สถานการณ์เศรษฐกิจที่สำคัญ
– สหรัฐเผยดัชนี PCE พุ่งสูงสุดรอบเกือบ 30 ปีในเดือนพ.ค.กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 3.4% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 หรือสูงสุดในรอบเกือบ 30 ปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์เมื่อเทียบรายเดือน

ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนพ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.6% ส่วนดัชนี PCE ทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนพ.ค. จากระดับ 0.6% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE ทั่วไปพุ่งขึ้น 3.9% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2561 (Source: https://www.ryt9.com/s/iq29/3234591)

– ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยผลการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ของภาคธนาคาร โดยระบุว่า ธนาคารรายใหญ่ทั้ง 23 แห่งของสหรัฐสามารถผ่านการทดสอบ ซึ่งจะเปิดทางให้ธนาคารเหล่านี้สามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลและซื้อคืนหุ้นได้อีกครั้ง ทั้งนี้ ธนาคารรายใหญ่ทั้ง 23 แห่งซึ่งรวมถึง แบงก์ ออฟ อเมริกา, เจพีมอร์แกน เชส และซิตี้กรุ๊ป ยังคงมีฐานเงินทุนขั้นต่ำที่ตรงตามข้อกำหนดของเฟด ซึ่งจะสามารถรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้

โดยสถานการณ์สมมติที่เฟดกำหนดขึ้นเพื่อทดสอบภาวะวิกฤตในครั้งนี้รวมถึงกรณีที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มผู้ถือตราสารหนี้ของบริษัทเอกชน รวมทั้งกรณีที่อัตราว่างงานพุ่งขึ้นแตะระดับ 10.8% และตลาดหุ้นทรุดตัวลงรุนแรงถึง 55% นอกจากนี้ ข้อกำหนดยังระบุว่า หากภาคธนาคารประสบภาวะขาดทุนเป็นวงเงินรวม 4.74 แสนล้านดอลลาร์ ธนาคารจะต้องมีเงินทุนกันชนเพื่อรองรับการขาดทุน (loss-cushioning capital) มากกว่าเงินทุนขั้นต่ำที่กำหนดไว้กว่า 2 เท่า (Source: https://www.ryt9.com/s/iq29/3234391)

– S&P คงอันดับเครดิตจีน คาดเศรษฐกิจยังแข็งแกร่งหลังคุมโควิดสำเร็จ เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P) ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของจีนไว้ที่ระดับ A+/A-1 พร้อมกับให้แนวโน้มมีเสถียรภาพ โดยS&P คาดการณ์ว่า ในอีก 2-3 ปีข้างหน้านี้ เศรษฐกิจจีนจะยังคงขยายตัวได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีรายได้ปานกลาง (Source: https://www.infoquest.co.th/2021/100469)

– มาเลเซียเผยดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 4.4% ในเดือนพ.ค. สำนักงานสถิติแห่งชาติมาเลเซีย (DOSM) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของมาเลเซีย ซึ่งวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวขึ้น 4.4% ในเดือนพ.ค.เมื่อเทียบรายปี โดยการปรับตัวขึ้นเป็นผลมาจากฐานที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อปีที่ผ่านมา หากเทียบเป็นรายเดือนแล้ว CPI ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับเดือนเม.ย. ส่วนดัชนีพื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.8% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี (Source: https://www.ryt9.com/s/iq29/3234505)

– กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในเดือนมกราคม – เมษายน 2564 ว่า มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 24,286.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 74.17% แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 23,082.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 21.37% และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 1,204.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 22.85% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 21.44% (Source: https://www.ryt9.com/s/iq03/3234499)

MONEY MARKET
– ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาท วันศุกร์ (25 มิ.ย ) เงินบาทวันนี้ยังอ่อนค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น โดยได้แรงหนุนจากการที่สหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง รวมถึงข้อมูลเงินเฟ้อที่ขยายตัว

CAPITAL MARKET
-ตลาดหุ้นสหรัฐฯ วันศุกร์ (25 มิ.ย.) ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวก โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นไนกี้และหุ้นธนาคารหลายแห่ง ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐที่ต่ำกว่าคาดได้ช่วยคลายความวิตกของบรรดานักลงทุนที่กังวลว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วกว่าคาด

-ตลาดหุ้นไทย วันศุกร์ (25 มิ.ย ) ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ระดับ 1,582.67 จุด ลดลง 3.05 จุด (-0.19%) ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 68,187.83 ล้านบาทจากแรงกดดันความไม่แน่นอนการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดแรงขายลดความเสี่ยงออกมา เพราะตลาดฯจะปิดทำการในวันเสาร์-อาทิตย์ก็ไม่รู้ว่าศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จะประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดออกมาเมื่อไร อย่างไร

Analyst View
เงินบาทปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นการอ่อนค่าที่มากกว่าค่าเงินเอเชียส่วนใหญ่ ด้านดัชนีดอลลาร์ปรับตัวขึ้นขานรับการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ พุ่งขึ้น 3.4% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2535 หรือสูงสุดในรอบเกือบ 30 ปี

ขณะเดียวกันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 1.5% ขานรับ PCE ที่พุ่งขึ้นดังกล่าว อย่างไรก็ดี การเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐที่ต่ำกว่าคาดได้ช่วยคลายความวิตกของบรรดานักลงทุนในตลาดหุ้นที่กังวลว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วกว่าคาด ประเด็นที่ต้องติดตามได้แก่ ผลกระทบภายหลังรัฐบาลมีคำสั่งยกระดับมาตรการเป็นการชั่วคราว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งหมด 10 จังหวัด

ที่มา : สำนักวิจัยซีไอเอ็มบี ไทย

- Advertisement -