บล.เอเซีย พลัส

CK กำไรบริษัทลูกเกื้อหนุน

คาด 4Q66 กำไรสุทธิ 163 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45%YoY รายได้หลักมาจากงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลวงพระบาง รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ รถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงของ ขณะที่ gross margin เฉลี่ยลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย และมีค่าใช้จ่ายขายและบริหารเพิ่มขึ้นจากการตั้งผลประโยชน์พนักงาน ปัจจัยหนุนไตรมาสนี้คือส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทลูกที่เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะ BEM ที่มีกำไรเติบโตตามจำนวนผู้ใช้บริการ

ฝ่ายวิจัยเชื่อว่า CK จะเดินหน้าสร้างกำไรโดดเด่นในช่วงหลายปีข้างหน้า จาก Backlog ที่มีกว่า 1.3 แสนล้านบาท พร้อมโอกาสรับงานเพิ่มจากโครงการลงทุนของบริษัทลูก ให้น้ำหนักลงทุน Outperform ประเมินราคาเหมาะสม 28.00 บาท

คาด 4Q66 กำไรสุทธิ 163 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45%YoY

ฝ่ายวิจัยคาดการณ์ผลประกอบการงวด 4Q66 จะมีกำไรสุทธิ 163 ล้านบาท (-75%QoQ,+45%YoY) ผลประกอบการเติบโตโดดเด่นจากปีก่อน สนับสนุนจากรายได้ก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญกว่า 138%YoY อยู่ที่ 9,350 ล้านบาท หลักๆมาจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลวงพระบาง ใน สปป.ลาว บวกกับโครงการใหญ่อื่นๆใน Backlog อาทิ งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ รถไฟทางคู่เส้นเด่นชัย-เชียงของ และคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร ขณะที่อัตรา Gross margin เฉลี่ยไตรมาสนี้ คาดจะทำได้ 7.1% ต่ำกว่าเป้าหมายระยะยาวที่ CK ตั้งไว้
ที่ 8.0% เล็กน้อย เนื่องจากการทำงานโครงการใหญ่มักให้อัตรากำไรที่ต่ำกว่างานขนาดเล็ก แต่ชดเชยได้จากมูลค่างานที่สูงขึ้น สำหรับส่วนแบ่งกำไรตามส่วนได้เสีย คาดจะเพิ่มขึ้นโดดเด่นไม่แพ้กัน แม้ว่าจะต้องรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากบริษัทหลวง-พระบางพาวเวอร์มากกว่าปีก่อนตามความคืบหน้าของงานก่อสร้างก็ตาม แต่ชดเชยได้จากส่วนแบ่งกำไรจาก BEM ที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ใช้บริการทางด่วนและรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยคาดส่วนแบ่งกำไรตามส่วนได้เสียไตรมาสนี้อยู่ที่ 335 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39%YoY สำหรับปัจจัยที่เป็นฉุดผลประกอบการมาจากค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้น จากการตั้งประมาณการผลประโยชน์พนักงานเพิ่มเติม และค่าที่ปรึกษาในการปรับปรุงองค์กรให้มีความยั่งยืน รวมไปถึงภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการออกหุ้นกู้จำนวน 9,000 ล้านบาท ในเดือน พ.ค 66

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับผลประกอบการงวด 3Q66 จะเห็นกำไรอ่อนตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจาก 4Q66 เป็นไตรมาสที่ CK ไม่ได้รับเงินปันผลจาก TTW ที่โดยปกติจะจ่ายทุกไตรมาส 2 และ 3 รวมไปถึงส่วนแบ่งกำไรจาก CKP ที่ลดลงตามฤดูกาล โดย CKP จะสร้างกำไรสูงสุดในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก ทำให้โรงไฟฟ้าไซยะบุรีและโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ผลิตไฟฟ้าได้สูงสุดของปี

Outlook เด่น ทั้งธุรกิจก่อสร้างและส่วนแบ่งกำไรบริษัทลูก

ฝ่ายวิจัยเชื่อว่า CK จะสร้างผลประกอบการที่โดดเด่นต่อเนื่องในปี 2567 ทั้งในส่วนธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ปัจจุบันมี Backlog คงเหลือราว 1.3 แสนล้านบาท คาดว่าจะมีการรับรู้รายได้ในปี 2567 ไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท โครงการหลักมาจากงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลวงพระบาง ที่น่าจะมีการรับรู้รายได้สูงถึง 1.6-2.0 หมื่นล้านบาท/ปี ในช่วง 3 ปีข้างหน้า เนื่องจาก CK ได้นำประสบการณ์จากงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าไซยะบุรี มาปรับใช้กับงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลวงพระบาง จึงสามารถเร่งงานก่อสร้างในช่วงแรกได้เร็วขึ้น โดยจะมีการทำงานคู่ขนานหลายส่วน รวมถึงมีการทำงานล่วงหน้าในส่วนที่ทำได้ไปก่อน ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้และรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงของ จะเข้าสู่ขั้นตอนของงานเจาะอุโมงค์ในปีนี้ ทำให้มีสัดส่วนความคืบหน้าของงานมากกว่าปีที่ผ่านมา นอกจากนี้บริษัทลูก ทั้ง 3 แห่งของ CK ต่างก็มีทิศทางธุรกิจที่สดใส โดยเฉพาะ BEM ที่จะเดินหน้าทำสถิติกำไรสูงสุดใหม่ต่อเนื่องในช่วงหลายปีข้างหน้า ตามจำนวนผู้ใช้บริการทางด่วนและรถไฟฟ้าใต้ดินที่เพิ่มขึ้น สำหรับ CKP เริ่มมีมุมมองเชิงบวกต่อผลประกอบการมากขึ้น จากปรากฏการณ์เอลนีโญที่น่าจะจบเร็วกว่าที่เคยคาดไว้ หลังนักวิทยาศาสตร์ตรวจพบอุณหภูมิผิวหน้าน้ำทะเลเพิ่มขึ้นกว่าปกติไม่มาก ทำให้ภาวะแห้งแล้งกว่าปกติของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น่าจะผ่านพ้นไปในเดือน พ.ค 67 ส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงและปริมาณการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 และโรงไฟฟ้าไซยะบุรี ส่วน TTW หลังบริษัทประปาปทุมธานี ได้ต่อสัญญากับการประปาส่วนภูมิภาคต่อไปอีก 10 ปี ก็น่าจะสร้างผลตอบแทนในรูปเงินปันผลให้ CK ได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับการรับงานใหม่ในปีนี้ งานประมูลภาครัฐที่มีความชัดเจนมากที่สุดคืองานก่อสร้างทางพิเศษ จตุโชติ-ลำลูกกา ระยะทาง 16.2 กม. วงเงินประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันร่างขอบเขตของงาน (TOR) ผ่านการทำประชาพิจารณ์รอบแรกแล้ว คาดว่าจะเปิดขายซองประกวดราคาได้ภายในเดือน มี.ค. 67 และโครงการรถไฟทางคู่ขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ที่ ครม. เห็นชอบโครงการตั้งแต่ ต.ค 66 นอกจากนี้ CK ยังมีโอกาสคว้างานจาก BEM ได้แก่ งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกพร้อมงานติดตั้งระบบและจัดหาขบวนรถ มูลค่า 1.09 แสนล้านบาท ที่ BEM เป็นผู้เสนอผลตอบแทนสูงสุดในการประมูลแก่ภาครัฐ รวมถึงโครงการทางด่วนชั้นที่ 2 มูลค่า 35,000 ล้านบาท และงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (M&E) รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ มูลค่า 27,000 ล้านบาท ที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2567 ซึ่งจะทำให้ CK มี Backlog เพิ่มขึ้นเกิน 3 แสนล้านบาท เพียงพอรองรับรายได้ระดับ 3.5-4 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 4-5 ปี

ประเมินราคาเหมาะสม 28.00 บาท แนะนำ Outperform

ความแตกต่างที่ทำให้ CK เหนือกว่าบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายอื่นในตลาด คือ CK เข้าไปร่วมลงทุนในธุรกิจสัมปทานที่มีรายได้และกระแสเงินสดสม่ำเสมอ ส่งผลให้ผลประกอบการของ CK มีความผันผวนต่ำกว่าบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายอื่น นอกจากนี้บริษัทลูกที่ CK เข้าไปลงทุนยังเป็นแหล่งงานที่สำคัญป้อนให้กับ CK นอกเหนือจากการเข้าประมูลงานภาครัฐและเอกชนตามปกติ ฝ่ายวิจัยคาดการณ์ว่าปี 2567 CK จะทำกำไรสุทธิเติบโต 28%YoY อยู่ที่ 1,929 ล้านบาท สนับสนุนจากรายได้ธุรกิจก่อสร้างที่เติบโตและส่วนแบ่งกำไรจาก BEM และ CKP ที่เพิ่มขึ้น ฝ่ายวิจัยให้น้ำหนักการลงทุน Outperform ประเมินราคาเหมาะสมภายใต้วิธี Sum of the Part ได้ที่ 28.00 บาท เทียบเท่า Implied PER 24.6 เท่า ลดลงจากราคาเหมาะสมเดิมที่ฝ่ายวิจัยเคยประเมินไว้ที่ 29.00 บาท เล็กน้อย เนื่องจากฝ่ายวิจัยมีการปรับลด Fair Value ของ BEM ลงจาก 11.50 บาท เหลือ 11.00 บาท ภายใต้สมมุติฐานที่เข้มงวดมากขึ้นต่อธุรกิจทางพิเศษ ที่จำนวนผู้ใช้บริการทางด่วนอาจฟื้นตัวกลับสู่ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดช้ากว่าที่เคยประเมินไว้

การดำเนินการด้าน ESG ของ CK

กลุ่ม ช.การช่าง ได้มีการพัฒนาและยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนด้วยการผสมผสานแนวคิดทั้ง 3 มิติ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ของกระบวนการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนการขยายผลสร้างเครือข่ายไปยังห่วงโซ่อุปทานรวมถึงการเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ ยังมีการทบทวนความเหมาะสมของนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยมีการกำหนดและจัดลำดับความสำคัญของประเด็นความยั่งยืนดังนี้

มิติด้านเศรษฐกิจ : การเข้าร่วมประมูลโครงการ จะเลือกโครงการก่อสร้างที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ โดยที่มีผลตอบแทนทางธุรกิจอย่างเป็นธรรม โดย CK ได้เข้าร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) และได้ผนวกประเด็นการทุจริตคอร์รัปชั่นเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กร

มิติด้านสิ่งแวดล้อม : การดำเนินธุรกิจก่อสร้างขนาดใหญ่ จะมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมคุณภาพอากาศ การควบคุมคุณภาพเสียง การใช้พลังงาน และการบำบัดน้ำทิ้งและกำจัดของเสีย โดย CK ได้ปฎิบัติตามบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอย่างเคร่งครัด และได้ริเริ่มการการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและเทคนิคที่ทันสมัยได้มาตรฐาน ด้วยการนำเทคโลยีการออกแบบและก่อสร้างด้วยระบบ BIM (BUILDING INFORMATION MODELING) เข้ามาใช้ในการวางแผนการก่อสร้างให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้งานก่อสร้างมีความรวดเร็ว สามารถควบคุมคุณภาพงานก่อสร้าง และควบคุมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังช่วยทำให้เกิดการบริหารต้นทุนได้ดียิ่งขึ้น

มิติด้านความปลอดภัย : การดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จะต้องมีการคำนึงถึงความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของพนักงานและผู้เกี่ยวข้อง เพราะหากเกิดอุบัติเหตุจากการก่อสร้างจะส่งผลร้ายแรงต่อชื่อเสียงของบริษัท CK จึงให้ความสำคัญและถือเป็นนโยบายที่เป็นมาตรฐานสูงสุด และบรรจุรายละเอียดไว้ในแผนการจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ที่พนักงานและผู้รับเหมาช่วง ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยกำหนดให้มีการประชุมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและยังเป็นการควบคุมการสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุในการทำงาน

มิติด้านสังคม : CK มีการประเมินและวางแผนเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้ได้รับการยอมรับและไว้วางใจจากชุมชนที่ตั้งอยู่โดยรอบพื้นที่โครงการก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ช่วยพัฒนาชุมชนและสังคม อาทิ การสมทบทุนก่อสร้างหอผู้ป่วยโรงพยาบาลสนามเร่งด่วนสำหรับผู้ป่วยโควิด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

- Advertisement -