สำนักวิจัยซีไอเอ็มบี ไทย :

สถานการณ์เศรษฐกิจที่สำคัญ
– คณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 เป็นขยายตัวได้ในกรอบ 0.0 – 1.5% จากเดิม คาดว่าจะเติบโตได้ราว 0.5 – 2% ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิด-19 และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐ ด้านการส่งออก กกร.ปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกไทยในปี 64

โดยคาดว่าจะขยายตัว 8 – 10% จากเดิมคาดว่า จะเติบโตราว 5 – 7% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด ภายใต้เงื่อนไขสามารถควบคุมการระบาดในกลุ่มแรงงานภาค อุตสาหกรรมได้ และการฉีดวัคซีนให้แรงงานภายใต้ ม.33 ได้ทั่วถึง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1.0 – 1.2% ตามคาดการณ์เดิม (Source: https://www.ryt9.com)

– กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานเกาหลีใต้ รายงานว่า ยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเกาหลีใต้ ขยายตัวในระดับเลขสองหลักในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาฟื้นตัวหลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รายงานระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เกาหลีใต้มียอด FDI อยู่ที่ 1.314 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 71.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และถือเป็นยอด FDI สูงสุดอันดับ 2 สำหรับช่วงครึ่งปีแรก

โดยมีปัจจัยหนุนจากความหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาฟื้นตัวหลังการระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศพบว่า ยอด FDI จากสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่า แตะระดับ 6.44 พันล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่ยอด FDI จากสหรัฐเพิ่มขึ้น 20.3% แตะที่ระดับ 2.11 พันล้านดอลลาร์ฯ ยอด FDI ในโครงการใหม่ (greenfield investment) ซึ่งมีการสร้างโรงงานและตำแหน่งงาน เพิ่มขึ้น 37.6% เมื่อเทียบรายปี สู่ระดับ 7.57 พันล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่การลงทุนเข้าซื้อและควบรวมกิจการเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า แตะที่ระดับ 5.57 พันล้านดอลลาร์ฯ (Source: https://www.ryt9.com)

– สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี รายงานว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชี้ว่าภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเยอรมนีชะลอตัวลง รายงานระบุว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีลดลง 0.3% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบกับเดือนก่อน หลังจากที่ลดลง 0.3% ในเดือนเม.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 0.5% ในเดือนพ.ค.ทั้งนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีที่ปรับตัวลดลงเกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าประเภททุนที่ลดลงอย่างมาก เช่น เครื่องจักรและรถยนต์ ซึ่งลดลง 3.4% ขณะที่สินค้าบริโภค สินค้าขั้นกลาง และผลผลิตก่อสร้างเพิ่มขึ้น
Source: https://www.ryt9.com

MONEY MARKET
– ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาท วันพุธ (7 ก.ค ) เงินบาทวันนี้อ่อนค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐฯสอดคล้องกับค่าเงินเอเชียส่วนใหญ่ตามแนวโน้มที่ช่วงนี้ดอลลาร์สหรัฐฯอยู่ในทิศทางที่มีแนวโน้มแข็งค่า โดยนักลงทุนก็รอดูความชัดเจนของธนาคารกลางสหรัฐฯในการที่จะเริ่มลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน

CAPITAL MARKET
-ตลาดหุ้นสหรัฐฯ วันพุธ (7 ก.ค ) ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐเพิ่มขึ้นวันนี้หลังรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯครั้งล่าสุดเปิดเผยออกมา ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,681.79 เพิ่มขึ้น 0.30%, ดัชนี S&P500 ปิดเพิ่มขึ้น 0.34% และดัชนี Nasdaq ปิดเพิ่มขึ้น 0.01%

-ตลาดหุ้นไทย วันพุธ (7 ก.ค ) ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ลดลงสอดคล้องกับดัชนีตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ โดยวันนี้มีแรงขายมากในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง พลังงาน และกลุ่มขนส่ง ปิดตลาดวันนี้ SET INDEX ลดลง 14.83 จุด

Analyst View
เงินบาทเมื่อวันพุธที่ผ่านมายังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯตามแนวโน้มที่เกิดขึ้นในช่วงประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนมองว่าแนวโน้มจะมีความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน ขณะที่ทางด้านประเทศไทย เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวก็เป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาทและดัชนีตลาดหุ้นอยู่

โดยในส่วนของการคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 เป็นขยายตัวได้ในกรอบ 0.0 – 1.5% จากเดิม คาดว่าจะเติบโตได้ราว 0.5 – 2% โดยมองว่าแนวโน้มขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิด-19 และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐ ด้านการส่งออก กกร.ปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกไทยในปี 64 โดยคาดว่าจะขยายตัว 8 – 10% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด

สำหรับในส่วนของเศรษฐกิจต่างประเทศนั้นหลังการเปิดเศรษฐกิจมากขึ้นก็ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคในหลายประเทศฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ดีก็ยังมีปัญหาในส่วนของการขาดแคลนวัตถุดิบซึ่งส่งผลให้ภาคการผลิตสะดุดลงบ้างในช่วงนี้ ขณะเดียวกันสถานการณ์การกลายพันธุ์ของโควิด-19 ก็ยังเป็นตัวแปรอยู่

- Advertisement -