กลยุทธ์การลงทุน

ผันผวนรายวัน กรอบ 1580 –1620 จุด
Top Pick เลือก BLA, CENTELและ PTTEP

จากนี้ไปประเด็นเรื่องแนวนโยบายของ Fed จะกลายเป็นตัวที่สร้างความผันผวนรายวัน เว้นแต่ในช่วงที่เข้าใกล้การประชุมสำคัญ ส่วนปัจจัยในประเทศติดตามเรื่องแผนเปิดเมือง ที่ประกาศภาพใหญ่ว่าจะเปิดประเทศในช่วงเดือน ต.ค.64 โดยก่อนหน้านั้นจะมีการทยอยเปิดจังหวัดท่องเที่ยวหลักตั้งแต่ 1 ก.ค.64 ทั้งนี้ความเสี่ยงที่จะทำให้แผนดังกล่าวไปไม่ถึงฝั่งคงเป็นเรื่อง Vaccine และการกลายพันธ์ของ Covid-19 ที่ต้องติดตาม ในมุมของ Fund Flow เชื่อว่าจะยังไม่เห็นแรงซื้อจากต่างชาติไหลเข้ามา การขับเคลื่อนหลักต้องมาจากเงินในประเทศ ทำให้Upside ถูกจำกัด

คาด SET Index ผันผวน โดยมี1580 จุด เป็นแนวรับสำคัญ และ 1620 จุด เป็นแนวต้าน พอร์ตจำลอง ให้ขายทำกำไร BDMS (น้ำหนัก 15%) เข้าลงทุนใน PTTEP แทน จากราคาน้ำมันที่ดีดตัวขึ้นแรง ส่วน Top Pick เลือก BLA, CENTEL และ PTTEP

ตลาดหุ้นไทยวันนี้ได้ Sentiment บวกจากต่างประเทศ
ตลาดหุ้นไทย (SET Index) ในวันนี้ ASPS ประเมินว่าน่าจะเห็น Momentum ในการดีดกลับยืนเหนือ 1600 จุด ได้รับ Sentiment เชิงบวกจากตลาดหุ้นต่างประเทศเมื่อคืนทั้งสหรัฐ,ยุโรป ดีดตัวขึ้นมาแรง(ดังรูป) หลังจากปรับฐานลงมาแรงในช่วงวันศุกร์ที่แล้ว

ASPS ประเมินว่าจากนี้ไป ตลาดหุ้นทั่วโลก จะยังเผชิญความผันผวนรายวัน จากข่าวและประเด็นความกังวล ขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ และการลดการเข้าซื้อพันธบัตร QE Tapering จากการออกมาแสดงความเห็นคณะกรรมการ Fed โดยเชื่อว่าตลาดน่า Monitor เป็นรายวัน

อาทิ คืนนี้เวลา 14.00 น. ตามเวลาสหรัฐ หรือ ตี 1 เวลาไทย 23 มิ.ย. คือ ประธาน Fed นายเจอโรม พาวเวล จะแถลงต่อคณะอนุกรรมการประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐว่าด้วยวิกฤตการณ์Covid-19 ตลาดให้น้ำหนักการแสดงความเห็น ถัดไปคือ ประธาน Fed แต่ละสาขาจะมีการให้มุมมองตลอดทั้งสัปดาห์

ASPS ให้น้ำหนักไปที่การประชุมครั้งสำคัญซึ่งน่าจะมีการส่งสัญญาณการปรับนโยบายการเงินที่ชัดเจน และจะมีผลต่อตลาดมากกว่า อาทิ การประชุม Fed ที่เหลืออีก 4 ครั้งในปีนี้แต่ละครั้ง Fed meeting เดือน 27-28ก.ค. , 21-22 ก.ย. ฯลฯ และการประชุม Jackson hole 26-27 ส.ค.64

หากพิจารณาเมื่อคืนนี้ พบว่า
▪ Dollar ชะลอการแข็งค่าช่วงสั้น หรือ อ่อนค่า 0.35% แตะ 91.9 จุด หนุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำตาลดิบ +2.5% sentiment บวกต่อ KSL, KTIS และที่สำคัญ คือ ราคาน้ำมันดิบโลก อิง Brent ขยับขึ้นแรง 2.4% จะแตะ 75 เหรียญฯ ถือเป็น Sentiment บวกดีต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน และโรงกลั่นในไทย แนะนำลงทุนหุ้นน้ำมัน PTT และ PTTEP

โดยวันนี้ Top pick เลือก PTTEP(Buy: FV@B128) แนะนำซื้อ 1.) ราคาหุ้น PTTEP ปัจจุบัน ลงมาอยู่โซนแนวรับสำคัญ EMA75 วัน 2.) หากพิจารณาเมื่อคืน หุ้นในกลุ่มพลังงาน และโรงกลั่นในสหรัฐดีดขึ้นแรง 2-5% ส่วนกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมี เราแนะนำซื้อ PTTGC (Buy: FV@B69) เนื่องจากให้น้ำหนักไปที่ธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ ที่ยังคงแข็งแกร่ง ส่วน TOP (Switch: FV@B55), BCP (Switch: FV@B26), และ IRPC (Switch: 3.9) พื้นฐานโดยรวมยังอ่อนแอจากธุรกิจโรงกลั่นตามค่าการกลั่นที่ยังอยู่ระดับต่ำมาก ยังคงแนะนำเพียง trading ช่วงสั้น

▪ Bond Yields สหรัฐ 10 ปี ดีดตัวกลับขึ้นแรง จะแตะ 1.5% อีกครั้ง sentiment บวกดีต่อ BLA (Buy: FV@B35) ยังแนะนำลงทุน

วันนี้ครม. พิจารณาแผนเปิดประเทศ สร้างสีสันให้หุ้นกลุ่มการบินและโรงแรม
ความคืบหน้าของแผนการปิดประเทศมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับภาพรวมทั้งประเทศและในระดับพื้นที่ ดังนี้
• ระดับประเทศ: นายกรัฐมนตรีระบุพร้อมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใน 120 วัน (คาดเป็นช่วงเดือน ต.ค. 2564)
• ระดับพื้นที่: รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประกาศแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ โดยจะเริ่มนำร่องที่จังหวัดภูเก็ต (Phuket Sandbox) เป็นจังหวัดแรก ก่อนที่จะขยายไปในพื้นที่อื่นๆต่อไป ได้แก่
o 1 ก.ค. 2564: จังหวัดภูเก็ต (Phuket Sandbox)
o 15 ก.ค. 2564: เกาะสมุย, เกาะพะงัน, เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี
o 1 ส.ค. 2564: เกาะพีพี, หาดไร่เลย์, เกาะไหง จังหวัดกระบี่ และ เขาหลัก, เกาะยาว จังหวัดพังงา
o หลังจากนี้ หากพื้นที่ไหนมีความพร้อมสามารถยื่นขออนุญาตให้ ศบค. พิจารณาได้ เช่น เมืองพัทยา อ.บางละมุง และ อ.สัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยจะเน้นพื้นที่ที่ประชาชนฉีดวัคซีนไม่ต่ำกว่า 70%

แผนการเปิดประเทศทั้ง 2 ส่วนข้างต้น จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ในวันนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องให้น้ำหนักและติดตามความคืบหน้าต่อไป

ทั้งนี้ ASPS ประเมินว่าตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้แผนการเปิดประเทศข้างต้นเดินหน้าตามที่วางไว้ได้คือ การกระจายวัคซีน และการระบาดของ COVID-19 โดยข้อมูลล่าสุดระบุว่าจำนวนผู้ฉีดวัคซีนรายใหม่ของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงเหลือ 9.19 หมื่นราย/วัน ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่กลับมาทรงตัวสูงที่ราว 3,000-4,000 ราย โดยยังต้องติดตามการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Delta (พบครั้งแรกในอินเดีย) และ Beta (พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้) ต่อไป ว่าจะระบาดแทนที่สายพันธุ์ Alpha (พบครั้งแรกในอังกฤษ) ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบันหรือไม่

แม้ความชัดเจนของแผนเปิดประเทศข้างต้น อาจถูกฉุดรั้งจากความกังวลวัคซีน และ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ไปบ้าง แต่ ASPS เชื่อมั่นว่าแผนเปิดประเทศจะมีน้ำหนักต่อทิศทางของตลาดหุ้นไทยมากกว่า เพราะประเมินการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าเป็นเพียงการสะดุดในช่วงสั้นๆ ประกอบกับไทยมีแผนนำเข้าวัคซีนเพิ่ม สะท้อนจากภาครัฐปรับแผนจัดหาวัคซีนเพิ่มจาก 100 ล้านโดส เป็น 150 ล้านโดส รวมถึงกระแสข่าวว่าประเทศญี่ปุ่นยินดีบริจาควัคซีนให้ไทยเพิ่มอีกด้วย โดยคาดหุ้นที่ได้ Sentiment บวกจากกระแสเปิดประเทศคือหุ้นกลุ่มการบิน (AOT, AAV) และกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม (CENTEL, ERW, MINT)

เชื่อปรับลดเพดานดอกเบี้ยกระทบกลุ่มฯ BANK จำกัด …. ส่วนสินเชื่อกลุ่มฯ พ.ค. ยังเติบโต
อิงจากกระแสข่าวในหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น ที่กล่าวถึงการควบคุมเพดานดอกเบี้ยในกลุ่มสินเชื่อรายย่อย เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน (90% ของ GDP ไทย) โดยตามข่าวเปิดเผยว่าจะเห็นความชัดเจนในสัปดาห์นี้และจะเน้นไปที่กลุ่มที่เพดานอัตราดอกเบี้ยเกิน 20% เช่น สินเชื่อบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด / ที่มีวงเงินหมุนเวียน (25%) และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ (24%) ซึ่งในเบื้องต้นน่าจะเห็นการลดลงจากเพดานเดิมราว 1% – 2% ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตจะไม่ถูกพิจารณาปรับลดในรอบนี้ ภาพรวมยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป

โดยฝ่ายวิจัยมองผลกระทบต่อประมาณการค่อนข้างจำกัด เนื่องจากมองลูกค้าส่วนใหญ่ของ ธ.พ. ถูกจัดเก็บอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเพดานอยู่แล้ว พิจารณาจาก TISCO ที่คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 14% สำหรับสินเชื่อจำนำรถยนต์ ส่วนสินเชื่อจำนำมอเตอร์ไซค์ แม้คิดอัตราดอกเบี้ย 24% แต่สัดส่วนเพียง 0.6% ของพอร์ตสินเชื่อรวม (ในกรณีที่มีการปรับลงมาที่ 20% กระทบกำไรสุทธิปี 2564 – 65 ราว 0.3% – 0.6%), SCB มี Yield ในกลุ่ม Speedy loan ประมาณ 18% นอกจากนี้ ธ.พ. ยังสามารถบริหารโครงสร้างรายได้ดอกเบี้ยผ่านการบริหารต้นทุนเงินฝากประจำ

ทั้งนี้ ภายใต้ Sensitivity Analysis ของฝ่ายวิจัย บนสมมติฐานอื่นคงเดิม คำนวณเฉพาะสินเชื่อบุคคล (ไม่รวมบัตรเครดิต) พบว่าทุก 1% ของ Yield ในส่วนของสินเชื่อบุคคลที่ต่ำลง จะส่งผลต่อกำไรสุทธิปี 2564 (รับผลกระทบ 6 เดือน) และปี 2565 ประมาณ 0.9% และ 1.6% ตามลำดับ โดยกำไรสุทธิปี 2564 – 65 ของ KBANK จะกระทบ 1.1% และ 1.9%, SCB กระทบ 0.8% และ 1.3%, BAY ราว 1.4% และ 2.5% ตามลำดับ
ส่วน KTB แม้มีพอร์ตสินเชื่อ P-loan และบัตรเครดิตรวมกันราว 24% ของพอร์ต KTB แต่ส่วนใหญ่เป็นการปล่อยให้กับกลุ่มราชการ มีมีการผูกกับบัญชีเงินเดือน จึงคาดปล่อยในอัตราที่ Yield ต่ำกว่าเพดานมากพอสมควร ภาพรวม Sensitivity ข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าผลต่อประมาณการค่อนข้างจำกัดมาก

ในขณะที่สินเชื่อกลุ่มฯ พ.ค. 64 เพิ่ม 0.4% MoM (+1.6% YTD) หนุนด้วยสินเชื่อรายใหญ่ แม้ยังต่ำกว่าสมมติฐานฝ่ายวิจัยทั้งปีที่ประมาณ 3.4% yoy แต่คาดจะเห็นการเบิกใช้สินเชื่อในช่วง 4Q64 ตามฤดูกาล รวมถึงการกระจายวัคซีน COVID-19 ผลักดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดย ธ.พ. ที่รายงานสินเชื่อเติบโต นำโดย KTB (+1.6% MoM) จากสินเชื่อรัฐบาล ตามด้วย KBANK (+1% MoM) จากสินเชื่อรายใหญ่, KKP (+0.7% MoM) เพราะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ส่วน BBL และ SCB สูงขึ้นราว 0.2% MoM ด้าน TISCO และ BAY รายงานสินเชื่อลดลง 1.2% และ 0.7% MoM ตามลำดับ จากความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

คงน้ำหนัก กลุ่ม BANK เท่ากับตลาด ช่วงที่ผ่านมา SETBANK ปรับตัวลง 5.6% จากสัปดาห์ก่อนหน้า มากกว่า SET Index ที่ลดลง 2% ทั้งจากความผันผวนของ Fund flow ในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติและ Sentiment ลบ จากประเด็นเรื่องเพดานดอกเบี้ย อย่างไรก็ดีราคาหุ้นในกลุ่มซื้อขายบน PBV ต่ำราว 0.6 เท่า มองเป็นจุดสะสมเพื่อรอการ Recovery ของเศรษฐกิจไทย เลือก KBANK(FV@B155), SCB(FV@B115) สำหรับ Recovery play และทางพื้นฐานชอบ TISCO(FV@B102) และ BBL(FV@B155)

กลุ่มเช่าซื้อ กระทบ จำกัด จากประเด็นหากมีการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยเกิน 20%
สำหรับประเด็นข่าวเกี่ยวกับการธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยรายย่อยที่มีเพดานอัตราดอกเบี้ยเกิน 20% ลง 1-2% จากปัจจุบัน ได้แก่ สินเชื่อบุคคล (เพดานอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน 25%) สินเชื่อจำนำทะเบียน (เพดานอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน 24%) และสินเชื่อนาโน (เพดานอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน 33%) โดยจะไม่ปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตที่ปัจจุบันอยู่ที่ 16%

ฝ่ายวิจัยประเมินผลกระทบจำกัด เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเพดานอยู่แล้ว ทั้งนี้ ปัจจุบัน AEONTS คิดดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคล (50% ของสินเชื่อรวม) ที่ราว 23% ต่ำกว่าเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลที่ 25% อยู่แล้ว จึงประเมินผลกระทบจำกัด

ขณะที่ MTC SAWAD และ TIDLOR ก็คิดอัตราดอกเบี้ยจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ที่ราว 12-18% จากการแข่งขันที่สูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 ต่ำกว่าเพดานอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่ 24% อยู่มาก ทั้งนี้ SAWAD และ MTC มีสินเชื่อบุคคลราว 5-10% ของสินเชื่อสุทธิ และปล่อยสินเชื่อบุคคลที่อัตราดอกเบี้ยราว 23-24% โดยฝ่ายวิจัยได้สอบถามไปทาง MTC พบว่าหาก MTC ต้องการปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยราว 23-24% ก็สามารถปล่อยสินเชื่อเป็นสัญญานาโนแทนสัญญาสินเชื่อบุคคลได้ หรือหากประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลใหม่ไม่คุ้มกับความเสี่ยงก็จะปล่อยสินเชื่อบุคคลลดลง ทำให้โดยรวมแล้วฝ่ายวิจัยจึงประเมินผลกระทบจำกัด

ตามกลไกกังวลขึ้นดอกเบี้ย SET จะมีแนวรับสำคัญที่ 1550 จุด ในช่วงที่ผ่านมา ความกังวล Fed มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด กดดันสินทรัพย์เสี่ยงย่อตัวลงแรง เนื่องจากตามกลไกน่าจะเห็นการทยอยเคลื่อนย้ายเม็ดเงินกลับไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น สะท้อนได้จากต่างชาติพลิกกลับมาขายสุทธิหุ้นเอเชียเกือบทุกประเทศ

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยในเดือน มิ.ย. 64 เม็ดเงินต่างชาติที่เคยไหลเข้ามากว่า 7.5 พันล้านบาท ในช่วงแรกจากความคาดหวังการกระจายวัคซีนที่เร่งตัวขึ้น แต่ถูกกดดันจากปัจจัยภายนอกดังกล่าวทำให้เม็ดเงินต่างชาติลดลงจนกลับมาขายสุทธิ -3.2 พันล้านบาท (mtd)

แม้ปัจจุบันตลาดหุ้นโลกเริ่มทยอยฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง แต่ความกังวลเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยยังถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่จะมาอีกเป็นระลอกๆ ดังนั้นฝ่ายวิจัย ASPS จึงทำการคำนวณหาแนวรับสำคัญทางพื้นฐานของ SET Index ในกรณีตลาดกังวลเรื่องการปรับึ้นดอกเบี้ยในอนาคต ซึ่งตามกลไกแล้วหากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้ง จะกดดันให้ตลาดซื้อขายบน PER ที่ลดลง 1.3 เท่า เมื่อคูณกับ EPS ที่ 71.2 บาท/หุ้น จะกดดันดัชนีราว 92 จุด

และเมื่อวัดจากจุดสูงสุดของปีที่ 1642.8 จุด (ณ 14 มิ.ย. 64) แสดงว่า SET Index มีแนวรับสำคัญทางพื้นฐานที่ 1550 จุด ถือเป็นจุดที่น่าทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง

กลยุทธ์การลงทุนในยามที่ตลาดหุ้นที่อยู่ในภาวะผันผวน แนะนำลงทุนในหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่งมีปัจจัยบวกเฉพาะตัวที่แตกต่าง อย่าง PTTEP (ราคา laggard ราคาน้ำมันอยู่มาก), BLA (Bond Yield ระยะยาวดีดกลับขึ้นมาแรง) และ CENTEL (ได้แรงหนุนจากมาตการ ยิ่งใช้ยิ่งได้ บวกกับการกลับมาเปิดร้านอาหาร) เป็น Toppick ในวันนี้

BLA (FV @ 35.00) ทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเป็นขาขึ้นชัดเจนทั้งระยะยาวและระยะสั้นที่วานนี้ Bond Yield 10 ปีของสหรัฐฯ ยังปรับตัวขึ้น 3.5% ส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มประกันอย่าง BLA ที่ฝ่ายวิจัยฯ คาดกำไรสุทธิปี 2564 จะเพิ่มขึ้นถึง 109.6% yoy จากฐานกำไรที่ต่ำในปี 2563 และธุรกิจประกันชีวิตฟื้นตัว ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆมากขึ้น

PTTEP (FV @ 128.00) หุ้นกลุ่มน้ำมันที่ราคา Laggard น้ำมันดิบ โดยปรับตัวลง 1.3%mtd ขณะที่ Brent ปรับตัวขึ้นถึง 8.1%mtd โดยเบื้องต้นยังคงประมาณการทั้งปี 2564 คาดกำไรสุทธิปี 2564 จะเพิ่มขึ้นถึง 24% yoy โดยแนวโน้มกำไรปกติ 2Q64 น่าจะทรงตัวสูงใกล้เคียงกับงวด 1Q64 ขับเคลื่อนจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นจากการรับรู้โครงการลงทุนใหม่ๆ รวมถึงความต้องการใช้ที่ทยอยเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่ค่อยๆฟื้นตัว

CENTEL (FV @ 40.00) เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีของการเปิดประเทศ ได้แรงหนุนจากมาตรการภาครัฐ ยิ่งใช้ยิ่งได้ และการกลับมาเปิดร้านอาหารเต็มรูปแบบ ภายหลังวัคซีน COVID-19 เริ่มกระจายในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ สร้าง Sentiment เชิงบวกต่อธุรกิจโรงแรมอย่าง CENTEL ขณะที่ IBD/E ต่ำสุดในกลุ่มฯ ที่ 1.3 เท่า ทำให้ความเสี่ยงด้านเงินทุนปลอดภัยกว่ากลุ่มฯ

- Advertisement -