ศบค.รายงานผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 6,519 ราย วันนี้จะเปิดรับผู้ป่วยรอเตียงอีก 5 แห่ง ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกอยู่ที่ 185 ล้านราย สหรัฐอเมริกา ยังครองแชมป์สูงสุด ขณะที่หลายๆ ประเทศกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อไวรัสเดลต้า และความล่าช้าของการฉีดวัคซีนป้องกัน ทำให้หลายๆ ประเทศกลับมาใช้วิธีการล็อคดาวน์อีกครั้ง ในประเทศไทย กลุ่ม “หมอไม่ทน” ออกมายื่นหนังสือถึงสภาฯ วอนให้รัฐใช้ mRNA เป็นวัคซีนหลัก ด้าน ศบค. อ้างรอผลศึกษาก่อนฉีดข้ามชนิด ว่าทำได้หรือไม่ ส่วน “หมอยง” พบฉีดวัคซีน 2 เข็มต่างชนิด ภูมิคุ้มกันสูง แต่ขอรอความชัดเจนภายในสิ้นเดือนนี้ ด้าน ศปก.ศบค. รับพิจารณาข้อเสนอล็อกดาวน์รอบใหม่
ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 6,519 ราย ในปท.4,958 ราย ตรวจเชิงรุก 1,545 ราย ตปท.16 ราย เสียชีวิต 54 ราย
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,519 ราย ประกอบด้วย
– ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 4,958 ราย
– จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 1,490 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 55 ราย
– ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 16 ราย
– มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 54 ราย แยกเป็น เพศชาย 32 ราย เพศหญิง 22 ราย อายุระหว่าง 26-89 ปี ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น ความดัน, เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 301,172 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 231,171 ราย เพิ่มขึ้น 4,148 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 2,237 ราย จำนวนผู้รับได้รับการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-6 ก.ค. 64 มีผู้ได้รับวัคซีนสะสมรวม 11,328,043 โดส เป็นแข็มแรก 8,245,297 โดส และเข็มที่สอง 3,082,746 โดส
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ขณะนี้อยู่ที่ 185,359,491ราย ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 4,008,681 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย สหรัฐฯ ( 34,622,148 ราย) อินเดีย (30,662,896 ราย) บราซิล (18,855,015ราย) ฝรั่งเศส (5,790,584 ราย) และรัสเซีย (5,454,763 ราย )
สำหรับปัญหาหนัก และกำลังเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศคือ การระบาดของเชื้อไวรัสเดลต้า ล่าสุดหน่วยงานของรัฐนิวเซาท์เวลส์ (NSW) ในประเทศออสเตรเลีย ได้ประกาศขยายเวลามาตรการล็อกดาวน์ออกไปจากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 9 ก.ค.64 เป็นวันที่ 16 ก.ค.64 เพื่อสกัดกั้นการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เดลต้า หลังยอดติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการขยายเวลาในครั้งนี้ เพราะต้องใช้ความพยายามที่จะลดยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ลดลงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 ราย แต่จากการระบาดที่รวดเร็วของเชื้อไวรัสเดลต้า และความล่าช้าของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ภายในประเทศทำให้รัฐบาล และหน่วยของรัฐนิวเซาท์เวลส์ มีความจำเป็นต้องขยายเวลาการใช้มาตรการล็อกดาวน์ออกไป โดยยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในออสเตรเลียล่าสุดนั้นอยู่ที่ 30,829 ราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 910 ราย
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กล่าวว่า กรุงเทพฯ มีคลัสเตอร์ต้องเฝ้าระวัง 118 แห่ง ยังพบคลัสเตอร์ใหม่ เป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เขตมีนบุรี และโรงงานผลิตจิวเวลรี เขตบางนา และยังพบการติดเชื้อกระจายไปใน 40 จังหวัด หลังประชาชนเดินทางจากกรุงเทพฯและปริมณฑล กลับภูมิลำนา และส่วนหนึ่งพบการติดเชื้อในสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งมีอัตราการติดเชื้อรวดเร็วถึง 2 เท่า
ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กและอีโอซี วางมาตรการจัดการเตียง และเพิ่มศักยภาพในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปศูนย์ดูแล โดยให้ความสำคัญกับผู้ป่วยกลุ่มเหลืองและสีแดง โดยผู้ป่วยสีแดงต้องเข้าโรงพยาบาลทันที ส่วนผู้ป่วยสีเหลืองต้องได้รับการช่วยเหือภายใน 1 วัน ส่วนผู้ป่วยสีเขียว หรือสีขาว (ไม่มีอาการ) จะได้รับการจัดสรรไปศูนย์พักคอยของกทม.ในแต่ละเขต
อย่างไรก็ตาม วันนี้จะเปิดรับผู้ป่วยรอเตียง 5 แห่ง ที่อาคารปฎิบัติธรรม วัดอินทราวิหาร วัดสะพาน เขตคลองเตย ค่ายลูกเสื้อวันวาร เขตหนองจอก วันศรีสุดาราม เขตบางกอกน้อย ศูนย์สร้างสุขทุกวัน เขตบางแค และที่เหลือจะทยอยเปิดภายในวันที่ 9 ก.ค.นี้ โดยมีโรงพยาบาลต่างๆ คอยเป็นพี่เลี้ยง ส่วนการขยายศักยภาพรองรับเตียงได้พูดถึงโรงพยาบาลสนามระดับสูงที่สนามบินสุวรรณภูมิ คาดใช้เวลาเตรียมการ 3 สัปดาห์ และเปิดให้บริการได้ในเดือน ส.ค.64 รองรับ 5,000 เตียง โดยรองรับผู้ป่วยวิกฤตได้ 1,360 เตียง
หมอไม่ทน ยื่นหนังสือถึงสภาฯ จี้รัฐใช้ mRNA เป็นวัคซีนหลัก
นพ.สันติ กิจวัฒนาไพบูลย์ ตัวแทนภาคีเครือข่ายบุคลากรสาธารณสุข และกลุ่ม “หมอไม่ทน” พร้อมคณะ เข้ายื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนรับมอบ เพื่อเรียกร้องรัฐบาลพิจาณาให้วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เป็นวัคซีนหลักในการควบคุมการแพร่ระบาด และยังได้ยื่นหนังสือต่อพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน เช่น พรรคประชาธิปปัตย์ และพรรคก้าวไกลด้วย
สำหรับข้อเรียกร้องมี 2 ข้อสำคัญ คือ 1.ให้รัฐบาลนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เช่น วัคซีนของไฟเซอร์ และวัคซีนของโมเดอร์นา เป็นต้น โดยต้องลดขั้นตอนการดำเนินการให้กระชับ รวดเร็วที่สุด และพิจารณาวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ให้เป็นวัคซีนหลักในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย และต้องบริการฉีดให้แก่ประชาชนทุกคนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เนื่องจากมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ยืนยันว่าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ครอบคลุมหลากหลายสายพันธุ์ ลดอาการป่วยหนัก และอัตราการเสียชีวิตได้ และ 2.ต้องเผยแพร่ข้อมูลกระบวนการการจัดหาวัคซีนโควิด-19 และการกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้เป็นปัจจุบัน โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้
อย่างไรก็ตาม กลุ่มภาคีเครือข่ายฯ และกลุ่ม “หมอไม่ทน” ได้ทำการรวบรวมรายชื่อจากทั้งภาคประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์จำนวนทั้งหมด 215,409 รายชื่อ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) พิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว
กรณีพรรคการเมือง “นายปริญญ์ พานิชภักดิ์” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือจากกลุ่มไทยไม่ทน พร้อมกล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์หลายคนยังติดเชื้อโควิด-19 ถึงแม้จะได้รับวัคซีนเข็ม 1 และเข็ม 2 แล้ว ดังนั้นวัคซีนเข็ม 3 ที่เป็นชนิด mRNA เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ และรัฐบาลควรสนับสนุนบริษัทผลิตวัคซีนในประเทศไทย หรือควรเร่งจัดหาวัคซีนจากต่างประเทศ เพื่อนำมาฉีดให้ประชาชน
ศบค.รอผลศึกษาก่อนฉีดข้ามชนิด ว่าทำได้หรือไม่
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) กล่าวว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่าวัคซีนซิโนแวกยังมีประสิทธิภาพ และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่จะได้รับมอบเข้ามาก็ยังมีปริมาณไม่เพียงพอ ขณะที่วัคซีนยี่ห้ออื่นยังไม่สามารถจัดหาเข้ามาได้ในช่วงเวลานี้
ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ที่เข้ามา จะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าก่อนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขจะพิจารณาสัดส่วนการจัดสรรที่เหมาะสม โดยต้องคำนึงถึงขวัญและกำลังใจของบุคลากรทางแพทย์ที่อยู่หน้างาน ซึ่งวัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรกที่ได้มาเป็นวัคซีนที่บริจาคก็ต้องแบ่งสัดส่วนไปให้คนต่างชาติ ตามที่ผู้มอบได้ระบุไว้ด้วย หากฉีดคนไทยทั้งหมด อาจจะกระทบกับความรู้สึกของคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย
กรณีที่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนนัดติดโบว์ดำ และสวมชุดดำในวันนี้เพื่อไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 และยื่นรายชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org เรียกร้องให้เปลี่ยนวัคซีนหลักเป็น mRNA นั้น บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยง จำเป็นจะต้องสร้างขวัญกำลังใจ หากจะมองเรื่องหลักวิชาการทางการแพทย์อย่างเดียวคงไม่ทั่วถึง ซึ่งหากไม่ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ การปฏิบัติงานก็จะออกมาไม่ดี แต่ไม่สามารถใช้งบประมาณเงินกู้มาสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้
นพ.ยง พบฉีดวัคซีน 2 เข็มต่างชนิด ภูมิคุ้มกันสูง
นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 เป็นชนิดเดียวกัน แม้จะเริ่มมีข้อมูล และเริ่มมีการศึกษาเรื่องการฉีดวัคซีนต่างชนิดกันในเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 เช่น การให้ virus vector (แอสตร้าเซนเนก้า) สลับกับ mRNA (ไฟเซอร์)
สำหรับประเทศไทย ขณะนี้มีการใช้วัคซีนทั้งหมด 2 ชนิด คือแบบเชื้อตาย (วัคซีนซิโนแวก และซิโนฟาร์ม) กับ virus vector (แอสตร้าเซนเนก้า) ซึ่งในบางรายที่มีอาการแพ้วัคซีนเข็มแรก จะมีการให้วัคซีนเข็ม 2 แบบต่างชนิดกัน ป้จจุบันมีมากกว่า 1,000 ราย จากการศึกษา พบว่าการให้วัคซีนเข็มแรกเป็นวัคซีนเชื้อตาย (ซิโนแวก) และอีก 3-4 สัปดาห์ต่อมาให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ปรากฏว่าภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น สูงกว่าการให้วัคซีนเชื้อตาย (ซิโนแวก) 2 เข็มห่างกัน 3-4 สัปดาห์อยู่ประมาณ 8 เท่า หรือสูงกว่าภูมิต้านทานที่เกิดจากการติดเชื้อจริงในผู้ป่วยประมาณ 10 เท่า แต่ยังน้อยกว่าการให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 ครั้งห่างกัน 10 สัปดาห์อยู่เพียงเล็กน้อย
ดังนั้น การให้วัคซีนสลับ แบบเข็มแรกเป็นเชื้อตาย และเข็มที่ 2 เป็นไวรัสเวกเตอร์ (ห่างกัน 3-4 สัปดาห์) จะทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนมีภูมิต้านทานสูงในเวลาเพียง 6-8 สัปดาห์ ซึ่งต่างกับผู้ที่ได้รับวัคซีนไวรัสเวกเตอร์ 2 ครั้ง (ห่างกัน 10 สัปดาห์) ที่กว่าจะมีภูมิต้านทานสูง จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 12-14 สัปดาห์ ซึ่งการศึกษานี้ ถือเป็นประโยชน์ในช่วงที่มีการระบาด เนื่องจากทำให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนมีภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันการบริหารวัคซีนจะทำได้ง่ายขึ้น ในกรณีที่มีวัคซีนในปริมาณจำกัด และคาดว่าการศึกษาทั้งหมดน่าจะเห็นความชัดเจนภายในสิ้นเดือนนี้
“ชวน” ชี้ฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้บุคลากรรัฐสภาแค่ข้อเสนอ
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กรณีที่ประชุมวิป 4 ฝ่าย ได้พูดคุยถึงการจัดฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้แก่บุคลากรของรัฐสภานั้น เป็นเพียงข้อเสนอจากที่ประชุม ไม่ได้เป็นมติของที่ประชุม โดยส่วนตัวมองว่าควรให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้า ทั้งแพทย์และพยาบาลที่มีหน้าที่โดยตรงให้ได้รับการฉีดวัคซีนก่อน
ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเร็วขึ้นเป็นช่วงปลายปีนี้ ไม่เป็นปัญหา สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากการเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเป็นเพียงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไม่ต้องมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาเข้าร่วมการประชุมด้วย ทำให้สามารถเว้นระยะห่างภายในห้องประชุมได้ ส่วนกรณีที่วิปรัฐบาลมีมติให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ถอนร่างดังกล่าวออกไปก่อนนั้นสามารถทำได้ แต่จะต้องขออนุมัติจากที่ประชุมเพื่อลงมติให้คณะกรรมาธิการถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากการพิจารณา
ศปก.ศบค.รับพิจารณาข้อเสนอล็อกดาวน์รอบใหม่
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ผอ.ศปก.ศบค.) เปิดเผยว่า ทางศบค.พร้อมรับพิจารณาข้อเสนอกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศอีกครั้งท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอข้อมูลทางการจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำมาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เพราะขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังทรงตัวในระดับสูง
ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนเข้าใจในคำว่าล็อกดาวน์ที่เคยนำมาใช้จริง คือ เมื่อเดือน เม.ย.63 แต่หลังจากนั้นใช้มาตรการปิดบางพื้นที่และบางกิจการ/กิจกรรม จำกัดการเคลื่อนย้าย โดยหากนำมาตรการล็อกดาวน์มาใช้คงจะเน้นในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดเป็นจำนวนมาก เช่น กทม.และปริมณฑล หรือ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่พื้นที่อื่นๆ ก็ต้องมีมาตรการเสริมเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกัน แต่อาจใช้ความหนักเบาของมาตรการลดหลั่นไปตามลำดับ
หากตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทาง ศบค.อาจจะประชุมเร็วขึ้นก่อนกำหนดเดิมที่จะครบ 14 วันหลังจากใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์วันที่ 12 ก.ค. แต่หากตัวเลขยังขึ้นๆลงๆ แบบนี้ก็คงต้องรอประเมินจนครบเวลา 15 วัน แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ หรือนั่งรอให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ช่วงนี้ก็เร่งหามาตรการแก้ไขสถานการณ์ เช่น การควบคุมการเคลื่อนย้าย การรักษาพยาบาล การจัดหาเตียงเพิ่มเติม เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลไม่ได้หลีกเลี่ยงที่จะล็อกดาวน์ประเทศ แต่ความหมายและการดำเนินมาตรการต้องชัดเจน
อย่างไรก็ตาม หากดำเนินการล็อกดาวน์ทั้งประเทศอีกครั้ง ก็ประเมินว่าอาจจะต้องใช้งบประมาณเยียวยาประชาชนสูงเช่นเดียวกับครั้งก่อน และอาจจะก็ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึงครบถ้วน ดังนั้น ทาง ศบค.จึงคำนึงว่าการให้ประชาชนบางส่วนได้ทำมาหากินได้โดยไม่กระทบเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดจึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุด