KS Daily View 31.01.2024 >>> รอผลประชุม Fed คืนนี้ แนะนำลงทุนหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว คาด SET แกว่งตัวในกรอบ 1,370-1,385 จุด หุ้นแนะนำ TU, TTB
สรุปภาวะตลาดเมื่อวานนี้
ต่างประเทศ : ดัชนี DJIA +0.35% S&P500 -0.06% NASDAQ -0.76%; Dollar index -0.05% เป็น 103.425 และค่าเงินบาทปิดที่ 35.345; ราคาน้ำมันดิบ Brent Futures +0.57% เป็น 82.87/bbl; ราคาทองคำ +0.5% เป็น 2054.40/ounce; US 10Y yield -3.0bps เป็น 4.060%
ในประเทศ: SET Index -3.140 จุด หรือ -0.23% ปิดที่ 1373.14 จุด หุ้นใน SET100 ที่ราคาเพิ่มขึ้นมากสุด ได้แก่ DOHOME (+8.82%), STGT (+4.32%), GUNKUL (+4.08%), CPF (+3.30%) เป็นต้น ส่วนหุ้นที่ราคาลดลงต่ำสุด ได้แก่ BTS (-9.02%), CRC (-2.86%), JMT (-2.73%), CK (-2.71%) เป็นต้น
แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศ:
คาดดัชนีแกว่งตัวขึ้นในกรอบ 1,370-1,385 จุด รอผลการประชุมเฟดคืนนี้ สำหรับคืนนี้ แรงขายของต่างชาติยังเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไทยในภาพรวม โดยเราประเมินว่าหากตัวเลขเศรษฐกิจ และกำไร บจ. ของตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้วยังคงดีอยู่ก็จะเป็นปัจจัยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนให้ไหลออกจากตลาดหุ้นไทย รวมถึงตลาด Emerging market อื่นๆที่ขาด catalysts อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดสหรัฐฯ รายงานตัวเลขงานเปิดใหม่(JOLTs job openings) สำหรับเดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้น 101,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 9.026 ล้านตำแหน่งในเดือนธ.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 8.750 ล้านตำแหน่ง ขณะที่ยุโรปรายงานตัวเลข GDP 4Q23 ที่ 0% QoQ ดีกว่าคาดที่ -0.1% QoQ ดังนี้ยังคงแนะนำนักลงทุนให้ใช้กลยุทธ์ Selective buy ในหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว หรือกลุ่มที่มี Structural growth ในระยะยาว เช่น โรงพยาบาล, ท่องเที่ยว, นิคม, โรงเรียนนานาชาติ เป็นต้น
ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:
1.) IMF ได้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2567 ขึ้น 0.2% เป็น 3.1% หลักๆมาจากการปรับประมาณการการเติบโตของอินเดีย (+1.5% เป็น 6.5%), สหรัฐฯ (+0.6% เป็น 2.1%), จีน (+0.4% เป็น 4.6%), ขณะที่ปรับลดประมาณการการเติบโตของยุโรปลง (-0.3% เป็น +0.9%)
2.) ค่าเงิน Naira ของไนจีเรียร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับดอลลาร์หลังจากการแก้ไขวิธีการที่ใช้ในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินอ่อนค่าครั้งที่สองในรอบเจ็ดเดือน โดยอ่อนค่าลง 31% เป็น 1,413 ไนราต่อดอลลาร์ในวันจันทร์ที่ผ่านมา มองข่าวดังกล่าวเป็น sentiment ลบกับ MEGA ที่มีการทำธุรกิจในประเทศไนจีเรียจากประเด็น FX loss
3.) ทาง IR ของ BTS Group ได้อธิบายชี้แจงในปัจจัยที่อาจจะกระทบต่อราคาหุ้นวานนี้ โดยปัจจัยหลักน่าจะเป็นเรื่องการพิจารณาในส่วนของ Impairment ของการลงทุนในบริษัทร่วม เช่น KEX, SINGER เป็นต้น ซึ่งอาจจะกระทบต่อผลประกอบการในรอบไตรมาส 3 2023/24 ทั้งนี้ หากเกิดรายการดังกล่าวขึ้นจริง รายการนั้นจะเป็นรายการทางบัญชีเท่านั้น โดยบริษัทฯ จะให้ข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมในการประชุมนักวิเคราะห์ประจำไตรมาส ทั้งนี้นักวิเคราะห์ของ KS ยังคงมุมมองเชิงระมัดระวัง แนะนำนักลงทุน wait and see ไปก่อน เนื่องจากธุรกิจหลักถือว่าฟื้นตัวช้ากว่าคาด เรามองลบจากที่ กทม เริ่มเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย สายสีเหลืองกับสีชมพู จำนวนผู้โดยสารน้อยกว่าคาด และเงินลงทุนในหุ้นกลุ่ม JMART และ kex ยังต่ำกว่าต้นทุน
4.) กระทรวงการท่องเที่ยวเปิดเผยตัวเลขนักท่องเที่ยวสะสมระหว่าง 1-28 ม.ค. ที่ 2.74 ล้านคน เติบโต 40% YoY โดยมีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวมาเลเซีย และจีน ขณะที่หากดูเฉพาะสัปดาห์ที่ผ่านมา (22-28 ม.ค.) พบว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเฉลี่ย 103,887 คนต่อวัน เติบโต 1.6% WoW
5.) คมนาคม” เปิดแผนลงทุนปี 67 เดินหน้า 31 บิ๊กโปรเจ็กต์ 3.8 แสนล้านบาท เล็งชงครม.ไฟเขียว 7 โปรเจ็กต์ หวังเพิ่มเส้นทางขนส่งสินค้าโลจิสติกส์เชื่อมระหว่างประเทศ มองเป็น sentiment บวกกับกลุ่มรับเหมา
Theme การลงทุนสัปดาห์นี้
ประเมินตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบ 1,340-1,390 จุด ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า sentiment หุ้นไทยยังคงถูกกดดันจากแรงขายต่างชาติบน 1.) แนวโน้มการเติบโตของ GDP และกำไร บจ. ในประเทศพัฒนาแล้วสูงกว่าไทยโดยเปรียบเทียบ 2.) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อจากการส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อเนื่องของเฟดเพื่อกดให้เงินเฟ้อระยะยาวลงสู่เป้าหมายที่ 2% โดยที่เฟดยังคงมั่นใจกับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ 3.) ตลาดหุ้นไทยยังไม่ถูกในเชิง PER เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาค สำหรับปัจจัยสำคัญอื่นๆที่ต้องติดตามได้แก่ การรายงานงบ 4Q23 ของ บจ. ไทย, ตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ธ.ค. ของไทยโดย ธปท., คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีที่พรรคก้าวไกลลงชื่อแก้ไข ม.112 และนำเรื่องแก้ไข ม.112 ไปหาเสียงว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่, ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน และดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตเดือนม.ค. ของสหรัฐฯ รวมถึงตัวเลข GDP 4Q23 และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ม.ค. ของยูโรโซน และดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนม.ค. ของจีน ญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษเดือน ม.ค.
หุ้นแนะนำวันนี้ Top pick:
TU (ราคาพื้นฐาน 16.70 บาท) การตัดสินใจออกจากการลงทุนใน Red Lobster (RL) ที่ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้จะไม่รับรู้ผลการดำเนินงานของ RL อีกต่อไปตั้งแต่ 1Q24 หนุนหุ้นมีโอกาสถูก Rerate ไปเทรดสูงขึ้นจากปัจจุบันเทรดบน P/E ปี 2024 ที่ระดับต่ำเพียง 9.7x อิง EPS ที่ 1.56 บาทต่อหุ้น นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทจะเป็นบวกต่ออัตราการทำกำไรของ TU ด้วย
TTB (ราคาพื้นฐาน 2.0 บาท) คาดกำไรปี 2567 เติบโต 20% YoY จากสิทธิประโยชน์ทางภาษี หนุนการจ่ายปันผลเพิ่มคาด DPS ที่ 0.13 บาท คิดเป็นอัตราเงินปันผลตอบแทน 7% ในปี 2024
รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ
- วันพุธติดตาม ตัวเลขดัชนีภาคการผลิตของจีนสำหรับเดือน ม.ค. ตลาดคาดที่ 49.0 เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 49.2 ต่อด้วยช่วงคืนติดตามตัวเลขจ้างงานของสหรัฐฯ (ADP employment change) สำหรับเดือน ม.ค. ตลาดคาดที่ 1.30 แสนตำแหน่ง เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 1.25 แสนตำแหน่ง และติดตามผลการประชุม FOMC ของสหรัฐฯ โดยตลาดคาด Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.50%
- วันพฤหัสบดีฯ ติดตาม ติดตามดัชนีภาคการผลิตของยุโรปสำหรับเดือน ม.ค. ตลาดคาดที่ 46.6 ทรงตัวเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 46.6 ต่อด้วยผลประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ตลาดคาดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโบายไว้ที่ 5.25% ปิดท้ายช่วงข้ามคืนติดตามตัวเลขดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ (ISM manufacturing PMI) สำหรับเดือน ม.ค. ตลาดคาดที่ 47.4 เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 47.6 และการประชุมของกลุ่ม OPEC+
- วันศุกร์ ติดตาม ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ (Non-farm payrolls) สำหรับเดือน ม.ค. ตลาดคาดที่ 1.62 แสนตำแหน่ง เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 2.16 แสนตำแหน่ง ต่อด้วยอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ (Unemployment rate) สำหรับเดือน ม.ค. ตลาดคาดที่ 3.7% ทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และติดตามตัวเลขค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยรายชั่วโมงของสหรัฐฯ (Average hourly earnings) สำหรับเดือน ม.ค. ตลาดคาดที่ +0.3% MoM เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ +0.3% MoM