บล.หยวนต้า (ประเทศไทย): 

Action BUY (Maintain)

TP upside (downside) +22.8%

Close Jan 20, 2023 17.10

Price 12M Target 21.00

KRUNG THAI BANK (KTB) PPOP ปรับขึ้นดี ปีนี้เน้นสร้าง Synergy กับพันธมิตร

Earnings Results

  • KTB รายงานกำไรสุทธิ 4Q65 จำนวน 8,109 ลบ. โต 64.0%YoY แต่ลดลง 4.0%QoQ ใกล้เคียงที่เราและตลาดคาด
  • ปัจจัยลบมาจากฝั่งค่าใช้จ่ายนั้น คือ 1) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับขึ้น 9.7%QoQ หลังมีบันทึกค่าใช้จ่ายพนักงาน และค่าใช้จ่ายการตลาดเพิ่มมากกว่าช่วงอื่นของปี รวมถึงมีค่าใช้จ่ายลงทุนเพื่อพัฒนาระบบ IT สำหรับบริการลูกค้า และ 2) ค่าใช้จ่ายตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 32.9%QoQ แม้ NPL Ratio จะลดลงเหลือ 3.9% จาก 4.0% ใน 3Q65 แต่บริษัทต้องการเพิ่มสำรองเพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ส่งผลให้ Coverage Ratio ของ KTB สูงขึ้นเป็น 172.5% จาก 169.3% ใน 3Q65
  • ทั้งนี้กำไรก่อนการตั้งสำรองและหักภาษี (PPOP) ปรับขึ้นดีที่ 9.7%QoQ หนุนจากรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิที่โต 7.5%QoQ หลัง NIM ปรับขึ้นเป็น 2.8% จาก 2.6% ใน 3Q65 เป็นผลจากทั้งการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ที่เร็วกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก และสัดส่วนสินเชื่องานภาครัฐฯ (ดอกเบี้ยต่ำ) ที่ลดลงในช่วงปลายปี นอกจากนี้รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยขยายตัว 15.5%QoQ หลักๆ มาจากกำไรจากการที่มูลค่าเงินลงทุนผ่านงบกำไรขาดทุน (FVTPL) เพิ่มขึ้น 48.6%QoQ และรายได้หนี้สูญรับคืนที่เพิ่มขึ้นถึง 79.6%QoQ ตามสถานการณ์ชำระเงินของลูกหนี้ในพอร์ตที่ดีขึ้น ทำให้ทั้งปี 2565 KTB มีกำไรสุทธิ 33,698 ลบ. โตเด่น 56.1%YoY

Our Take

  • เราคาดผลดำเนินงานของ KTB จะปรับตัวดีขึ้นต่อในปี 2566 โดยมีปัจจัยหนุนหลักจาก 1) การขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อโครงการภาครัฐฯ ที่จะได้รับการกระตุ้นในช่วง 2H65 หลังจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ประกอบกับสินเชื่อรายย่อยที่มีแนวโน้มโตดี หลังบริษัทหันมาขยายตลาดสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงมากขึ้น เช่นสินเชื่อส่วนบุคคลของลูกหนี้ในกลุ่มราชการและรัฐวิสาหกิจ รวมถึงทำตลาดในกลุ่มลูกค้าทั่วไป ด้วยการพัฒนาช่องทาง Digital Platform ให้เข้าถึงง่ายขึ้น เน้นการเชื่อมโยงกับ “เป๋าตัง” และ “ถุงเงิน” ที่เป็น E-Wallet ที่มีฐานผู้ใช้งานจำนวนมาก เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้าสู่ Krungthai Next ที่เป็น Platform หลักของ KTB
  • นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงกับ KTC มากขึ้น เช่น การเพิ่มช่องทางสมัครบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลของ KTC บน Krungthai Next รวมถึงการให้พนักงานของ KTB สามารถแนะนำสินเชื่อจำนำทะเบียน “พี่เบิ้ม” ให้กับลูกค้าของธนาคารได้ ส่วนการตั้งสำรองคาดปรับขึ้นเล็กน้อย จากความเสี่ยงของพอร์ตที่สูงขึ้นหลังเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อผลตอบแทนสูง หนุนให้คาด KTB จะมีกำไรสุทธิในปี 2566 จำนวน 36,446 ลบ. โต 8.2%YoY
  • KTB ได้เซ็น MOU ร่วมกับ ADVANC เพื่อร่วมทุนจัดตั้ง Virtual Bank ซึ่งถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เนื่องจากจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ KTB สามารถเข้าถึงลูกค้าที่เป็นกลุ่ม Underbanked ที่เป็นฐานลูกค้าเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และอินเทอเน็ตของ ADVANC (ฐานลูกค้ากว่า 45 ล้านราย) ขณะที่บริษัทมีความชำนาญในธุรกิจธนาคารและการให้บริการทางการเงินบน Digital Platform อยู่แล้ว ทำให้เรามองว่ากลุ่ม KTB-ADVANC มีโอกาสสูงที่จะได้รับคัดเลือกเป็นผู้ประกอบการชุดแรก (1 ใน 3 ราย) จาก ธปท. (คาดทราบผล 2Q67)
  • เรามอง KTB แม้มีความน่าสนใจจากพัฒนาการใหม่ๆ บนช่องทาง Digital Platform และเป็นธนาคารใหญ่ที่พอร์ตสินเชื่อมีความแข็งแรง ทั้งในแง่กลุ่มลูกค้าความเสี่ยงต่ำ และระดับ Coverage Ratio ที่สูงกว่าในอดีต อีกทั้งราคาหุ้นปัจจุบันมี Upside 22.8% จากมูลค่าพื้นฐานเดิมปี 2566 ที่ 21 บาท (อิง Prospective PBV ที่ 0.7x) และคาดมีปันผลจ่ายอีกหุ้นละ 0.72 บาท คิดเป็น Div. Yield 4.2% (จ่ายปีละ 1 ครั้ง) เราจึงคงคำแนะนำ “ซื้อ”
- Advertisement -