บริษัทวายแอลจีบูลเลี่ยนแอนด์ฟิวเจอร์ส

คำแนะนำ
เน้นเก็งกำไรฝั่งซื้อโดยมีแนวรับบริเวณ 1,774-1,766 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และหากราคาขยับขึ้นควรแบ่งขายทำกำไรบางส่วนหากราคาทองคำไม่ผ่านโซน 1,795-1,812 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ถ้าผ่านได้สามารถถือต่อ

ทองคำ
แนวรับ 1,766 1,751 1,733
แนวต้าน 1,795 1,812 1,826

ปัจจัยพื้นฐาน
ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.36 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ท่ามกลางปริมาณการซื้อขายที่เบาบางกว่าปกติ เนื่องจากตลาดหุ้นนิวยอร์ก ตลาดทองคำ ตลาดน้ำมัน ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์ก รวมทั้งหน่วยงานราชการของสหรัฐ “ปิดทำการ” เนื่องในวันชาติสหรัฐ อย่างไรก็ดี ราคาทองคำสามารถทรงในระดับสูงได้ตลอดทั้งวัน โดยได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ หลังการเปิดเผยตัวเลขในตลาดแรงงานสหรัฐที่ไม่ได้แข็งแกร่งมากพอจะกระตุ้นการคาดการณ์เกี่ยวกับการเร่งคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)

นอกจากนี้ ราคาทองคำยังได้รับแรงหนุนเพิ่มจากการแข็งค่าของสกุลเงินยูโร หลังจากมาร์กิตเผยวานนี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซน พุ่งขึ้นเกินคาดสู่ระดับ 59.5 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี ประกอบกับสกุลเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นเช่นกัน หลังจากวานนี้นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษออกมาประกาศว่า รัฐบาลอังกฤษมีแผนจะยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ ซึ่งจะส่งผลให้ชาวอังกฤษจะไม่ถูกบังคับภายใต้กฎหมายให้ต้องสวมหน้ากากอีกต่อไป

โดยจะมีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายภายในสัปดาห์หน้า สถานการณ์ดังกล่าวกดดันการเคลื่อนไหวของสกุลเงินดอลลาร์ จนหนุนราคาทองคำให้แกว่งตัวใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์บริเวณ 1,794.28 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ อาทิ ดัชนี PMI ภาคบริการจากมาร์กิตและ ISM

ปัจจัยทางเทคนิค
ระหว่างวันหากราคาทองคำไม่หลุด 1,774-1,766 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จะมีโอกาสดีดตัวขึ้นต่อ โดยหากยืนเหนือบริเวณ 1,795ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ (ระดับสุงสุดของ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา) การขยับขึ้นจะมีแนวต้านถัดไปที่ 1,812 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากหลุดแนวรับแรก กรอบด้านล่างจะอยู่ที่ 1,751 ดอลลาร์ต่อออนซ์

กลยุทธ์การลงทุน
เน้นการเปิดสถานะซื้อ โดยอาจใช้บริเวณ 1,774-1,766 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากหลุดให้ชะลอการเข้าซื้อไปยังโซนแนวรับถัดไป (สถานะซื้อตัดขาดทุนหากราคาหลุด 1,751 ดอลลาร์ต่อออนซ์) ขณะที่หากราคาดีดตัวขึ้นแนะนำทยอยแบ่งปิดสถานะทำกำไรโซน 1,795-1,812 ดอลลาร์ต่อออนซ์เพื่อรอเข้าซื้อใหม่เมื่อราคาอ่อนตัว

ข่าวสารประกอบการลงทุน
(+) อังกฤษจ่อยกเลิกมาตรการบังคับสวมหน้ากาก นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน กล่าวในวันจันทร์ว่า ชาวอังกฤษจะไม่ถูกบังคับภายใต้กฎหมายให้ต้องสวมหน้ากากอีกต่อไป เมื่อรัฐบาลยกเลิกมาตรการควบคุมการระบาดภายในเดือนนี้ นายกรัฐมนตรีจอห์นสัน กล่าวว่า รัฐบาลมีแผนจะยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์รอบล่าสุดในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ แม้ว่ายอดผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายภายในสัปดาห์หน้า

ผู้นำอังกฤษระบุว่า นอกจากยกเลิกการบังคับสวมหน้ากากแล้ว ยังจะยกเลิกมาตรการบังคับให้เว้นระยะห่างทางสังคมด้วย โดยจะให้ร้านค้าและธุรกิจต่าง ๆ ตัดสินใจเองว่าจะยังกำหนดให้ลูกค้าต้องสวมหน้ากากหรือเว้นระยะห่างหรือไม่อย่างไร นายกฯ จอห์นสัน แถลงข่าวในกรุงลอนดอนว่า “รัฐบาลจะไม่บังคับใช้มาตรการควบคุมจำกัดภายใต้กฎหมายอีกต่อไป และจะมอบสิทธิในการตัดสินใจให้แก่ประชาชนในการจัดการรับมือกับเชื้อไวรัสนี้” อย่างไรก็ตาม นายกฯ อังกฤษ ยอมรับว่าจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นหลังจากที่รัฐบาลยกเลิกการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำใจและยอมรับผลที่จะเกิดขึ้น

(+) ยูโรแข็งค่าเทียบดอลล์ ขานรับดัชนี PMI ยูโรโซนพุ่งแรง สกุลเงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในวันนี้ หลังไอเอชเอส มาร์กิต ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเดือนมิ.ย.ของยูโรโซนยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งทำให้นักลงทุนมีความหวังว่า การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยหนุนภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของยูโรโซนด้วย ณ เวลา 18.21 น.ตามเวลาไทย ยูโรเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 1.1879 ดอลลาร์ ดีดตัวขึ้น 0.12%

(+) ดัชนี PMI รวมภาคผลิต-บริการยูโรโซนพุ่งสูงสุดในรอบ 15 ปี ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซน อยู่ที่ระดับ 59.5 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 57.1 ในเดือนพ.ค.

(+) รัสเซียเผยสหรัฐยังไม่ได้ติดต่อเกี่ยวกับการโจมตีทางไซเบอร์ล่าสุด สำนักข่าวอินเตอร์แฟกซ์รายงานการเปิดเผยของรัฐบาลรัสเซียในวันนี้ (5 ก.ค.) ระบุว่า รัสเซียยังไม่ได้รับการติดต่อจากสหรัฐเกี่ยวกับการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ซึ่งส่งผลกระทบกับธุรกิจของสหรัฐหลายร้อยแห่ง โดยเชื่อว่ากลุ่มแฮกเกอร์รัสเซียมีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีดังกล่าว Huntress Labs บริษัทด้านความปลอดภัยเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า กลุ่ม REvil ของรัสเซียได้ก่อเหตุโจมตีดังกล่าว ส่วนในเดือนที่ผ่านมา FBI ระบุว่า กลุ่ม REvil ได้ทำการโจมตีโรงงานบรรจุเนื้อวัว JBS ด้วย

(+) อิสราเอลเผยประสิทธิภาพวัคซีนโควิดของไฟเซอร์ลดเหลือ 64% หลังฉีด 2-3 สัปดาห์ Ynet เว็บไซต์ข่าวของอิสราเอลรายงานโดยอ้างข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอลระบุว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์-บิออนเทคมีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันโรคโควิด-19 หลังการฉีดเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ ขณะที่มีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นของไวรัสสายพันธุ์เดลตา และรัฐบาลอิสราเอลได้ยกเลิกมาตรการควบคุมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลระบุว่า ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ของวัคซีนไฟเซอร์-บิออนเทค อยู่ที่ระดับ 94% ในช่วงวันที่ 2 พ.ค.-5 มิ.ย. แต่ลดลงเหลือ 64% ในช่วงวันที่ 6 มิ.ย.ถึงต้นเดือนก.ค. นอกจากนี้ ประสิทธิภาพของวัคซีนดังกล่าวในการป้องกันการเจ็บป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล และอาการเจ็บป่วยร้ายแรงนั้น ได้ลดลงจาก 98% เหลือ 93% ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยเช่นกัน

(-) หุ้นยุโรปปิดบวก ขานรับ PMI ยูโรโซนแข็งแกร่ง ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (5 ก.ค.) โดยปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน หลังได้แรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลกิจกรรมทางธุรกิจในยูโรโซนซึ่งขยายตัวในอัตราสูงสุดในรอบ 15 ปีในเดือนมิ.ย. ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 458.36 จุด เพิ่มขึ้น 1.55 จุด หรือ +0.34% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,567.54 จุด เพิ่มขึ้น 14.68 จุด หรือ +0.22%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,661.97 จุด เพิ่มขึ้น 11.88 จุด หรือ +0.08% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,164.91 จุด เพิ่มขึ้น 41.64 จุด หรือ +0.58%

(-) อุตฯรถยนต์เยอรมนีลดคาดการณ์การผลิตปีนี้ เหตุปัญหาซัพพลายเชนยืดเยื้อ อุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมนีได้ปรับลดคาดการณ์การผลิตรถยนต์ในปีนี้ โดยบ่งชี้ว่า การฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 จะเป็นไปอย่างยากลำบาก ขณะที่ผู้ผลิตเผชิญกับภาวะชะงักงันด้านอุปทาน สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ของเยอรมนี (VDA) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของการผลิตรถยนต์ลงเหลือ 3% จาก 13% ที่เคยคาดไว้ก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า การผลิตในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาต่ำกว่าคาดอย่างมาก VDA คาดการณ์ในรายงานตลาดรอบครึ่งปีว่า เยอรมนีจะมีการผลิตรถยนต์ 3.6 ล้านคันในปีนี้ ลดลง 400,000 คันจากการคาดการณ์ครั้งก่อน

ที่มา: VOATHAI, อินโฟเควสท์, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, ryt9

- Advertisement -