บล.เอเซีย พลัส:

BEM เร่ง Speed เต็มพิกัด

แนวโน้มกำไร 4Q66 น่าจะออกมาสูงกว่าที่ฝ่ายวิจัยเคยประเมินไว้ โดยคาดกำไรจะสูงถึง 850 ล้านบาท หลัง BEM ปรับแผนซ่อมบำรุงทางด่วนเลื่อนมาทำในปี 2567 อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการกำไรปี 2567 ไว้เท่าเดิม เพราะคาดหวังจำนวนผู้ใช้ทางด่วนและรถไฟฟ้าใต้ดินที่เพิ่มขึ้นจะเข้ามาชดเชยค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้

ทิศทางธุรกิจระยะยาวของ BEM สดใส เดินหน้าทำกำไร New High ต่อเนื่อง จากฐานธุรกิจเดิมที่เติบโตขึ้นตามจำนวนผู้ใช้บริการ และโอกาสคว้าสัญญาใหม่ทั้งการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม สายสีม่วงใต้ และทางด่วนชั้นที่ 2 ที่จะมีความชัดเจนในปีนี้ ให้น้ำหนักลงทุน Outperform ประเมินราคาเหมาะสมวิธี DCF อยู่ที่ 11.00 บาท

คาด 4Q66 กำไรสุทธิ 850 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41%YoY

ฝ่ายวิจัยคาดผลประกอบการงวด 4Q66 ของ BEM จะทำกำไรได้ 850 ล้านบาท (-12%QoQ,+41%YoY) สูงกว่าที่เคยประเมินไว้ในบทวิเคราะห์ฉบับก่อนหน้าในวันที่ 2 ม.ค 67 ที่คาดว่า BEM น่าจะทำกำไรได้ในช่วง 700-750 ล้านบาท สาเหตุที่กำไรเพิ่มขึ้น เกิดจากงานซ่อมบำรุงทางด่วนที่แผนเดิมต้องทำใน 4Q66 บางส่วนถูกเลื่อนมาทำในปี 2567 แทน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายธุรกิจทางพิเศษในงวด 4Q66 ลดลงต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่รายได้จากธุรกิจหลักทั้ง 3 ส่วนได้แก่ ธุรกิจทางพิเศษ ธุรกิจระบบรางสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงและธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ มี
รายได้รวม 4,193 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7%YoY การเติบโตของรายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจระบบรางที่มีรายได้เพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน โดยงวด 4Q66 รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มีผู้โดยสารเฉลี่ย 486,701 คน/วัน เพิ่มขึ้น 17%YoY ด้านอัตรากำไร คาด gross margin เฉลี่ยทุกธุรกิจ ไตรมาสนี้ อยู่ที่ 45.0% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากค่าใช้จ่ายบางส่วนเป็น Fix Cost ไม่ได้เพิ่มรายได้ ทำให้เกิดความประหยัดต่อขนาด ส่วน SG&A ปรับเพิ่มขึ้นตามรายได้และผลประโยชน์พนักงานที่คาดว่าจะมีบันทึกเพิ่มขึ้นตามประกอบการ ภายใต้สมมุติฐานข้างต้น ทำให้งวด 4Q66 BEM จะมีกำไรเติบโตสูงถึง 41%YoY อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบผลประกอบการงวด 3Q66 ที่ BEM มีกำไรสุทธิ 970 ล้านบาท จะเห็นกำไรชะลอตัวลง 12%QoQ เนื่องจาก 3Q66 BEM ได้รับเงินปันผลจาก TTW เข้ามาจำนวน 221 ล้านบาท

ผลประกอบการปี 2567 เติบโตได้ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการ

แม้ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงทางด่วนบางส่วนที่ควรถูกบันทึกในปี 2566 จะถูกเลื่อนมารับรู้ในปี 2567 ราว 100-200 ล้านบาท แต่ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการกำไรปี 2567 ไว้เท่าเดิมที่ 3,922 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13%YoY ภายใต้สมมุติฐานต้นทุนธุรกิจทางพิเศษ และต้นทุนธุรกิจระบบรางที่ฝ่ายวิจัยได้ประเมินไว้อย่างอนุรักษ์นิยมว่าจะเติบโตขึ้น 17%YoY ขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการทางด่วนคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.7%YoY อยู่ที่ 1.158 ล้านเที่ยว/วัน ส่วนจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเฉลี่ย คาดไว้ 4.58 แสนคน/วัน เพิ่มขึ้น 17.8%YoY มีปัจจัยสนับสนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น โดยรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินได้รับอานิสงค์จากการเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ตั้งแต่ 3 ก.ค 66 ซึ่งมีสถานีปลายทางลาดพร้าวเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง เหลือ 20 บาท ตลอดสาย จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและส่งต่อผู้โดยสารมายังรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่จุดเชื่อมต่อกันที่สถานีเตาปูน นอกจากนี้การพัฒนาโครงการโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่อย่าง One Bangkok ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพ จะเปิดเฟสแรกในปี 2567 และโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ที่จะเปิดดำเนินงานในปี 2568 จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้กับสถานีลุมพินีและสถานีสีลมอย่างมีนัยสำคัญ

พื้นฐานแข็งแกร่งไม่เปลี่ยนแปลง ให้น้ำหนัก Outperform

ปัจจัยพื้นฐานของ BEM ที่แข็งแกร่ง เดินหน้าสร้างผลประกอบการสูงสุดต่อเนื่องในช่วงหลายปีข้างหน้า สนับสนุนจากจำนวนผู้ใช้บริการทางด่วนและรถไฟฟ้าใต้ดินที่เพิ่มขึ้น พร้อมต่อยอดการเติบโตจากหลากหลายโครงการที่ยังไม่ได้รวมไว้ในประมาณการ อาทิ โครงการทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) และสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ที่คาดจะมีความชัดเจนในปี 2567 ฝ่ายวิจัยประเมินราคาเหมาะสมด้วยวิธี DCF ได้ที่ 11.00 บาท มี Upside สูงถึง 49% ให้น้ำหนักการลงทุน Outperform (รวมมูลค่าเพิ่มจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จำนวน 2.00 บาท/หุ้น เข้าไปแล้ว)

การดำเนินการด้าน ESG ของ BEM

มิติด้านสิ่งแวดล้อม : BEM ให้ความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยดำเนินการตามนโยบายสิ่งแวดล้อมและนโยบายการอนุรักษ์นิยม ทั้งนี้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยมีแนวทางปฎิบัติ อาทิ การปลูกต้นไม้รอบอาคารเพื่อลดอุณหภูมิของแสงสว่าง การใช้พลังงานอันเกิดจากธรรมชาติอย่างประหยัด และการการลดมลพิษในอากาศ รวมถึงมีการนำพลังงานที่เกิดแสงอาทิตย์มาใช้เพื่อการบำบัดน้ำในคลองธรรมชาติ เป็นต้น

มิติด้านสังคม : BEM มีความมุงมั่นในการดำเนินงานเชื่อมต่อกับระบบคมนาคมขนส่งแบบครบวงจร เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรที่หนาแน่นในเขตกทม. นอกเหนือจากนโยบายด้านคมนาคมแล้ว BEM ยังให้ความสำคัญกับด้านการศึกษาโดยการมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์

มิติด้านธรรมาภิบาล : BEM พร้อมพัฒนาศักยภาพของพนักงานด้วยการปรับปรุง TRAINING PROGRAM เพื่อฝึกอบรมพนักงานทุกระดับ ทำให้มั่นใจได้ว่าพนักงานมีความรู้พื้นฐานและทักษะในการปฎิบัติงาน พร้อมสร้างองค์กรสู่
ความยั่งยืนโดยริเริ่มโครงการจัดการความรู้ (KNOWLEDGE MANAGEMENT) และเปิดโอกาสหพนักงานทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้เพื่อการทำงานต่อไป

 

 

- Advertisement -