บล.บัวหลวง: 

Utilities – งบการเงิน กฟผ. บอกอะไรเรา (OVERWEIGHT)

เมื่อพิจารณางบการเงินของ กฟผ. เราคาดอัตราค่าไฟฟ้าน่าจะปรับตัวขึ้น และทรงตัวในระดับสูงไปอีกหลายเดือน  ผลผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณที่มากขึ้นจะส่งผลให้ราคาก๊าซปรับตัวลงในปี 2566 ดังนั้นผลประกอบการของโรงไฟฟ้า SPP น่าจะผ่านจุดต่ำสุดได้ในไตรมาส 2/65 หรือ 3/65 และจะเริ่มฟื้นตัวหลังจากนั้น ดังนั้นเราจึงปรับคําแนะนําของเราจาก ให้น้ำหนักการลงทุนเท่ากับตลาดเป็น ให้นํ้าหนักการลงทุนมากกว่าตลาด และปรับคำแนะนำของ BGRIM และ GPSC ขึ้นจาก “ถือ” เป็น “ซื้อ”

ราคาก๊าซ-ผลผลิตจากโครงการเอราวัณมีบทบาทมากกว่าราคานํ้ามันดิบ

ราคาก๊าซปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 449 บาท/ล้าน btu ในเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 126% YoY และ 7% MoM เนื่องจากราคา LNG ที่สูง และผลผลิตก๊าซจากโครงการเอราวัณที่ลดลง ทั้งนี้ตลาดกำลังกังวลกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น (ซึ่งใช้ในการคํานวณราคาก๊าซที่จัดหาโดยแหล่งในอ่าวไทยและพม่า) จะส่งผลให้ราคาก๊าซพุ่งขึ้นสูงในไตรมาส 4/65 อย่างไรก็ตาม ต่อให้ราคาก๊าซจากอ่าวไทยพุ่งแตะ 250-300 บาท/ล้าน btu ในไตรมาส 4/65 (จาก 198 บาท/ล้าน btu ในเดือน เม.ย.) ก็ยังถือว่ามีราคาต่ำกว่าต้นทุนการนําเข้า LNG อย่างมาก (คาดอยู่ที่ 800-1,000 บาท/ล้าน btu) ดังนั้นหาก PTTEP สามารถเพิ่มผลผลิตก๊าซจากโครงการเอราวัณเพิ่มขึ้นได้ วอลุ่มการนําเข้า LNG จะลดลงและราคาก๊าซจะปรับตัวลง

กฟผ. รายงานกําไร แต่มีกําไรจริงหรือไม่?

กฟฝ. รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1/65 ที่ 1.48 หมื่นล้านบาท (ปรับตัวขึ้น 131% YoY และ 44% QoQ) แต่เรามองว่ารายการส่วนใหญ่มาจากรายการที่ไม่ใช่เงินสด โดย กฟผ. จะบันทึกรายได้ทางบัญชีที่สูงขึ้นตามต้นทุนก๊าซ ที่สูงขึ้น (แม้อัตราค่าไฟที่แท้จริงปรับตัวขึ้นช้ากว่าอย่างมาก) และบันทึกส่วนต่างระหว่างรายได้ที่ได้รับจริงกับรายได้ทางบัญชีเป็น “รายได้ค่าไฟฟ้า ตามสูตรปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ค้างรับ (หรือ ค้างจ่าย)” (เป็นตัวเลขทางบัญชีที่บ่งบอกถึงภาระการขาดทุนสะสมอันเกิดจากการขายไฟฟ้าในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน) ซึ่งเมื่อตัดรายการที่ไม่ใช่เงินสดดังกล่าวและรายการพิเศษจากตราสารอนุพันธ์และอัตราแลกเปลี่ยนออก เราประเมินตัวเลขในไตรมาส 1/65 เป็นขาดทุนหลักที่ 3.12 หมื่นล้านบาท

กฟผ.จะแบกภาระขาดทุนต่อไปได้อีกนานแค่ไหน?

กฟผ. รายงานกระแสเงินสดจากการดาเนินงานที่ติดลบอยู่ราว 7.2 พันล้านบาทในไตรมาส 1/65 (เป็นการติดลบเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี) และเงินสดลดลงสุทธิ 1.7 หมี่นล้านบาท เราคาดว่า กฟผ. จะยังคงรายงานเงินสดที่ ติดลบต่อในไตรมาส 2/65 – กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ติดลบ (ราคาก๊าซที่ปรับตัวขึ้นเร็วกว่าค่าไฟ QoQ ในไตรมาส 2/65) และกระแสเงินสดจากการลงทุนที่ติดลบ (การซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ RATCH) ดังนั้นเงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสดที่ 5.2 หมื่นล้านบาท (ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2565) อาจจะลดลงเหลือเพียง 3.1 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือน มิ.ย. และ 2.3 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2565 ทั้งนี้หากอัตราค่าไฟยังคงปรับตัวขึ้นช้าอย่างต่อเนื่อง กฟผ. อาจจะเผชิญกับปัญหาขาดสภาพคล่องได้ในช่วงต้นปี 2566

ตีความสู่แนวโน้มอัตราค่าไฟฟ้า

บนสมมุติฐานที่ กฟผ. อาจจะเผชิญกับปัญหาขาดสภาพคล่อง เราคาด กกพ. จะปรับขึ้นอัตราค่าไฟในช่วง เดือน ก.ย.-ธ.ค. (และอาจจะปรับขึ้นต่อในช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. 2566) บนสมมุติฐานกรณีที่แย่ที่สุด หาก กกพ.ไม่สามารถปรับขึ้นอัตราค่าไฟได้ เราคาดราคาไฟฟ้าจะยังคงสูงต่อเนื่องไปในปี 2566 แม้ว่าราคาก๊าซจะปรับตัวลง (จากผลผลิตของโครงการเอราวัณที่เพิ่มขึ้น) ทั้งนี้ กฟผ. รายงานรายได้ค่าไฟฟ้าตามสูตรปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ค้างรับที่ 6.56 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2565 เราคาดว่าราคาไฟฟ้าจะยังคงสูงต่อเนื่องจนกว่า กฟผ.จะได้รับรายได้ค้างร้บดังกล่าวจนครบ

- Advertisement -