รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

ภาพรวมการลงทุนโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะ ระมัดระวัง
ความเสี่ยงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจชะลอจากการระบาดของสายพันธ์เดลต้า ทำให้ภาพรวมการลงทุนอยู่ในภาวะระมัดระวัง ตัวเลขการระบาดของผู้ติดเชื้อโควิดที่กลับมาเร่งตัวขึ้นเนื่องจากการระบาดของสายพันธ์เดลต้า ทำให้เกิดความกังวลเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวมาตลอดจะเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวหรือผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของผลประกอบการและความต้องการใช้สินค้าโภคภัณฑ์ สอดคล้องกับมุมมองของเราตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่าประเด็นความตึงตัวของ Valuation เป็นจุดที่นักลงทุนจะกลับมาให้ความสนใจ

ประกอบกับการเข้าสู่ช่วงปรับพอร์ตของนักลงทุนก่อนการเริ่มลด QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจทำให้เกิดแรงกดดันจากเงินทุนเคลื่อนย้าย นักลงทุนควรติดตามการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่จะกระทบกับการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์เสี่ยงในช่วง 1-2 เดือนนี้

หุ้นในกลุ่มเครื่องมือแพทย์มีโอกาสถูกหยิบมาเก็งกำไร สถานการณ์ระบาดในภาพรวมของโลกแม้จะยืดเยื้อ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วหลังมีการค้นพบวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ทำให้การระบาดที่เกิดหนักในรอบนี้เกิดในกลุ่มประเทศที่ยังได้รับวัคซีนในระดับต่ำ (หรือกลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนในประเทศที่มีการฉีดวัคซีนในสัดส่วนที่สูง)

   ขณะที่การระบาดในกลุ่มผู้ได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง เช่นที่เกิดในสหรัฐ และอังกฤษ มีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำลงอย่างมากแม้จะมีการผ่อนคลายข้อกำหนดวนการควบคุมการระบาด ทำให้หุ้นถุงมือยางแม้น่าจะมีผลประกอบการสูง แต่จะไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากนัก

ขณะที่สถานการณ์ระบาดในประเทศ และการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยวิกฤติ รวมถึงการปลดล็อคให้ใช้ชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน (Rapid test kit) จะส่งผลบวกต่อจิตวิทยาการเก็งกำไรหุ้นในกลุ่มเครื่องมือทางการแพทย์ อาทิ SMD (PER 31.63x), TM (PER 44.21x), WINMED (PER 52.47x), BIZ (PER 35.35x) จากความต้องการเครื่องมือรักษาในภาวะวิกฤติและวัสดุสิ้นเปลือง อย่างไรก็ตามมีความเสี่ยงที่ผลประกอบการหุ้นบางตัวที่ขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอคำสั่งซื้อได้เช่นกัน การเก็งกำไรจึงควรติดตามข้อมูล และกำหนดกลยุทธ์ในการตัดขาดทุน

ยังคงมุมมองระมัดระวังและความเสี่ยงของไตรมาส 3/64 ที่ 1,450-1,520 จุด ตั้งแต่ช่วงปลาย มิ.ย. เราย้ำเตือนถึงความเสี่ยงทางลงของหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3/64 จากปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญได้แก่

1) ความตึงตัวของ Valuation
2) ความเสี่ยงของการปรับประมาณการลง จากเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดในประเทศ
3) ความเสี่ยงของเงินทุนเคลื่อนย้ายเนื่องจากการเตรียมลด QE ของเฟด
4) ความเสี่ยงของน้ำมันและโภคภัณฑ์ที่มีโอกาสปรับลดลงในระยะสั้น

เรามองหุ้นปันผลและหุ้นปลอดภัยที่ยังมีการถือครองน้อย (under-owned) คาดเป็นแหล่งพักเงินที่ดีและมีความเสี่ยงต่ำ หุ้นปันผลและกองรีทส์ ADVANC, AIMIRT, WHART, FTREIT, EASTW, WHAUP, TTW ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อน เป็นบวกต่อกลุ่มอาหารและเกษตร TVO, TU, CPF // เก็งกำไร กลุ่มเดินเรือ PSL, TTA, RCL

ภาพรวมกลยุทธ์: เน้นเพียงเลือกเก็งกำไรรายตัวระหว่างรอจุดซื้อที่ดี ภาพรวมยังเน้นบริหารความเสี่ยง และปรับสมดุลให้ในพอร์ตมีเงินสดมากพอหากโอกาสซื้อเกิดขึ้น // หุ้นแนะนำ: EASTW*, TWPC*, PSL*

แนวรับ: 1,510-1,535/ แนวต้าน : 1,565 จุด สัดส่วน : เงินสด 60% : พอร์ตหุ้น 40%

ประเด็นการลงทุน
เปลี่ยนใจชอบ PSL มากกว่า TTA – เรามองกลุ่มเดินเรือมีแนวโน้มรายงานกำไนไตรมาส 2/64 อยู่ในทิศทางเติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเราเปลี่ยนใจมากชอบ PSL มากกว่า TTA เนื่องจาก 1) คาดงบสะท้อนการฟื้นตัวของค่าระวางที่ดีกว่า 2) คาด TTA มีผลการดำเนินงานในเรือปล่อยเช่าไม่ดีเป็นตัวถ่วง 3) ธุรกิจอื่นๆของ TTA ฟื้นตัวช้ากว่าคาด //ดังนั้นเราแนะนำผู้ที่เข้าเก็งกำไร TTA ตามคำแนะนำในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เปลี่ยนเป็นหุ้น PSL แทน

หุ้นเพิ่มทุน XPG เข้าซื้อขายวันนี้ – หุ้นเพิ่มทุนใหม่ 1,035 ล้านหุ้น จากการขาย PP ที่ 4.10 บาท เข้าซื้อขายวันนี้ (ทำให้หุ้นจดทะเบียนรวมเพิ่มเป็น 2,865 ล้านหุ้น) คาดไม่กระทบต่อราคาตลาดอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่จะกระทบต่อราคาหุ้นจะเป็น การ XR วันที่ 27 ก.ค. (1 หุ้นเดิม: 2 หุ้นเพิ่มทุน ที่ราคา 0.50 บาท) ซึ่งจะทำให้เกิดการปรับสิทธิ์ XPG-W4 ตามมา ซึ่งหากอิงราคาหุ้นแม่ XPG ที่ 8 บาท

ราคาใช้สิทธิ์ใหม่จะปรับเป็น 0.816 บาท (จาก 2.177 บาท) ขณะที่สิทธิ์เพิ่มทุนจะปรับเป็น 1: 6.61 หุ้น (จากเดิม 1:2.48) //ดังนั้นต้นทุนต่อหุ้นในการใช้สิทธิ์แปลง XPG-W4 จะอยู่ที่ 2.90 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับต้นทุนของหุ้นเพิ่มทุนที่ 3 บาท ดังนั้นเรามอง opportunity ในการเก็งกำไรส่วนต่างแม่-ลูก ในระยะสั้นอาจไม่จูงใจ หรือรับรู้ไปในราคาแล้ว จึงควรระวังแรงทำกำไรใบสำคัญแสดงสิทธิ์ ที่นับจากต้นปีปรับขึ้นถึงกว่า 10,000% ขณะที่หุ้นแม่ปรับขึ้นราว 650%

PTTEP. ลุ้น “เชฟรอน” รับข้อเสนอกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ผ่อนปรนภาระค่าใช้จ่ายรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ 142 แท่นตามสัดส่วนการใช้งานจริง ส่วนที่เหลือเป็นภาระของรายใหม่ คาดได้ข้อยุติในหลักการเดือน ส.ค. นี้

ประเด็นติดตาม: – 20 ก.ค.: US Building Permits เดือน มิ.ย. / 22 ก.ค.: ECB Meeting, US Initial Jobless Claims / 23 ก.ค.: EU Manufacturing PMI เดือน ก.ค., US Manufacturing PMI เดือน ก.ค.

(* หมายถึง หุ้นทางกลยุทธ์ ซึ่งอาจมีคำแนะนำต่างกับพื้นฐาน หรือที่ไม่ ได้อยู่ในการวิเคราะห์ของ UOBKH ซึ่งนักลงทุนควรพิจารณาตั้งจุดตัดขาดทุน 3-5% ของราคาที่เข้าซื้อ)

- Advertisement -