KKP จับมือ Thairath Money จัดงานเสวนา “KKP Financial Talk: Money Master #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้” เผยภาพภาระสังคมสูงวัยของไทยใน 5-10 ปีข้างหน้า พร้อมแนะแนวทางบริหารเงินรับมือ
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ร่วมกับ Thairath Money จัดงานสัมมนา KKP Financial Talk: Money Master #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ ฉายภาพภาระสังคมสูงวัยของไทยที่จะเกิดขึ้นใน 5-10 ปีข้างหน้า พร้อมคำแนะนำการบริหารจัดการเงินเพื่อเตรียมรับมือตั้งแต่ความรู้พื้นฐาน ไปจนถึงการใช้เครื่องมือเพื่อสร้างความมั่งคั่งอย่างมั่นคง โดยหวังสนับสนุนความรู้เรื่องการเงินและทักษะการเงินให้กับคนไทย ในการนี้ นางสาวพัทนัย เหลืองตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสำนักสื่อสารองค์กรและการตลาด กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) และ นายวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยรัฐทีวี ไทยรัฐออนไลน์ ร่วมเป็นประธานกล่าวเปิดงาน เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ณ เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท และไลฟ์สดผ่านช่องทางออนไลน์ของ Kiatnakin Phatra, EDGE Invest, Dime, Thairath และ Thairath Money
นางสาวพัทนัย เหลืองตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสำนักสื่อสารองค์กรและการตลาด กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ในฐานะสถาบันการเงินที่อยู่คู่สังคมไทยมากว่า 5 ทศวรรษ หนึ่งในสิ่งที่ KKP สามารถเป็นแรงสนับสนุนสังคมได้อย่างมีความหมายก็คือการนำเอาองค์ความรู้ทางด้านการเงินการลงทุนที่เป็นหัวใจของธุรกิจมาสร้างทักษะทางการเงินให้แก่ผู้คน นี่คือที่มาของการจัดโครงการส่งเสริมวินัยการเงินในรูปแบบต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องนับสิบปี จนล่าสุดเกิดเป็นแคมเปญส่งเสริมความรู้ทางการเงิน #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ ที่ KKP ร่วมมือกับสื่อหลักของสังคมไทยที่เข้มแข็งในด้านการสื่อสารอย่าง Thairath Money เพื่อนำเสนอเนื้อหาและกิจกรรมให้คนไทยมีความเข้าใจถึงความสำคัญของการวางแผนการเงิน ที่จะนำไปสู่ความมั่นคงของตนเองและครอบครัว ตลอดจนอาจต่อยอดไปสู่ความมั่งคั่ง อิสรภาพทางการเงิน และการบรรลุเป้าหมายอื่นๆ ในชีวิต
ด้านนายวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวี ไทยรัฐออนไลน์ กล่าวว่า ด้วยบทบาทหน้าที่ของสื่อ เรามุ่งหวังเป็นศูนย์รวมข้อมูล ความรู้ แรงบันดาลใจให้คนหันมาสนใจเรื่องการเงินมากขึ้น เป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ หรือแม้กระทั่งทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ชมผู้อ่านกับสถาบันการเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องของการเข้าถึงความรู้และบริการทางการเงินได้ง่ายยิ่งขึ้น การร่วมงานกับ KKP ในครั้งนี้ เป็นการหลอมรวมความเชี่ยวชาญด้านการสื่อสารของไทยรัฐ กับความเชี่ยวชาญทางการเงินของ KKP สร้างทักษะทางการเงินและภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งให้กับคนไทย ทำให้การเงินดีและชีวิตดีเป็นเรื่องที่เป็นไปได้สำหรับทุกคน
ภายในงาน มีการเสวนาหัวข้อ “Sandwich Generation : เดอะแบกต้องรอด” โดยดร.ณชา อนันต์โชติกุล หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ถึงสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยว่าประชากรไทยวัย 40-50 ปี ปัจจุบันมีอยู่ 10 ล้านคน หรือคิดเป็น 15% ของประชากรไทย และกลุ่มคนที่อายุ 35-55 ปี ก็มีอยู่ประมาณ 20 ล้านคน หรือคิดเป็น 30% ของประชากร ดังนั้นในอีก 5 – 10 ปีข้างหน้า เมื่อรวมคนเตรียมเกษียณกับคนที่เกษียณแล้วจะกลายเป็นกว่า 40% ของทั้งประเทศ สะท้อนโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย ปัญหาสังคมสูงวัยคือ ขนาดเศรษฐกิจจะเล็กลง (คนกินคนใช้น้อยลง) จำนวนแรงงานลดลง สร้างภาระทางการคลังมากขึ้น ในภาวะเช่นนี้ ‘เดอะแบก’ หรือประชากรกลุ่มที่กำลังมีลูกเล็กและพ่อแม่เริ่มแก่ชรา จะเหนื่อยขึ้นกับภาระที่ต้องรับผิดชอบ แม้กระทั่งกลุ่มคนเดอะแบกที่ไม่มีลูก ก็ไม่ได้อยู่ในสถานะลอยตัวจากปัญหา เพราะหากไม่วางแผนทางการเงิน หรือขาดวินัยในการออม ก็มีโอกาสเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือเหตุให้ต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นปัญหาสำคัญได้โดยเฉพาะในยามเกษียณที่รายได้ที่เป็น active income หมดสิ้นลง
“คนรายได้มาก รายได้น้อย จะรวยจะจน สุดท้ายวัดกันที่ ‘อัตราการออม’ มากกว่า รายได้เยอะกว่าใช่ว่าสุดท้ายจะมีความมั่งคั่งมากกว่า ถ้าไม่รู้จักบริหารการใช้จ่าย แต่ถึงเงินเก็บจะยังน้อย ก็เริ่มออมและลงทุนได้ เวลาที่ดีที่สุดที่จะเริ่มต้นลงทุน คือตอนนี้ หรือจริงๆ อาจจะเมื่อวาน เพราะยิ่งเริ่มเร็ว ยิ่งได้เปรียบ ด้วยพลังของดอกเบี้ยทบต้น ที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ลงทุน ยังเป็นการเริ่มสร้างวินัยในการเก็บออม เป็นการเก็บไมล์สะสมประสบการณ์ สะสมความรู้ เมื่อถึงจุดที่เรามีเงินมาก เราก็ได้ประสบการณ์การลงทุนพร้อมที่จะตัดสินใจทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การสร้างความมั่งคั่งสามารถเริ่มได้แม้จะมีเงินเก็บน้อย ผ่านการตัดสินใจทางการเงินและการลงทุนที่ถูกต้องเหมาะสม หากรอให้รวยก่อนค่อยลงทุน คือ คุณเริ่มช้ากว่าคนอื่น พลาดโอกาสไปมากกว่าคนอื่นแล้ว
ความรู้พื้นฐานทางการเงินนับเป็น ‘ทักษะชีวิต’ (Life skill) ที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นฐานง่ายๆ อย่างการจดรายรับรายจ่าย การออมเงิน ไปจนถึงการวางแผนภาษี การลงทุนเพื่อความงอกเงย การบริหารจัดการหนี้ การบริหารความเสี่ยงเพื่อปกป้องความมั่งคั่ง และการรู้จักป้องกันตัวเองจากภัยทางการเงินรูปแบบต่างๆ ความรู้เหล่านี้เปลี่ยนชีวิตได้ จะไม่ทำให้เราเสียดาย ต้องมานั่งคิดว่ารู้งี้เรียนรู้ตั้งนานแล้ว” ดร.ณชากล่าว
นายถนอม เกตุเอม หรือ TaxBugnoms เจ้าของเพจให้คำแนะนำการวางแผนภาษีจัดการภาษี ได้เล่าประสบการณ์ของตนเองและสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจาก “ภาวะเดอะแบก” ของตนเองที่ต้องจ่ายค่าเทอมลูก และค่ารักษาพยาบาลพ่อแม่
“หลักสำคัญคือการวางแผนชีวิต วางแผนการเงิน โดยจากการทำเพจ influencer ด้านการเงินพบว่าคนไทยสนใจเรื่องเงินมากขึ้น แต่มี 2 ปัญหาใหญ่คือ คนพยายามหาวิธีการที่ง่ายและเร็ว ซึ่งไม่มี และอีกปัญหาคือคนไม่เข้าใจว่าตัวเองต้องการอะไรและมีเป้าหมายการเงินอย่างไร สำหรับคำแนะนำคือการเริ่มต้นจากการสร้างสภาพคล่องของตัวเองในแต่ละเดือนซึ่งเป็นพื้นฐานการเริ่มต้นที่ง่ายที่สุด เช็กตัวเองว่ามีเป้าหมายการเงินอย่างไร และจะต้องเตรียมเงินเท่าไหร่หรือเตรียมอย่างไร ตลอดจนการควบคุมสิ่งที่ควบคุมได้เช่น วินัยทางการเงิน การรักษาสภาพคล่อง การเก็บเงินตามเป้าหมาย และทำความเข้าใจสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ บางเรื่องอาจจะบรรเทาได้ด้วยการป้องกันความเสี่ยงเช่นทำประกัน แต่บางครั้งก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น โรคระบาด สถานการณ์เศรษฐกิจ ต้องทำความเข้าใจและเตรียมรับมือให้ดีที่สุด” นายถนอมกล่าว
ด้านนายปุริม รัตนเรืองวัฒนา(ปลื้ม) นักแสดง คนรุ่นใหม่ Gen Z ที่มีมุมมองการจัดการวางแผนการเงิน กล่าวว่า เดอะแบกในวัยของเขาน่าจะแบ่งได้ 4 ประเภท กลุ่มแรก แบกเศรษฐกิจ แม้อายุ 20 ต้นๆ แต่การทำมาหากินไม่ง่าย การลงทุนก็ยากขึ้นในภาวะเศรษฐกิจโตช้า กลุ่มที่ 2 แบกภาระหนี้สินจากรุ่นพ่อแม่ การบริหารจัดการเงินของคนกลุ่มนี้จึงต้องกันรายได้ที่มีไปช่วยแบ่งเบาภาระนั้น กลุ่มที่ 3 แบกรายจ่ายสุขภาพพ่อแม่ที่มีลูกช้า คนเป็นลูกจึงต้องมีเงินพอจะดูแลเรื่องสุขภาพของพ่อแม่ และกลุ่มที่ 4 แบกญาติพี่น้องของรุ่นพ่อแม่ นี่คือเดอะแบกเจเนอเรชั่นที่เคยพบและมาปรึกษาเรื่องการวางแผนการเงิน
“ดังนั้นเดอะแบกในนิยามของผม จึงเป็นเรื่องที่หมายถึง รายรับของคนๆ หนึ่ง ถูกแบ่งออกไปเป็นรายจ่ายของใครอีกหลายคน และเราต้องสร้างสุขภาพการเงินของตัวเองให้ไว รู้ให้ไว เริ่มให้เร็ว และมีวินัย เหมือนกับสร้างสุขภาพร่างกาย” นายปุริมกล่าว
นอกจากนี้ ภายในงานสัมมนายังมีช่วงทอร์กโดยผู้เชี่ยวชาญของ KKP ในหัวข้อ “Money Plan : เรื่องเงินต้องวางแผน” และ “Trading Idea และการจัดพอร์ตยุคโลกรวน” รวมถึงมีเวิร์คชอปให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองลงมือทำกิจกรรมเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการวางแผนการเงินการลงทุนที่มีประสิทธิภาพหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ “การเงิน 101” โดย KKP FinLit ที่มาให้คำแนะนำดีๆ ในการบริหารจัดการการเงินเบื้องต้น การออมเผื่อฉุกเฉิน การจัดการเรื่องสินเชื่อและหนี้สินต่าง ๆ “ลงทุนปังๆ” โดย KKP Dime ที่มีเรื่องราวของการลงทุนมาแนะนำ การตั้งเป้าหมายการลงทุน ตลอดจนการใช้เครื่องมือการลงทุนแบบสมัยใหม่ และ “สูตรการเงินเพื่ออนาคต” โดย EDGE by KKP สำหรับผู้มองการณ์ไกล อยากมีเงินล้านแรก ตลอดจนเรียนรู้การวางแผนภาษี การเตรียมการเกษียณ และการใช้เครื่องมือการลงทุนสำหรับสร้างอิสรภาพทางการเงินและความมั่งคั่งอย่างมั่นคง