพรหมในช่วงเย็นของวันที่ 17 สิงหาคม 2015 มีผู้เสียชีวิตกว่า 20 ราย และบาดเจ็บกว่า 163 คน โดยในคราวนั้น ตัวเลข นทท ยังบวก 24% YoY ในเดือน ส.ค. 2015 แต่หากดูแบบ MoM ในเดือน ส.ค. นทท ลดลง 2% MoM จากปกติที่บวก 10% MoM ในเดือน ส.ค. ปีก่อนหน้า ขณะที่ตัวเลข นทท ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวจนกลับมาโต QoQ ใน 3Q15 เราพบว่าหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวหลักๆ ปรับตัวลงในช่วง 1 สัปดาห์แรกหลังเกิดเหตุระเบิด เช่น CENTEL (-15.2% WoW), ERW (-12.6% WoW), AOT (-11.5% WoW), และ MINT (-5.5% WoW) เป็นต้น อย่างไรก็ตามพบว่าหุ้นทั้งหมดรีบาวน์กลับมาที่เดิมราวๆ 1-2 เดือนหลังเกิดเหตุระเบิด

3.) ประเมินผลกระทบเหตุสลดที่พารากอนต่อ จีดีพี และกำไรตลาด ด้านมูลค่าเชิงเศรษฐกิจจำนวนนักท่องเที่ยว 1 คนใช้เงินราว 50,000 บาท หรือ 1 ล้านคน เท่ากับ 5 หมื่นล้านบาท Sensitivity ต่อ GDP forecast หากนักท่องเที่ยวลดลง 1 ล้านคนจะกระทบราว 0.3% ของ GDP ทั้งนี้ KS คาดกำไรหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและขนส่ง จำนวน 16 บริษัทที่ดูแลไว้ที่ 91,764 ลบ / 117,675 ลบ สำหรับปี 2023-24E หรือคิดเป็น 10.7% / 11.6% ของกำไรปี 2023-24E ของตลาดรวม

4.) ค่าเงินบาทดีดกลับมาที่ระดับ 37.05 บาท หลังวานนี้พุ่งทำระดับสูงสุดของวันที่ 37.16 บาท คาดเกิดจาก ธปท เข้ามาดูแลเพื่อลดความผันผวน ทั้งนี้ ธปท. ประเมินเงินบาทยังคงมีทิศทางอ่อนค่าจากความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะคงดอกเบี้ยไว้นานกว่าที่คาด ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากราคาทองคำที่ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือน และราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบปี ทำให้มีการนำเข้าเพิ่ม ซึ่งตลาดมองว่าอาจกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย

5.) ติดตามการประชุม OPEC+ วันนี้คาดคงมติตามเดิม ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในระยะถัดไปจะขึ้นกับภาพอุปสงค์บนการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากภาวะดอกเบี้ยที่สูง กับอุปทานตึงตัวจากการเข้าแทรกแซงตลาดของกลุ่ม OPEC+

Theme การลงทุนสัปดาห์นี้

ปรับแนวรับลงมาที่บริเวณ 1,430 จุด หลัง SET Index หลุดแนวรับสำคัญที่ 1,460 จุดลงมา มองกรอบการเคลื่อนไหวช่วงที่เหลือของสัปดาห์ที่ 1,430 – 1,490 จุด ทั้งนี้ sentiment การลงทุนในหุ้นไทยยังคงเปราะบาง โดยปัจจัยสำคัญในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ตลาดจะให้น้ำหนักกับตัวเลขตัวเลขเงินเฟ้อของไทย รวมถึงตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่เฟดใช้กำหนดนโยบายการเงินในไตรมาส 4/2566

หุ้นแนะนำวันนี้ Top pick:

DELTA (ราคาพื้นฐาน 100 บาท) คาดว่ากำไรในครึ่งหลังของปี 2566 จะเติบโต HoH จากยอดขายที่เติบโตต่อเนื่อง การขยายกำลังการผลิตชิ้นส่วน EV อีก 10% ใน 4Q23 จากครึ่งแรกที่ขยายไปแล้ว 40% และ GPM ที่ดีขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่ลดลง รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาท ประเมินหาก DELTA ไม่ติด Cash Balance อีกภายในสิ้นเดือน พ.ย. นี้จะทำให้ DELTA ไม่หลุดจากการคำนวณใน SET50 ใน 1H24 เพราะผ่านเกณฑ์ Turnover ratio ที่ 2% จาก 9 ใน 12 เดือนแล้ว

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ

  • วันพุธติดตามตัวเลขดัชนีภาคบริการยุโรป (Eurozone service PMI) เดือนก.ย. ตลาดคาดที่ 48.4 จุด เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 47.9 จุด ต่อด้วยตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ (US ADP employment) เดือน ก.ย. ตลาดคาดที่ 150k ตำแหน่ง เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 177k ตำแหน่ง และตัวเลขดัชนีภาคบริการสหรัฐฯ (US ISM service PMI) เดือน ก.ย. ตลาดคาดที่ 54.0 จุด เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 54.5 จุด
  • วันพฤหัสบดีติดตามรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย (Headline CPI) เดือน ก.ย. ตลาดคาดปรับตัวลดลงเป็น 0.80% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 0.88% YoY และตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของไทย (Core CPI) เดือนก.ย. ตลาดคาดที่ 0.70% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 0.79% YoY
  • วันศุกร์ติดตามตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ (nonfarm payrolls) เดือนก.ย. ตลาดคาดที่ 150k ตำแหน่ง เทียบกับ 187k ตำแหน่งในเดือนก่อนหน้า ตัวเลขอัตราการว่างงานของสหรัฐฯเดือน ก.ย. ตลาดคาดลดลงเป็น 3.7% จากเดือนก่อนหน้าที่ 3.8% และอัตราค่าจ้างแรงงานของสหรัฐฯ (Average hourly earnings) เดือนก.ย. ตลาดคาดเพิ่มขึ้น 0.3% MoM เทียบกับเดือนก่อหน้าที่ 0.2% MoM
- Advertisement -