“จีเอเบิล” ยักษ์ใหญ่แห่งวงการ “Digital Transformation” ล่าสุด ก.ล.ต.อนุมัติแบบคำขอ เตรียมขาย IPO ภายในกลางปีนี้

“ดร. ชัยยุทธ ชุณหะชา” พร้อมนำทัพ จีเอเบิล (GABLE) ผู้นำด้าน Tech Enabler รายใหญ่ของไทยที่มีความพร้อมในการช่วยยกระดับธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลในทุกมิติ เดินหน้าอย่างก้าวกระโดดกับการเสนอขาย IPO เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการโซลูชั่นดิจิทัลแบบครบวงจรแก่องค์กรธุรกิจไทยให้สามารถขับเคลื่อนการเติบโตได้อย่างมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัยยิ่งขึ้น  พร้อมต่อยอดการเติบโตแบบไร้ขีดจำกัด ด้าน บล.ฟินันเซีย ไซรัส เผยความคืบหน้า สำนักงาน ก.ล.ต. อนุมัติแบบคำขอจีเอเบิล อนุญาตให้เสนอขายหุ้นIPO เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างเดินหน้า
โรดโชว์พบกองทุน และนักลงทุนทั่วไป คาดเสนอขาย IPO ช่วงครึ่งปีแรก 2566

ดร. ชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน)  หรือ GABLE กล่าวว่า เราสั่งสมประสบการณ์มากว่า 3 ทศวรรษในการก้าวผ่านความท้าทายแต่ละยุคสมัยไปพร้อมกับการพัฒนาขีดความสามารถอย่างไร้ขีดจำกัด ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาจีเอเบิลได้รับความไว้วางใจเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการนำเสนอเทคโนโลยีให้แก่ลูกค้ามากกว่า 1,000 ราย รวมทั้งการทำงานร่วมกับพันธมิตรผู้พัฒนาเทคโนโลยีระดับโลกมากกว่า 100 บริษัท และที่สำคัญ เรามีทีมบริหารผู้คร่ำหวอดในวงการทรานฟอร์มเมชันไทยมากว่า 33 ปี และมีจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีในอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากกว่า 1,000 คน ที่พร้อมจะช่วยยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีขององค์กรและขับเคลื่อนธุรกิจของลูกค้าให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลในทุกมิติ ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่กระจายตัวอยู่หลากหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ ภาคธุรกิจการเงิน ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตและพลังงาน รวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยจีเอเบิลประสบความสำเร็จในการพัฒนาโปรเจกต์ขนาดต่างๆ รวมมากกว่า 30,000 โปรเจกต์ ทำให้ปัจจุบัน จีเอเบิลเติบโตอย่างมั่นคงทั้งในด้านบุคลากร ความครบวงจรของบริการ และผลการดำเนินงานทางการเงินที่แข็งแกร่ง ยืนหยัดเป็นผู้นำด้าน Tech Enabler ที่ใหญ่ที่สุดของไทย

จึงนับได้ว่า จีเอเบิล คือศูนย์รวมขุมพลังด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจไปพร้อมกับกระแสความต้องการ Digital Transformation โดยธุรกิจของกลุ่มจีเอเบิล แบ่งเป็น 3 ธุรกิจหลัก คือ

ธุรกิจให้บริการโซลูชั่นระดับองค์กร (Enterprise Solution and Services) เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการทำ Digital Transformation ได้อย่างครบวงจร และหลากหลายอุตสาหกรรม ด้วยผลิตภัณฑ์ 5 กลุ่มโซลูชั่น เริ่มตั้งแต่การเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ด้วยโซลูชั่นด้านระบบคลาวด์และดาต้าเซ็นเตอร์ (Cloud and Data Center Modernization Solution)  และการรักษาความปลอกดภัยของข้อมูล ด้วยโซลูชั่นด้านระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security Solution) ตลอดจน การนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย โซลูชั่นด้านระบบจัดการข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล (Data and Analytics Solution) และการพัฒนาแอปพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจในยุคปัจจุบันที่ต้องการมีแอปพลิเคชั่นเป็นของตนเอง ด้วยโซลูชั่นด้านธุรกิจดิจิทัล (Digital Business and Application Solution) ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มบริษัทฯ ยังมีโซลูชั่นสำหรับบริหารจัดการระบบสารสนเทศ (Managed Tech Services) เพื่อให้บริการสนับสนุนงานด้านระบบเทคโลยีสารสนเทศ ด้วยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญให้แก่ลูกค้า สามารถตอบสนองความต้องการเกี่ยวกับโซลูชั่นด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลของลูกค้าได้
อย่างครบวงจร (One Stop Service) โดยในปี 2565 ธุรกิจให้บริการโซลูชั่นระดับองค์กร ดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนรายได้หลักราว 76%

นอกจากนี้ ธุรกิจโซลูชั่นที่เป็นตัวแทนจำหน่ายและสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value-added Distribution) โดยกลุ่มบริษัทเป็นตัวแทนหลักในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชั้นนำต่างๆ จาก Oracleและ Veritas ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการใช้งานในระดับองค์กร เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากผู้ใช้งานทั่วโลกมาแล้วอย่างยาวนาน รวมทั้ง ธุรกิจบริการซอฟต์แวร์แพลตฟอร์ม (Software Platform)  เกิดจากการนำเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นภายในองค์กร มาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ ที่กลุ่มบริษัทฯ เป็นเจ้าของและพร้อมให้บริการแก่ลูกค้าจำนวน 3 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1. แพลตฟอร์มด้านการตลาดดิจิทัลแบบครบวงจร, 2. แพลตฟอร์มสำหรับจัดการข้อมูล Big Data และ 3. แพลตฟอร์มสำหรับบริหารจัดการพื้นที่เช่า ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการสร้างความแตกต่างทางการแข่งขันของกลุ่มบริษัทฯ ที่เหนือกว่าคู่แข่ง

ประกอบกับศักยภาพทางธุรกิจอันโดดเด่นในปี 2565 กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการ 4,731 ล้านบาท ใกล้เคียงปี 2564 มีรายได้จากการขายและบริการอยู่ที่ 4,939.07 และในปี 2565 มีกำไรสุทธิ 268 ล้านบาท เติบโตเกือบ 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเติบโตต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563 – 2565) ซึ่งเป็นไปตามแผนธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ที่ต้องการมุ่งเน้นโซลูชั่นที่มีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้น โดยกลุ่มซอฟต์แวร์แพลตฟอร์ม ถือเป็น Growth Engine ที่พร้อมสำหรับการเติบโตด้วยการเป็นเจ้าของซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มของเราเอง และความสำเร็จที่ผ่านมาของกลุ่มธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มในระหว่างปี 2563-2565 ซึ่งสามารถสร้างอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่สูงถึง 32.17% และมีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยที่สูงถึงกว่า 50% นอกจากนี้ จีเอเบิลยังมีสัดส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นในระดับที่ 0.6 เท่า ซึ่งอยู่ในระดับต่ำ รองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต

ดร. ชัยยุทธ กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมไอทีถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง โดยเฉพาะในช่วงสถาการณ์โควิดที่ผ่านมา หากถามว่าในวันนี้มีความต้องการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวันมากแค่ไหน ในด้านธุรกิจก็เช่นกัน ต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน มีความสามารถเหนือคู่แข่ง จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งทิศทางดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานของ Gartner, Inc. (Gartner) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลกที่คาดการณ์ว่ามูลค่าใช้จ่ายด้านไอทีในประเทศไทยในปี 2566 ในส่วนของซอฟต์แวร์ระดับองค์กรจะเป็นส่วนที่เติบโตสูงที่สุด ในอัตรา 14.87%

จีเอเบิล ในฐานะ Tech Enabler ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน Digital Transformation พร้อมที่จะนำศักยภาพและความพร้อมทางเทคโนโลยีในทุกด้านมาสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันและโอกาสทางธุรกิจในโลกดิจิทัลให้กับลูกค้าโดยเฉพาะบริษัทไทย ให้สามารถเติบโตในโลกดิจิทัลได้อย่างแข็งแกร่ง ปลอดภัย และยั่งยืนโดยการสนับสนุนของคนไทยด้วยกันเอง

นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด(มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของบมจ.จีเอเบิล (GABLE) กล่าวว่า สำนักงาน ก.ล.ต. อนุมัติแบบคำขอจีเอเบิล อนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)จำนวนรวมไม่เกิน 175 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วหลัง IPO และมีแผนจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หมวดธุรกิจ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปัจจุบัน อยู่ระหว่างเดินสายโรดโชว์ให้ข้อมูลต่อนักลงทุนสถาบัน และเตรียมพบนักลงทุนทั่วไปเร็วๆ นี้  คาดเสนอขาย IPO ช่วงครึ่งปีแรก 2566

โดยเป้าหมายหลักของการระดมทุนผ่าน IPO ครั้งนี้ นอกจากจะเพื่อรองรับการเติบโตของกลุ่มบริษัทจีเอเบิล ผ่านการลงทุนในกิจการเกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และกระจายความเสี่ยงจากความผันผวนทางตลาดแล้ว ยังมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลของจีเอเบิลเอง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากเทคโนโลยีที่บริษัทเป็นเจ้าของ และเพิ่มโอกาสในการเติบโตและขยายธุรกิจไปในด้านต่างๆ อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งตอบโจทย์ความต้องการด้านเทคโนโลยีและโซลูชั่นดิจิทัลของลูกค้าได้อย่างครบมิติยิ่งขึ้น รวมไปถึงเพื่อรองรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน และชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงินของกลุ่มบริษัทฯ ด้วย

- Advertisement -