รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน

ยังขาดปัจจัยหนุน SET Index ปรับฐานต่อ
Top Pick เลือก AEONTS, MCS, SAPPE
ปัจจัยแวดล้อมทางพื้นฐานยังไม่เห็นแรงกระตุ้นใหม่ๆ โดยในต่างประเทศมีเพียงราคาน้ำมันที่ยังยืนที่ระดับสูงได้ หลัง Opec เลื่อนการประชุมออกไปไม่มีกำหนด ส่วนในประเทศวานนี้มีประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.ออกมา พบว่า Core Inflation ยังต่ำเพียง 0.52% ภาพดังกล่าวน่าจะทำให้เห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศทรงตัวระดับ 0.5% ต่อเนื่อง สำหรับสถานการณ์ Covid-19 ในประเทศยังถือเป็นความเสี่ยง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ยังสูงกว่า 6 พันราย/วัน ขณะที่สัดส่วนของสายพันธ์Delta ในพื้นที่ กทม. เพิ่มขึ้นเป็น 52% แต่การฉีด Vaccine ยังช้ากว่าความคาดหมาย

SET Index ยังอยู่ในช่วงปรับฐานต่อเนื่อง พอร์ตจำลองวันนี้ให้ปรับโดยขาย BLA ออกหลังราคาปรับลงมาที่จุด Cut Loss แล้วให้ย้ายเงินเข้าลงทุนใน AEONTS ด้วยน้ำหนักเท่ากัน (10% ของพอร์ต) หุ้น Top Pick เลือก AEONTS, MCS แล SAPPE

OPEC+ เลื่อนประชุมไม่มีกำหนด หนุนน้ำมันราคาน้ำมัน New high ในรอบ 3 ปี ดีต่อ PTTEP, PTT
  ราคาน้ำมันดิบโลกเดินหน้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนเแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ Brent แตะระดับ 77.16 เหรียญ/บาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น 2.7% ปัจจัยบวกมาจากทั้งด้านการผลิต (Supply) และด้านความต้องการใช้น้ำมัน (Demand)

• Supply: ผลการประชุม OPEC+ วานนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ยังไม่สามารถตกลงเรื่องการปรับเพิ่มกำลังการผลิตได้ เพราะปัจจุบัน OPEC+ กำหนดกำลังการผลิตน้ำมันของ (Baseline Capacity) ของ UAE ไว้ที่ 3.16 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งต่ำกว่ากำลังการผลิต ณ ปัจจุบันของ UAE ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.84 ล้านบาร์เรล/วัน ส่งผลให้ UAE ผลิตน้ำมันได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น UAE จึงปฏิเสธข้อเสนอที่ให้ขยายเวลาลดกำลังการผลิตที่เหลือไปจนถึงช่วง เม.ย. 2565 หากไม่มีการปรับปรุง Baseline Capacity ของ UAE ให้สูงขึ้น โดยสรุป การประชุม OPEC+ ที่ยังไม่บรรลุข้อตกลง ส่งผลให้การประชุมถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด หนุนให้ Supply น้ำมันน่าจะยังไม่กลับมา

• Demand: แรงหนุนจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตของหลายประเทศ เช่น สหรัฐ และยุโรป เดินหน้าทำ New High และการจ้างงานในสหรัฐที่ดีขึ้นต่อเนื่อง หลังการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm payrolls) เดือน มิ.ย. 2564 เพิ่มขึ้น 8.5 แสนราย มากกว่าตลาดคาด 7 แสนราย

ราคาน้ำมันดิบโลกที่ทรงตัวในระดับสูง ประเมินเป็น Sentiment บวกต่อหุ้นในกลุ่มน้ำมัน โดยแนะนำหาจังหวะทยอยสะสมลงทุน PTTEP (FV@B128) และ PTT (FV@B48.5) ซึ่งคาดอาจมีกระแสเก็งกำไร เพราะราคาหุ้นทั้งสองยัง Laggard ราคาน้ำมันดิบอยู่มาก (ราคาน้ำมันดิบ Brent +49%ytd ขณะที่ PTTEP +21.1%ytd, PTT -8.2%ytd)

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ โลกทรงตัวสูง หนุนจากน้ำมัน แต่ไทย เงินเฟ้อยังต่ำ คาดดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวต่ำไปถึงกลางปี 2565

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบคาดจะทรงตัวสูง ดังกล่าว คาดจะหนุนให้อัตราเงินเฟ้อโลกในช่วงที่เหลือของปีนี้ทรงตัวสูงต่อ โดยในช่วง 1H64 ภาพอัตราเงินเฟ้อหลายประเทศเพิ่มขึ้นจนใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย เช่น สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อล่าสุดขยายตัว 3.6%yoy เทียบกับเป้าหมายที่ 2%, ยุโรป อัตราเงินเฟ้อล่าสุดขยายตัว 1.3%yoy เทียบกับเป้าหมายที่ 2%

ส่วนไทย อัตราเงินเฟ้อ ล่าสุดเดือน มิ.ย. 2564 เมื่อวานกระทรวงพาณิชฯย์แถงออกมาขยายตัว 1.25%yoy ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนที่ 2.44% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ยังทรงตัวต่ำที่ 0.52% ซึ่งเมื่อรวมกับการระบาดของ COVID-19 ที่เศรษฐกิจไทยยังเผชิญในปัจจุบัน เป็นเหตุผลที่ ASPS ยังคงมุมมองว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อไปจนถึง 1H65 เป็นอย่างน้อย ซึ่งจะช่วยให้สภาพคล่องทางการเงินอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง แสดงได้จากปริมาณเงินฝากออมทรัพย์ และประจำของไทยยังเดินหน้าทำจุดสูงสุด (All Time High) อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีจำนวนถึง 16.03 ล้านล้านบาท เป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่ค่อยประคองตลาดหุ้นไทยในช่วงเวลาที่ขาดแรงหนุนของ Fund Flow ต่างชาติ

COVID-19 สายพันธุ์เดลตา ระบาดหนักใน กทม.
สถานการณ์ COVID-19 ยังงน่ากังวล จากผู้ติดเชื้อรายใหม่ (New case) ล่าสุดเพิ่มขึ้น 6,116 ราย ยังสูงกว่าผู้รักษาหายรายใหม่ (Recovered case) ที่ 2,534 ราย กดดันให้จำนวนผู้ที่อยู่ระหว่างรักษา (Active case) เดินหน้าทำ New High ต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีอยู่ 63,520 ราย

ยิ่งไปกว่านั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยว่า ในภาพรวมทั้งประเทศพบ COVID-19 สายพันธ์อัลฟา (อังกฤษ) 65.1%, เดลตา (อินเดีย) 32.2% และเบตา (แอฟริกาใต้) 2.6% แต่หากพิจารณา เฉพาะพื้นที่กทม. พบว่ามีสายพันธุ์เดลตา 52%,อัลฟา 47.8% และเบตา 0.2% ซึ่งจะเห็นว่าในพื้นที่ กทม. สายพันธุ์เดลตาระบาดมากกว่าอัลฟาแล้ว สอดคล้องกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเร็ว ในช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่ความคืบหน้าวัคซีนยังค่อนช้า โดยล่าสุดมีผู้รับวัคซีนจำนวน 1.06 แสนราย แบ่งเป็นโดสแรก 8.35 หมื่นราย และโดสสอง 2.33 หมื่นราย

จากปัจจัยต่างๆข้างต้น ASPS มองว่าสถานการณ์และความคืบหน้าวัคซีนเป็นตัวแปรมีสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

โรงงานหมิงตี้ในพื้นที่กิ้งแก้ว สมุทรปราการระเบิด ประเมินผลกระทบ SET Index และบริษัทจดทะเบียนในตลาดจำกัด
หลังจากเมื่อวานนี้เกิดเหตุระเบิดที่ โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นโกดังเก็บสารเคมี 50 ตัน ทำให้มีการสั่งอพยพประชาชนและครัวเรือนออกจากพื้นที่ในบริเวณรัศมี 5-10 กิโลเมตร โดยสถานการณ์ เช้านี้ 7.30 เจ้าหน้าที่ควบคุมเพลิงได้แล้ว ยังคงฉีดน้ำ

ฝ่ายวิจัย ASPS ประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ต่อตลาดหุ้นไทย (SET Index) จำกัด ส่วนบริษัทจดทะเบียนในตลาด คาดกระทบแต่จำกัด เพราะสถานการณ์ควบคุมเริ่มคลี่คลาย และบริษัทจดทะเบียนที่ฝ่ายวิจัยทำการศึกษา ที่อยู่ในพื้นที่รัศมีหลักๆ คือ

CHG : มีโรงพยาบาล มีในเขตพื้นที่ดังกล่าว 2 แห่ง คือ CHG9 และ CHG1 โดยทั้ง 2 รพ. มีสัดส่วนเตียงรวม 165 เตียง คิดเป็น 22% ของสัดส่วนเตียงรวม เบื้องต้นประเมินผลกระทบยังจำกัด ทั้งนี้ ยังต้องติดตามระยะเวลาในการปิด กรณีเลวร้ายสุด Worst Case หากปิด 1 เดือน ASPS ประเมินกระทบรายได้ราว 2% ต่อเดือน

ขณะที่บริษัทอื่นๆ อาทิ กลุ่มเช่าซื้อ MTC, SAWAD TIDLOR สาขาในบริเวณที่เกิดเกตุไม่ถึง 1%ของทั้งหมด ประเมินผลกระทบจำกัด

Win-Win Deal …CPN ซื้อหุ้น SF 30.36% จาก MAJOR ราคา 12.00 บาท
CPN ประกาศซื้อหุ้น SF สัดส่วน 30.36% จาก MAJOR ราคาหุ้นละ 12.00 บาท คิดเป็นมูลค่า 7,765.9 พันล้านบาท คาดแล้วเสร็จภายใน 30 ส.ค. 2564 และหลังจากนั้นต้องทำ Tender Offer หุ้นส่วนที่เหลือของ SF จำนวน 1,484.762 ล้านหุ้น หรือ 69.64% ในราคาเดียวกันที่ 12.00 บาท ภายในวงเงิน 17,817 ล้านบาท (ยังไม่ระบุระยะเวลาในการทำ Tender Offer) สำหรับแหล่งเงินทุนในธุรกรรมครั้งนี้มาจากกระแสเงินสดภายในและเงินกู้ยืม

แม้การลงทุนครั้งนี้ที่ราคา 12.00 บาท สูงกว่าราคาปัจจุบันของ SF ที่ 11.60 บาท และราคา Book Value สิ้น 1Q64 ที่ 7 บาท (หรือคิดเป็น PBV 1.7 เท่า ยังต่ำ PBV ของ CPN ที่ 3.2 เท่า) รวมมูลค่าทั้งสิ้น 2.58 หมื่นล้านบาท (หาก Tender Offer 100%) เทียบเป็น 11.5% ของมูลค่าสินทรัพย์สิ้น 1Q64 ถือเป็นมูลค่าลงทุนที่สูง และทั้งหมดมาจากการแหล่งเงินกู้ แต่ CPN มีความพร้อมในการลงทุน พิจารณาจาก Net Gearing สิ้น 1Q64 ต่ำ 0.5 เท่า คาดแผนลงทุนครั้งนี้ไม่นำไปสู่การเพิ่มทุนและกระทบเงินปันผล

ขณะที่ความสนใจของ CPN ในการลงทุนครั้งนี้ เนื่องจากมองถึงศักยภาพในสินทรัพย์ของ SF ที่จะช่วยขยายพอร์ตโครงการศูนย์การค้าใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยให้น้ำหนักไปยัง Super Region Mall 2 แห่ง คือ เซ็นทรัล เวสต์เกต และ เมกะบางนา ซึ่งทั้ง 2 แห่งถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังต่อยอดการลงทุนร่วมกับอีเกีย ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกของโลก รวมถึงยังสามารถเติมเต็มพอร์ต Community Mall และที่ดินรอการพัฒนาในทำเลศักยภาพสูงทั้ง CBD ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด

ฝ่ายวิจัยยังไม่ได้รวมการดำเนินงานของ SF ไว้ในประมาณการ เพื่อรอความชัดเจนหลังการทำ Tender Offer และการประชุมนักวิเคราะห์เช้านี้ แต่อย่างไรก็ดีหากพิจารณาผลประกอบการของ SF (อิงงบการเงินตามวิธีราคาทุน จากหมายเหตุประกอบงบ) พบว่า SF มีรายได้ราว 1-1.5 พันล้านบาท/ปี และกำไรปกติ 400-600 ล้านบาท (ในส่วนนี้กว่า 80% มาจากส่วนแบ่งกำไร เมกะ บางนา เฉลี่ย 400-500 ล้านบาทต่อปี) เทียบเป็นสัดส่วนต่อรายได้และกำไรปกติของ CPN ราว 4% และ 5% ตามลำดับ ไม่ได้มีนัยฯ ต่อประมาณการ CPN ที่มีกำไรระดับ 1 หมื่นล้านบาท แต่เชื่อว่าการลงทุนครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับพอร์ตธุรกิจศูนย์การค้าของ CPN มากขึ้น คงแนะนำซื้อ CPN ที่ FV 58.00 บาท

MAJOR : หลังขายหุ้น SF ทั้งหมดจำนวน 647.158471 ล้านหุ้น จะได้รับเงิน 7,765.9 ล้านบาท และจะรับรู้กำไรหลังภาษี 2,824 ล้านบาท โดย MAJOR แบ่งเงินที่ได้รับ ออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ทยอยชำระหนี้เงินกู้ยืมตามสัญญาประมาณ 5,300 ล้านบาท 2.ใช้เป็นเงินทุนสำหรับแผนการขยายธุรกิจ 265 ล้านบาท และ 3.ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน 2,200 ล้านบาท แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า MAJOR ซึ่งไม่ได้มีการพูดถึงการจ่ายเงินปันผลพิเศษให้กับผู้ถือหุ้น โดยประโยชน์ที่ MAJOR ได้รับ นอกจากจะรับรู้กำไรพิเศษแบบ One Time ในงวด 3Q64 แล้ว การชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมบางส่วนจะทำให้ MAJOR มีดอกเบี้ยจ่ายลดลง 120-130 ล้านบาท/ปี และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจาก 1.3 เท่า เหลือเพียง 0.35 เท่า

อย่างไรก็ตาม MAJOR จะไม่ได้รับส่วนแบ่งกำไรจาก SF อีกต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาส่วนแบ่งกำไรจาก SF คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของกำไรสุทธิของ MAJOR ในแต่ละปี แต่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค 2563 MAJOR เริ่มนำมาตรฐานบัญชีฉบับที่ 40 (อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน) มาใช้ ทำให้ MAJOR สามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก SF ในส่วนของกำไรจากการตีมูลค่าสินทรัพย์เข้ามาด้วย (ก่อนปี 2563 MAJOR ไม่ได้รับรู้กำไรส่วนนี้ ) ทำให้ปัจจุบันส่วนแบ่งกำไรจาก SF มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 30-40% ของกำไรสุทธิทั้งหมดของ MAJOR

ดังนั้นการไม่ได้รับรู้กำไรส่วนนี้ในอนาคตจะส่งผลลบต่อการประเมินมูลค่าเหมาะสมของ MAJOR ภายใต้วิธี PER ค่อนข้างมีนัยสำคัญ แต่หากประเมินมูลค่าเหมาะสมด้วยวิธี DCF ที่คำนึงเฉพาะกระแสเงินสด ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าการขายหุ้น SF ออกไปในราคา 12 บาท อาจส่งผลบวกต่อ Valuation ของ MAJOR เนื่องจากมูลค่าหนี้สินสุทธิที่จะนำมาหักออกจากผลรวมของกระแสเงินสดทั้งหมดของกิจการ จะหักออกในจำนวนที่มากขึ้นเพราะได้รับเงินสดจำนวนมากในการขายหุ้น SF ฝ่ายวิจัยอยู่ระหว่างการทบทวนราคาเหมาะสมของ MAJOR ใหม่ เบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ในช่วง 25-27 บาทภายใต้วิธี DCF จากปัจจุบันที่ฝ่ายวิจัยประเมิน FV อยู่ที่ 24 บาท ( อิง Historical PER +1SD)

- Advertisement -