บล.กรุงศรีฯ:

BANKING SECTOR – ความเสี่ยงที่ปัญหาจะลุกลามยังจำกัด (ณ ตอนนี้) (POSITIVE)

เราประเมินว่าการปิดตัวลงของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ SVB จะส่งผลกระทบในวงจำกัด เนื่องจากสินทรัพย์มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับระบบธนาคารทั้งหมดและขนาดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เรายังไม่ตัดความเสี่ยง contagion risk ออกถ้าหากมีธนาคารอื่น ๆ ยังคงเดินหน้าเทขายสินทรัพย์ในพอร์ตเพื่อเสริมสภาพคล่อง เราแนะนำให้นักลงทุนติดตาม LIBOR หรือ SOFR 3M กับ O/N spread ซึ่งจะเป็นสัญญาณเตือนของวิกฤติสภาพคล่อง สำหรับภาวะตลาดของกลุ่มธนาคารไทยจะได้รับผลกระทบทางลบในระยะสั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และการดีดฟื้นตัวกลับจะต้องอาศัยงบ 1Q23 ที่ดีมารองรับ

ภูมิทัศน์ของกลุ่มธนาคารดูท้าทายมากขึ้น

ภูมิทัศน์ทางด้านมหภาคดูท้าทายมากขึ้นสำหรับกลุ่มธนาคาร ทั้งในด้านของปัจจัยพื้นฐานและสภาวะตลาดที่เป็นลบสะท้อนความกลัวและกังวล ความเสี่ยงโดยรวมค่อนไปทาง downside เนื่องจากกิจกรรมภาคการผลิต รวมถึงการค้าโลกที่อ่อนแอเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยวและบริการอาจจะยังไม่แรงพอที่จะชดเชยผลกระทบด้านลบจากภาคส่งออกได้  นอกจากนี้รายงานสินเชื่อธนาคารในเดือนมกราคม 2023 ชี้อุปสงค์อ่อนแอ โดยพอร์ตสินเชื่อของธนาคารขนาดใหญ่ลดลง 1.1% ซ้ำร้าย SVB ซึ่งเป็นหนึ่งในธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐที่เน้นปล่อยกู้ให้กับกิจการ startup ในด้านเทคโนโลยีถูกทางการสหรัฐประกาศให้ปิดกิจการภายในเพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้นหลังจากที่เกิดกระแส panic เกี่ยวกับสภาพคล่อง

 

SVB ล้มอาจจะสร้างกระแสความกลัว และ การกักตุนสภาพคล่อง

SVB ได้รายงานว่าธนาคารประสบปัญหากิจกรรมการลงทุนและ venture capital ต่างๆที่ลดลงหลังจบสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งเกิดจากการที่อุปสงค์ในกลุ่มเทคโนโลยีชะลอตัวลง กอปรกับการประเมินมูลค่าของกิจการ startup ในกลุ่มเทคโนโลยีไม่จูงใจเท่าสมัยก่อนท่ามกลางสภาวะที่ดอกเบี้ยสูงและอยู่ในขาขึ้น ทั้งนี้ สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายหนักขึ้นเมื่อ cash burn ยังคงเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่อง ขณะที่กระแสเงินไหลเข้าและเงินฝากกลับลดลงอย่างมาก ถึงแม้ SVB จะรายงานว่าเป็นหนึ่งในธนาคารที่มี LDR ต่ำที่สุดที่ 43% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรมที่ 75% และสินทรัพย์ส่วนใหญ่ในงบดุลเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง ซึ่งได้แก่ เงินสด และ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (UST) แต่ SVB ไม่สามารถเพิ่มสภาพคล่องได้มากเท่าที่หวังเอาไว้เพราะสถานะการถือครองตราสารหนี้ประสบผลขาดทุนอย่างหนัก หลังจากที่ Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรง เราประเมินในเบื้องต้นว่าผลกระทบจากการปิดกิจการ SVB น่าจะกระทบอยู่ในวงจำกัดเฉพาะธนาคารขนาดเล็กและบริษัท startup แต่เรายังไม่ตัดความเป็นไปได้ของความเสี่ยง contagion risk ถ้าหากมีธนาคารอื่น ๆเพิ่มอีกที่ตกอยู่ในสถานการณ์คล้าย ๆ กัน และเทขายสินทรัพย์ในพอร์ตออกมาเพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้น ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินมากยิ่งขึ้น เราแนะนำให้นักลงทุนติดตาม LIBOR 3 month หรือ SOFR over O/N spread ซึ่งจะเป็นสัญญาณเตือนของวิกฤติสภาพคล่อง ซึ่งนับว่ายังดีที่จนถึงขณะนี้ spread ดังกล่าวยังค่อนข้างทรงตัว

 

กลุ่มธนาคารต้องการปัจจัยที่จะทำให้ดีดตัวขึ้นกลับมาได้

เรายังคงให้น้ำหนักกลุ่มธนาคารที่ overweight โดยเลือก SCB เป็นหุ้นเด่นในกลุ่ม อย่างไรก็ตาม เราคาดว่ากลุ่มธนาคารจะเผชิญภาวะตลาดที่เป็นลบในระยะสั้นจาก 1) ผลประกอบการที่น่าผิดหวังใน 4Q22 ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับประเด็นคุณภาพสินทรัพย์, 2) ผู้บริหารมองแนวโน้ม NIM แบบระมัดระวัง ดับฝันตลาดไม่กล้าคาดหวังทางด้านบวกมากนัก, 3) ความกลัว contagion risk หลังจากที่ SVB ล้ม  ถึงแม้ว่าราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารที่ลดลงมาอย่างมากในปีนี้จนทำให้ราคาหุ้นมี upside มาก แต่กลุ่มธนาคารจะกลับมาน่าสนใจก็ต่อเมื่อธนาคารต่าง ๆ สามารถแยกตัวเองออกจากความกังวลของตลาดในระยะสั้นและต้องแสดงให้เห็นว่าสินเชื่อยังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง และ NIM ดีขึ้นได้ตามคาด ซึ่งเราเชื่อว่าผลประกอบการ 1Q23 ซึ่งจะประกาศในช่วงวันที่ 17-21 เมษายนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินทิศทางในปีนี้

- Advertisement -