สำนักงาน ก.ล.ต. อนุมัติแบบคำขอของ BLC เตรียมขายหุ้นไอพีโอ 150 ล้านหุ้น เข้าจดทะเบียนใน SET ชูผู้นำธุรกิจผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพครบวงจร ด้วยมาตรฐานการผลิตระดับสากล

‘บมจ. บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค หรือ BLC’ ผู้นำธุรกิจผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพอย่างครบวงจรของประเทศไทย เดินหน้าเสนอขาย IPO จำนวนไม่เกิน 150 ล้านหุ้น เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัย์แห่งประเทศไทย หลังสำนักงาน ก.ล.ต. อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ชูจุดเด่นการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน ด้วยผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพครอบคลุมทุกความต้องการของผู้บริโภค รุกพัฒนางานวิจัยและมาตรฐานการผลิตระดับสากล ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาคุณภาพดี

ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ หรือ BLC) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพอย่างครบวงจร ครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ ด้วยความตั้งใจให้คนไทยเข้าถึงยาและการรักษาได้ดียิ่งขึ้น ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย พร้อมมุ่งสร้างนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อยกระดับสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ลดภาระการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยาของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ BLC ได้ให้ความสำคัญกับงานวิจัยซึ่งเป็นรากฐานสำคัญต่ออุตสาหกรรมยา จึงจัดตั้งศูนย์วิจัย BLC เพื่อพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ รวมถึงรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากหน่วยงานวิจัยต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาและผลิตยาสามัญใหม่ (New Generic Drugs) ควบคู่กับการวิจัยและพัฒนาสารสกัดจากสมุนไพร ด้วยกระบวนการผลิตภายใต้มาตรฐานระดับสากล เช่น GMP, ISO9001, ISO/IEC17025, ISO22000, GHP และ HACCP

BLC เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้าด้านสุขภาพ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่

1) กลุ่มผลิตภัณฑ์ยา (Pharmaceuticals) ผลิตและจัดจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าบริษัทฯ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญและยาสามัญใหม่ (Generic Drugs and New Generic Drugs) ผลิตตามสูตรยาต้นตำรับ (Original Drug) หรือยาจดสิทธิบัตร (Patented Drug) ที่หมดอายุการคุ้มครองแล้ว เช่น กลุ่มยารักษากระดูกและข้อ ผิวหนัง ทางเดินอาหาร และทางเดินหายใจ เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร (Herbal Medicines) ผลิตจากวัตถุดิบที่หาได้จากภายในประเทศ เช่น พริก ไพล กระชายดำ ว่านหางจระเข้ เป็นต้น สำหรับผู้บริโภคที่ใช้ในการรักษาโดยการแพทย์ทางเลือก ผลิตภัณฑ์ยาสำหรับสัตว์ (Animal Medicines) เน้นผลิตเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อรักษาโรคติดเชื้อที่จะเกิดขึ้นในฟาร์มปศุสัตว์

2) กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ (Other health-related products) ประกอบด้วย เครื่องสำอาง (Cosmetics) ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องสำอางสำหรับบำรุงผิวหน้าและผิวกาย ภายใต้เครื่องหมายการค้าบริษัทฯ และรับจ้างผลิตให้กับบริษัทหรือเจ้าของธุรกิจที่ต้องการทำสินค้าของตนเองในลักษณะ OEM ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Food Supplement) ผลิตและจัดจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทฯ โดยเน้นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการบำรุงข้อต่อ กล้ามเนื้อ กระดูก และบำรุงสายตา ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้แก่ เจลหล่อลื่น สเปรย์ฉีดกันยุง ผ่านช่องทางจำหน่ายทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน ร้านขายยาชั้นนำ โมเดิร์นเทรด และช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายโดยการส่งออกผ่านตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศอีกด้วย

“เราเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพอย่างครบวงจร มีผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพที่ครอบคลุมทั้งยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร ยาสำหรับสัตว์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพอื่นๆ โดยบริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาสนใจการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้นหลังจากการระบาดรุนแรงของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งเมกะเทรนด์ด้านสุขภาพทั้ง Health & Wellness และ Aging Society BLC จึงเตรียมความพร้อมผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานการดำเนินธุรกิจ และการวิจัย พัฒนาเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้อย่างครอบคลุม และสร้างการเติบโตให้บริษัทฯ ได้ในระยะยาว” ภก.สุวิทย์ กล่าว

นางสาวสุวิมล ศรีโสภาจิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า หลังจาก BLC ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต. ได้อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) แล้ว ทั้งนี้ บริษัทฯ จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 150 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ แบ่งเป็น

1) เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 120 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 20% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้

2) ผู้ถือหุ้นเดิมคือ Viva Sonata Pte., Ltd. เสนอขายหุ้นสามัญเดิมจำนวน 30 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 5% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ลงทุนโครงการในอนาคต ได้แก่ ก่อสร้างโรงงานผลิตยาอาคารใหม่บริเวณที่ดินเดิมที่โรงงาน จ.ราชบุรี ซึ่งจะเน้นการผลิตยาแผนปัจจุบันประเภทยาสามัญใหม่ที่จะเริ่มพัฒนาในปี 2566 เป็นต้นไปซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตประมาณ 193% จากกำลังการผลิตในปี 2565 และการวิจัย พัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญใหม่ 14 รายการ จ่ายคืนหนี้สินเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับที่ปรึกษาทางการเงิน และ/หรือผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์ รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกิจการ

- Advertisement -